เป็นประเด็นร้อนอีกสำหรับข้อถกเถียงว่ากรอบเวลา 150 วัน ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 268 กำหนดให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หลังการบังคับใช้กฎหมายลูก 4 ฉบับนั้นครอบคลุม ช่วงเวลาใด

เพราะฝ่ายรัฐบาลยืนยันว่า 150 วันนี้ เป็นแค่เวลาจัดเลือกตั้ง แต่อีกฝ่ายมองว่า 150 วัน หมายรวมถึงการรับรองผลการเลือกตั้ง

มีความเห็นจากนักวิชาการ อดีตผู้พิพากษา และอดีตกกต.

1.ยุทธพร อิสรชัย

รองอธิการบดี ม.สุโขทัยฯ

ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวทางและความคิดเห็นของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ที่ระบุ ว่าให้กำหนดวันเลือกตั้งภายใน 150 วันโดยไม่รวมกับการประกาศรับรอง ผลการเลือกตั้ง

ส่วนกรณีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต. ตีความว่า การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นภายใน 90 วัน เพื่อให้มีเวลาประกาศผลรวมทั้งให้ใบเหลือง ใบแดงภายใน 60 วันรวมเป็น 150 วันนั้น นายสมชัยจะตีความในลักษณะดังกล่าวก็ได้ โดยเป็นการตีความการเลือกตั้งที่สมบูรณ์ คือเมื่อรัฐบาลประกาศกฤษฎีกาการเลือกตั้ง กำหนดวันเลือกตั้ง กระทั่งจัดเลือกตั้งแล้วเสร็จรวมไปถึงประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง และพร้อมเปิดสภาทันที

เมื่อพิจารณากฎหมายจะเห็นว่ามีการเขียนกฎหมายโดยใช้คำกว้างๆ จึงทำให้เกิดการตีความที่หลากหลาย ดังนั้นจึงต้องไปดูที่เจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ หรือในรายงานการประชุมของ กรธ.จึงจะทำให้เห็นภาพชัดขึ้น ซึ่งจะไปสอดคล้องกับการแนวทางของนายมีชัย คือการกำหนดวันเลือกตั้งให้ได้ภายใน 150 วันมากกว่า

ส่วนที่ กกต.จะต้องพิจารณาให้ใบดำ-ใบแดง ก็เป็นเรื่อง ที่ต้องใช้ระยะเวลาออกไปอีก จึงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้การเลือกตั้งต้องสมบูรณ์ในคราวเดียว

อย่างไรก็ตาม ส่วนที่มีข้อเสนอให้นำเรื่องดังกล่าวส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยนั้น คงไม่ต้องถึงขั้นที่ต้องมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความในเรื่องดังกล่าว เพราะขณะนี้ ที่สมาชิกสนช.ไปยื่น พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และล่าสุด สนช.เตรียมส่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพิ่มอีก แค่นี้ ก็มากพอแล้ว

ส่วนข้อกังวลหากฝ่ายที่แพ้เลือกตั้งนำเงื่อนเวลา 150 วัน ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่ากกต.จัดการเลือกตั้งขัดกับรัฐธรรมนูญ ทำให้การเลือกตั้งโมฆะตามที่นายสมชัยคาดการณ์ไว้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะร้องในประเด็นนี้

ที่สำคัญการส่งเรื่องตีความรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องใหญ่ อาจพัวพันสร้างปัญหาไปทั้งระบบ ดังนั้นเราอย่าเพิ่งไปตีความกฎหมายเกินเลย

2.สดศรี สัตยธรรม

อดีต กกต.

การเลือกตั้งจะรวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งครั้งแรกตั้งแต่รับสมัครจนถึงกกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง โดยให้ได้ผู้สมัครที่ผ่านครั้งแรก 95 เปอร์เซ็นต์ เพื่อจะได้ประชุมสภา ครั้งแรก

กกต.จะเป็นผู้พิจารณาประกาศผลและจะให้ใบเหลือง-ใบแดง ในช่วงระยะเวลานี้ ดังนั้น 150 วันเริ่มตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าให้มีการเลือกตั้งวันไหน จากนั้น จึงนับไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่กกต.ประกาศผลว่าใครที่ผ่านการเป็นส.ส.บ้าง

ผู้ที่จะได้ประกาศให้เป็นส.ส.นั้นเพื่อจัดประชุมสภานัดแรก ซึ่งระยะเวลาจะรวมใน 150 วันนี้ด้วย กกต.สามารถ จะให้ใบเหลือง-ใบแดงได้ในช่วงแรกคือช่วงก่อนประกาศผล และคำวินิจฉัยของกกต.ก็ถือว่าเป็นที่สุดไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ ดังนั้น 150 วันจึงรวมไปหมด

ส่วนผู้ที่กกต.ไม่สามารถสอบสวน ได้ทันภายในระยะเวลา 1 เดือนนับจากวันเลือกตั้ง ก็จะไปว่ากันหลังจากประกาศผลไปก่อนแล้วค่อยพิจารณา ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี กรณีเช่นนี้ จะไม่ใช่กรอบเวลา 150 วัน แต่กรณี ที่ไม่มีใครคัดค้านผลการเลือกตั้งเลยต้องประกาศผลภายใน 7 วัน

ข้อสังเกต 150 ไม่รวมถึงการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่การยืดเวลาอะไรเลย และในกรอบเวลา 150 วันนั้นถือเป็นเวลาที่มากพอแล้ว

สำหรับการจะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้นต้องเป็นเรื่องที่กกต. มีความขัดแย้งกับกฎหมายลูกแล้ว ที่ผ่านมาก็เคยมีปัญหาว่ากกต.จะเลื่อนการเลือกตั้งได้หรือไม่ก็มีการส่งเรื่องไปยังสำนักงาน ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความต่อไป

การให้ใบเหลือง-ใบแดงคือหมายถึงการให้ใบเหลือง-ใบแดงของกกต.และจบที่กกต.จะรวม 150 วัน แต่ถ้าไปจบ ที่ศาล คือกกต.ประกาศผลแล้วยังมีการร้องเรียนเกิดขึ้นอีก กฎหมายให้ใช้เวลา ในการสอบสวน 1 ปี นั่นจะไม่รวม 150 วัน 150 วันที่ว่านี้เป็นเรื่องที่กกต.ให้ใบเหลือง-ใบแดงก่อนประกาศผล

เรื่องดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่กกต.เป็นเจ้าภาพใหญ่ ถ้ากกต.มีความเห็นคล้อยตามกรธ. หรือสนช. ก็ไม่มีอะไรที่จะไปโต้แย้งหรือส่งศาลรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายรัฐบาลก็ระบุว่า 150 วันนั้นรวมไปถึงขั้นตอนขนาดไหน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก็ยังไม่ได้แยกถึงใบเหลือง-ใบแดง หลังจากประกาศผล คำว่าใบเหลือง-ใบแดงต้องก่อนประกาศผลของกกต.จึงจะรวม 150 วัน

3.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

อดีตป.ป.ช. และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา

กรอบเลือกตั้ง 150 วันที่นับตั้งแต่กฎหมายลูก 4 ฉบับบังคับใช้นั้นรัฐธรรมนูญมาตรา 268 บอกให้ดำเนินการ เลือกตั้งส.ส.ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันนับแต่กฎหมายลูก 4 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง มีผลใช้บังคับแล้ว มีข้อ ที่ต้องพิจารณาดำเนินการเลือกตั้ง 150 วันหมายถึง ว่าลงคะแนนเสร็จแล้ว หรือว่าลงคะแนนแล้วตรวจนับคะแนนจนประกาศผล

ทำไมคนร่างรัฐธรรมนูญถึงทำให้มีปัญหา ถ้าเขียนไม่ให้มีปัญหาก็ไม่ต้องมาเถียงกันว่าจะหมายถึงอย่างไร จะหมายลงคะแนนเสร็จหรือหมายถึงจนประกาศผล

แต่เมื่อดูรัฐธรรมนูญมาตรา 85 วรรค 4 ที่ระบุให้กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว มีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีส.ส. ไม่น้อยว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด กกต.ตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ โดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

ดังนั้น เมื่อมีปัญหาก็ต้องดูที่เจตนาของ ผู้ร่าง แต่ดูตามตัวอักษร 150 วันให้ดำเนินการเลือกตั้ง ลงคะแนนเสร็จแต่ยังไม่มี การประกาศผลการเลือกตั้ง ดังนั้น 150 วัน จึงไม่รวมประกาศผล แต่ไปดูมาตรา 85 แล้วบอกว่าการประกาศผลเลือกตั้งต้องไม่ช้ากว่า 60 วัน ซึ่งก็ต้องลงคะแนน ต้องเลือกตั้งก่อน และนับคะแนนแล้วจึงประกาศผลได้ ดังนั้นระยะเวลา ก็เลยไปอีกเป็น 150 วัน รวม 60 วันถึงจะเสร็จสิ้น ไม่ใช่ 150 วัน

ส่วนที่อดีตกกต. มองว่าต้องรวมการให้ ใบเหลืองและใบแดงด้วยนั้น เห็นว่าไม่รวมใน 150 วัน เพราะการประกาศผลเลือกตั้งต้องนับไปอีก 60 วัน ถ้ามีการเลือกตั้งที่ไม่สุจริต เวลา ก็ขยายออกไปอีก ในการให้ใบเหลือง-ใบแดง

และเมื่อไม่นับรวมถึงการประกาศผล จะส่งผลต่อการยืดเวลาออกไปอีก เพราะแทนที่จะอยู่ใน 150 วันก็ยืดออกไปอีก 60 วัน ที่รัฐธรรมนูญระบุว่า ต้องประกาศผลไม่ช้ากว่า 60 วัน ก็จะยืดออกไปอีก 2 เดือน

การเขียนรัฐธรรมนูญอย่างนี้มีปัญหา และทำให้ลำบาก และไม่ใช่เรื่องนี้เรื่องเดียว ยังมีอีกหมายมาตราที่ดูแล้วมีปัญหา ทางออกปม 150 วันไม่มีทางทำอะไรได้แล้ว ถ้ามีปัญหาก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ ทำอะไรไม่ได้แล้ว กฎหมายประกาศใช้แล้ว

และหากมีการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความถึงความคลุมเครือตรงนี้ก็อาจทำให้ยุ่ง กันใหญ่ อาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ ส่วนจะกระทบการเลือกตั้ง หมดหรือไม่คงไม่สามารถตอบได้ แต่เชื่อว่าทำให้พัลวันไปกันใหญ่

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

นิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

นัยยะข้อถกเถียงเรื่องกรอบเวลา 150 วัน สำหรับการเลือกตั้งคือกระบวนการเลือกตั้งต้องสิ้นสุดทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งตามหลักการการเลือกตั้งต้องรวมการประกาศผลด้วย แต่ในเมืองไทย อาจต้องมีการยื้อเวลาออกไป เนื่องจากกำหนดให้กกต.เป็นผู้รับรองทำให้เวลาต้องล่าช้า

โครงสร้างทางการเมืองไทยแปลกประหลาด ข้อสังเกตที่ว่าประเด็น 150 วันอาจทำให้เกิดการฟ้องร้องภายหลังจนส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้การเลือกตั้งเป็นโมฆะนั้น หากดูจากที่ผ่านมาก็มีความเป็นไปได้

หากอ่านความต่อเนื่องทางการเมืองที่เกิดขึ้น ในระยะที่ผ่านมา ไล่ตั้งแต่การถกเถียงเรื่องการ ยื่นร่างกฎหมายลูก การเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจนถึงการถกเถียง เรื่องกรอบ 150 วันต่อการจัดการเลือกตั้งก็จะพบว่า นี่คือเจตจำนงของผู้มีอำนาจ ในการขยายวันเลือกตั้งให้เลื่อนออกไปอย่างเป็นระบบ

เริ่มจากขั้นตอนการร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับ สุดท้ายให้คลุมเครือ ก่อให้เกิดการตีความว่าจำเป็นต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ การกำหนดให้ร่างกฎหมายเลือกตั้งส.ส. มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจานุเบกษา 90 วัน ทั้งหมดนี้ไม่ต่างจากกับดักที่ถูกวางไว้ ที่ทำให้เห็นภาพในมุมกว้างต่อความพยายามขยายวันเลือกตั้งให้เลื่อนออกไป

ในทางปฏิบัติแล้ว การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ไม่จำเป็น ต้องใช้เวลานานอะไร เพียง 1-2 สัปดาห์ก็น่าจะได้ข้อสรูปแล้ว เนื่องจากนี่คือเรื่องเร่งด่วน และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบทของกฎหมายเท่านั้น ไม่ได้ เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง

ส่วนข้อเสนอให้มีการส่งตีความเรื่องกรอบเวลา 150 วันไปพร้อมกับร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ด้วยนั้นคงไม่มีประโยชน์อะไร เพราะไม่ว่า จะสิ้นสงสัยแล้ว แต่ก็ยังมีความหวาดระแวงว่าในอนาคตเดี๋ยวจะต้องมีเงื่อนไขที่ทำให้กังวลว่าการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีก

สถานการณ์ทางการเมืองแบบนี้ไม่เป็นผลดี ต่อรัฐบาลเอง กระแสต้องการการเลือกตั้งกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากประชาชนและฝ่ายการเมือง ที่เริ่มขยับกันอย่างคึกคัก นับจากเริ่มคลายข้อกำหนดให้มีการจดจัดตั้งพรรคใหม่ และให้พรรคเก่าเริ่มดำเนินการทางธุรการตามลำดับ

เมื่อมาถึงตรงนี้ก็ยากจะปฏิเสธแล้วว่า คสช.ไม่มีส่วนต้องรับผิดชอบต่อโรดแม็ป การเลือกตั้ง ทั้งที่เกิดจากตีความเรื่อง 150 วัน หรือการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้าย เพราะบุคคล ในแม่น้ำสายต่างๆ ก็มาจากการแต่ตั้งโดย คสช.เอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน