ทำไมพรรคประชาธิปัตย์และโดยเฉพาะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงต้องเล่นบทต่อสู้กับ “ระบอบทักษิณ”

ทั้งๆที่ห่างหายไปอย่างค่อนข้างยาวนาน

อย่างน้อยก็ในช่วงที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์”รัฐธรรมนูญ”หรือ”กฎหมายลูก”

ก็วางเป้าหมายไปยัง “คสช.” เป็นหลัก

แต่อยู่ๆพรรคประชาธิปัตย์และโดยเฉพาะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็กลายเป็นแผ่นเสียงตกร่องอีกครั้ง

เมื่อวนเวียนอยู่แต่กับ “ระบอบทักษิณ”

ท่าทีนี้ย่อมเป็นท่าทีใหม่(แม้ว่าจะเป็นเรื่องเก่า)ในบรรยากาศ แห่งการเดินหน้าไปตาม”โรดแม็ป”

เลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

หากเป็นไปตามหลักการ 1 ยืนยันหัวหน้าพรรคคือนายกรัฐมนตรี 1 ยืนยันในการเปิดโปงโจมตีระบอบทักษิณ

นั่นเท่ากับเปิด 2 แนวรบขึ้นพร้อมกัน

แนวรบ 1 ต้องปะทะกับเจตจำนงและความต้องการอันแน่วแน่ของคสช.

เพราะธงที่คสช.ชู คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขณะเดียวกัน แนวรบ 1 ต้องปะทะกับสภาพความเป็นจริงของพรรคเพื่อไทยอย่างมิอาจปฏิเสธได้

เพราะพรรคเพื่อไทยคืออวตารแห่ง ไทยรักไทย พลังประชาชน ย่อมมีสายสัมพันธ์ต่อเนื่องมาจากความสำเร็จในยุคของทักษิณอย่างเด่นชัด

“ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ”

ยิ่งกว่านั้น นับแต่เลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 กระทั่งเดือนกรกฎาคม 2554 เป็นเวลา 10 ปีที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้มาตลอด

นี่ย่อมเป็นศึกหนักอย่างยิ่งสำหรับพรรคประชาธิปัตย์

นับจากวินาทีนี้เป็นต้นไปจึงเป็นวินาทีแห่งการสัประยุทธ์อันจะทวี ความรุนแรงและแหลมคมเป็นลำดับ

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ สำหรับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เพราะทางด้านคสช.พรรคประชาธิปัตย์ต้องเผชิญกับพรรคมวลมหาประชาชน

ขณะที่จะปล่อยมือจาก”พรรคเพื่อไทย”ก็ไม่ได้

ทำไมพรรคประชาธิปัตย์จำเป็นต้องเปิด 2 แนวรบพร้อมกัน

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน