หมายเหตุ : นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดใจถึงการทำงานในตำแหน่งเลขาฯคนใหม่ และความคืบหน้าของคดีสำคัญ โดยเฉพาะคดีนาฬิกาหรูที่อยู่ในควมสนใจของสังคม รวมถึงการกอบกู้ศรัทธาจากประชาชนที่มีต่อป.ป.ช.

ในฐานะที่รับตำแหน่งเลขาธิการ เรื่องแรกที่มองคือปัญหาการทำงาน ซึ่งมีคดีที่คั่งค้างจำนวนมาก ตัวเลขล่าสุดเมื่อ 31 ม.ค. 2561 มีเรื่องค้างอยู่ 16,457 เรื่อง ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก แม้ปีนี้ป.ป.ช.ตั้งเป้าจะทำให้ได้ 5,900 เรื่อง แต่ถ้าเทียบกับปริมาณเรื่องที่เข้ามาเดือนละ 400 เรื่อง ปีละ 4,800 เรื่อง หมายความว่าเรื่องที่เข้ามาก็จะพอกหางหมูไปเรื่อยๆ

จึงต้องเข้ามาบริหารจัดการคดี แยกเป็นเรื่องสำคัญควรหยิบยกขึ้นมาดำเนินการก่อน เช่น เรื่องใกล้ขาดอายุความ เรื่องที่สังคมสนใจ เรื่องที่ก่อให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก และเรื่องกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ดังนั้น การทำงานจะเรียงตามลำดับเรื่องที่ได้รับมอบหมายไม่ได้ ต้องเรียงตามลำดับความสำคัญ เรื่องไหนควรทำก่อนทำหลัง

ประกอบกับปีนี้ มีการปรับปรุงพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. ซึ่งกำหนดระยะเวลาการทำงานว่า เรื่องหนึ่งต้องทำให้เสร็จใน 2 ปี ขยายเวลาได้ 1 ปี เบ็ดเสร็จแล้วต้องเสร็จใน 3 ปี

นอกจากนี้คณะกรรมการป.ป.ช. ได้เพิ่มวันประชุมจากเดิมสัปดาห์ละ 2 วัน เป็นสัปดาห์ละ 3 วัน ซึ่งทำมาได้เดือนกว่าแล้ว เพื่อพิจารณาเรื่องที่ค้างอยู่คอขวดนี้ ซึ่งขณะนี้มีอยู่ แปดร้อยกว่าคดี จากเดิมพันกว่าคดี และตั้งเป้าว่าในเดือนมี.ค.นี้ จะต้องทำให้หมด

ส่วนการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนั้น จะเห็นได้จาก 2 ปีที่ผ่านมา ป.ป.ช.สามารถอายัดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดินได้นับพันล้านบาท เมื่อป.ป.ช.พัฒนาการทำงานขึ้นไปเรื่อย มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น คนโกงก็หนาว

กดดันในการทำงานหรือไม่ ในสถานการณ์การเมืองไม่ปกติ

ไม่กดดัน เพราะการทำงานของป.ป.ช.มีกฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ที่ค่อนข้างมั่นคง แต่ต้องย้อนดูว่าตรงไหนที่เป็นปัญหา อุปสรรค ทำให้งานค้าง เราก็ต้องตัดต้องซอยออก

ในการทำงาน ผมยึดหลักสุจริต เป็นกลาง เป็นธรรม ที่สำคัญต้องหนักแน่น ไม่หวั่นไหว เพราะการทำงานของ ป.ป.ช.ยึดหลักกฎหมาย ข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน เราจะไม่เอาความรู้สึกของใครก็ตามมาพิจารณาคดี ดังนั้นในสำนวน ใครก็มาตรวจสอบได้ในภายหลัง เช่น เมื่อส่ง ต่อให้อัยการหรือหน่วยงานต้นสังกัดผู้ถูกร้อง หากป.ป.ช. ตัดสินโดยไม่เที่ยงธรรม มีอคติหรือดำเนินการโดยมิชอบ ป.ป.ช.เองก็ต้องถูกดำเนินการโดยโทษมีมากกว่าสองเท่า

อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช.ทำงานองค์กรเดียวไม่ได้ หลายหน่วยงานต้องร่วมมือ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ทุกส่วนมามีส่วนป้องกันและปราบปรามทุจริต ให้ความรู้ประชาชนเห็นพิษภัยของการทุจริต เพื่อให้เป็นแนวร่วมปราบทุจริต ให้ข้อมูลเบาะแสแก่ป.ป.ช. โดยป.ป.ช.มีระบบคุ้มครองพยาน และกฎหมายใหม่ก็ระบุว่าข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวหาไม่ให้เปิดเผย ถือเป็นข้อมูลลับ

จะแก้ปัญหาบุคลากรป.ป.ช.ลาออกหรือย้ายสายงานจำนวนมาก จนถูกวิจารณ์ว่าเลือดไหลไม่หยุดอย่างไร

สิ่งแรกคือ ให้กำลังใจพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าไม่ต้องเป็นห่วง หากเราทำงานไม่เสร็จใน 3 ปีแล้วจะถูกดำเนินการทางวินัยตามที่กฎหมายกำหนด เพราะเราต้องดูว่าเจ้าหน้าที่ใช้ความรู้ ความสามารถ ความตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่แล้ว แต่มีอุปสรรคใหญ่ พยานหลักฐานมาก ดูแล้วไม่ใช่ปล่อยปละละเลย มีเหตุผลชี้แจงได้ คณะกรรมการจะพิจารณาขยายเวลาดำเนินการเพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความ จึงไม่ต้องห่วงกังวล และไม่ใช่ว่าเราห้ามเลือดไม่ได้เลย ตอนนี้ซาไปหน่อยแล้ว

ป.ป.ช.ถูกโจมตีมากถึงการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องคนในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ต้องถามมาให้ชัดว่าคดีไหน อาทิ เรื่องอุทยานราชภักดิ์ เสร็จแล้วแถลงข่าวไปแล้ว หุ้นรัฐมนตรีก็เสร็จและรายงานข้อเท็จจริงไปยังต้นสังกัดของรัฐมนตรีคือนายกฯแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่ทุจริตประพฤติมิชอบ เป็นเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรี โดยบอกข้อเท็จจริงไปว่าเรื่องไหนใช่-ไม่ใช่ตามที่คนร้องมา และมีข้อยกเว้นอย่างไร

ส่วนเรื่องหุ้นสัมปทานของนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ที่มีเข้ามาอีกนั้น กำลังตรวจสอบ หากเสร็จก็จะรายงานไป คาดว่าอีกไม่นาน

ประธานป.ป.ช.ให้แนวทางอย่างไรในคดีนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม

ประธานไม่ได้ให้แนวทางใดๆ อีกทั้งยังถอนตัวจากการพิจารณาเรื่องนี้ด้วย ส่วนความคืบหน้าคดี ตอนนี้รอพล.อ.ประวิตร ชี้แจงข้อเท็จจริงเข้ามา ขณะเดียวกันรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมในประเด็นที่ต้องเพิ่มเติม

เรื่องนี้เริ่มต้นที่นาฬิกา 1 เรือน และตอนที่ผมแถลงข่าวครั้งแรกก็ 9 เรือน ตอนนี้ 25 เรือน ทำให้พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องต้องมากกว่า 9 เรือน จึงต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพื่อให้ได้รายละเอียดของแต่ละเรือนให้ครบทั้งหมด

ส่วนการส่งหนังสือถึงรองนายกฯ ให้ชี้แจงมานั้น ไม่มีข้อจำกัดว่าเราทำได้กี่ครั้ง หนังสือที่ส่งไปฉบับที่ 3 นั้นให้รองนายกฯชี้แจงไม่ถึง 25 เรือน แต่พอฉบับที่ 4 ให้ชี้แจงครบ 25 เรือน ซึ่งครบกำหนดชี้แจงกลางเดือนมี.ค.นี้ หากยังมีข้อสงสัยอีก ก็จะเชิญพล.อ.ประวิตรมาชี้แจงเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนเสนอคณะกรรมการป.ป.ช. ต่อไป

หลังจากเชิญบุคคลที่สาม ที่รองนายกฯอ้างอิงมาให้ถ้อยคำแล้ว จะเชิญเพิ่มอีกหรือไม่

สำนักที่ตรวจสอบเรื่องนี้ให้ผมเซ็นหนังสือเชิญพยานบุคคล 2-3 คน ซึ่งเป็นเอกชนมาให้ถ้อยคำในสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้าแล้ว เชื่อว่าไม่นานจะสรุปเรื่องเสนอให้คณะกรรมการป.ป.ช.ได้

คดีนาฬิกาหรู หากผลออกมาขัดความรู้สึกของประชาชนจะทำอย่างไร

ไม่อยากให้คาดเดาเพราะเราตัดสินตามข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน กฎหมาย ประกอบเหตุผลในการวินิจฉัย ดังนั้น อย่าคาดเดาว่าจะเป็นไปในทางใด เพราะจะกลายเป็นการชี้นำ ถ้าเป็นระบบศาลจะกลายเป็นการก้าวล่วง

แต่สังคมคาดหวังป.ป.ช.มาก

คงต้องบอกให้สังคมรอการทำงานของป.ป.ช.ให้กระบวนการเสร็จสิ้นก่อน ตอนนี้อย่าเพิ่งคิดไปเอง ขอให้รอ ไม่นานเพราะเรื่องนี้กรรมการป.ป.ช.ให้ความสนใจอยู่ในลำดับความสำคัญอยู่แล้ว

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. ถูกมองว่าสนิทกับพล.อ.ประวิตร

สังคมไทยเป็นสังคมเครือญาติ เรียกพี่ เรียกน้า ในการทำงานจะบอกไม่ได้ว่าไม่ให้ใครรู้จักใครคงไม่ได้ จึงไม่อยากให้มองประเด็นการรู้จัก แต่อยากให้มองที่บริบทของการทำงานว่าเมื่อพล.ต.อ.วัชรพล ทำอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ ทำโดยชอบหรือไม่ ผลงานเป็นอย่างไรมากกว่า เพราะในกฎหมายป.ป.ช.ระบุว่า ในการไต่สวน หากกรรมการ เจ้าหน้าที่ เกี่ยวข้องเป็นญาติ มีส่วนได้เสียในเรื่องใดก็ต้องไม่เข้าไปพิจารณาในเรื่องนั้น ซึ่งประธานก็ทำตามกฎหมายนี้อยู่แล้ว

อีกทั้งคณะกรรมการป.ป.ช.ทำงานในรูปองค์คณะในการพิจารณาคดี แต่ละคนมีเอกสิทธิ์ มีดุลพินิจในการวินิจฉัย ยืนยันว่าไม่มีใครสามารถไปครอบงำการใช้ดุลพินิจของทั้ง 9 ได้ ซึ่งจะเห็นว่าบางเรื่องมีมติเอกฉันท์ บางเรื่อง 8:1 บางเรื่อง 7:2 บางเรื่อง 5:4 ซึ่งถือเป็นการทำงานที่มีมาตรฐานแบบองค์คณะ และกรรมการแต่ละคนจะมีเหตุผลรองรับ คำวินิจฉัยว่าทำไมจึงตัดสินใจเช่นนั้น

คดีนาฬิกาหรู ถือเป็นเรื่องกดดันหรือเป็นเดิมพันเก้าอี้เลขาฯป.ป.ช.หรือไม่

ผมทำงานถือความสุจริตเป็นอันดับแรก ความเป็นกลาง ความเป็นธรรม และงานในตำแหน่งเลขาฯป.ป.ช.ไม่ใช่ไปตัดสิน แต่คนพิจารณาคือคณะกรรมการป.ป.ช. จึงไม่หนักใจใดๆ ขอให้ประชาชนมั่นใจ และเชื่อใจผม

ป.ป.ช.ถูกมองว่าทำงานอิงรัฐบาล

การทำงานโดยยึดบริบทกฎหมาย ไม่ได้อิงฝ่ายใด ถ้ามีเรื่องกล่าวหาร้องเรียนเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นใคร ป.ป.ช.ก็มีหน้าที่ตรวจสอบ

ดังนั้น สิ่งที่จะพิสูจน์การทำงานของป.ป.ช.ก็คือผลงานของเราเอง จะเป็นตัวแสดงให้เห็นว่าเราทำงานด้วยความเที่ยงธรรม หรืออิงฝ่ายใด สองมาตรฐานอย่างที่ถูกวิจารณ์หรือไม่

ทั้งนี้ หากมองอย่างตรงไปตรงมาจะเห็นว่า รัฐบาลที่อยู่ในอำนาจรัฐ ย่อมถูกร้องเรียน ถูกตรวจสอบมากกว่า จำนวนเรื่องที่ถูกร้องก็ต้องมีมากกว่าฝ่ายที่มีอำนาจน้อยกว่า การที่กล่าวหาว่าเรื่องของพรรคเพื่อไทย ทำไมเสร็จมากกว่าเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์ ต้องเข้าใจว่าในเชิงปริมาณต้องต่างกันอยู่แล้ว ขณะเดียวกันต้องมองในเชิงคุณภาพด้วยว่า เมื่อส่งเรื่องไปให้อัยการ ศาลนั้น ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดไปนั้นมีคุณภาพหรือไม่

ล่าสุดถูกวิจารณ์ว่าคดีเกี่ยวกับทหารไม่คืบหน้า

ต้องบอกว่าคดีไหน แล้วผมจะติดตามให้ว่าคดีนั้นขั้นตอนถึงไหน แต่เมื่อกฎหมายระบุให้ทุกคดีต้องเสร็จใน 2-3 ปี จะทำให้การทำงานของป.ป.ช.ชัดเจนขึ้น และไม่ว่าจะกล่าวหาใคร ป.ป.ช.ก็จะทำงานตามขั้นตอนปกติ

ขอย้ำว่าป.ป.ช.ตัดสินตามข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน กฎหมาย ไม่ได้ตัดสินตามความรู้สึก ดังนั้น ข้อเท็จจริงเรื่องหนึ่งที่ชาวบ้านเข้าใจ แต่เมื่อไปดูหลักฐาน มันไม่ใช่อย่างนั้น

เร็วๆ นี้มีคดีอะไรเซอร์ไพรส์สังคมหรือไม่

หลายเรื่องเราอยากให้เสร็จในปีนี้ อาทิ การก่อสร้าง โรงพักทดแทน แฟลตตำรวจ ที่ดินปลูกปาล์มอินโดฯ

จะเรียกศรัทธาคืนให้กับป.ป.ช.อย่างไร

ตอนนี้เรามีป.ป.ช.จังหวัด ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชนอย่างดี ผมยังเชื่อมั่นว่าประชาชนยังเชื่อมั่น ศรัทธาป.ป.ช. และเมื่อมานั่งตรงนี้แล้ว ผมต้องการให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นองค์กรป.ป.ช.มากยิ่งขึ้น เชื่อป.ป.ช. ไว้ใจป.ป.ช. และใช้ป.ป.ช.ทำงานเพื่อให้บ้านเมืองเรา ใสสะอาด เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายทั้งในและต่างประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน