รายงานพิเศษ

คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอให้เพิ่มค่าตอบแทนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็น 2-3 แสนบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 1 แสนบาท ให้มีผลบังคับใช้หลังจากนี้อีก 5 ปี

โดยให้เหตุผลว่าตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญที่จะมีผลบังคับจะมีการตรวจสอบ นักการเมืองอย่างเข้มข้น หากไม่เพิ่มค่าตอบแทนให้เหมาะสม นักการเมืองอาจใช้วิธีอื่นทุจริต

แม้ข้อเสนอนี้จะถูกสปท.เบรกไว้ก่อน แต่ยังมีความเห็นจากนักวิชาการและอดีตประธานวุฒิสภา ดังนี้

2

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ปัญหาพื้นฐานที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ คือ เงินเดือนที่ข้าราชการฝ่ายการเมืองกับข้าราชการส่วนอื่น โดยเฉพาะในองค์กรอิสระมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่พอสมควร จะเห็นได้ว่าข้าราชการระดับสูงในองค์กรอิสระจะได้รับเงินเดือนสูงกว่าฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ทั้งที่ความเป็นจริงหน่วยงานหลังนี้ควรได้รับเงินเดือนที่มากกว่า

แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องขึ้นเงินเดือนให้แต่ละหน่วยในจำนวนที่สูง สิ่งที่ควรพิจารณาคือดูโครงสร้างทั้งระบบว่ามีความจำเป็น ไปปรับหรือลดในส่วนใดให้เกิดความสมดุลและเหมาะสมต่อตำแหน่งอำนาจหน้าที่

เพราะหากมีการขึ้นให้บางหน่วยงานก็อาจเกิดกรณีลูกระนาด หน่วยงานอื่นๆ จะขอให้มีการปรับเพิ่มขึ้นตามมาไม่จบสิ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นภาระจะไปตกอยู่ที่งบประมาณแผ่นดินอย่างแน่นอน แทนที่จะใช้งบฯมาพัฒนาประเทศแต่กลับต้องมาจัดสรรแบ่งปันให้ตามที่แต่ละหน่วยงานราชการเรียกร้อง

ถ้าดูตามข้อเท็จจริงแล้วจะพบว่าไม่ว่าใคร ก็สามารถโกงได้ถ้าคิดจะโกง ดังนั้นการแก้ปัญหาทุจริตที่ดีที่สุดคือวางมาตรการระบบ ตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพและเข้มงวดต่อมาตรการนั้น เพราะการขึ้นเงินเดือนให้ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะไม่เกิดการทุจริต

แม้จะมีการสร้างเงื่อนไขว่าข้อเสนอ ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ 5 ปี หลังจากนี้ แต่การจะลบข้อครหาว่าทำเพื่อผลประโยชน์ให้ ตัวเองย่อมไม่ใช่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว การป้องกันการถูกกล่าวหานี้ ต้องขยายครอบ คลุมไปถึงทุกเรื่อง คือถ้าใครเขียนกฎหมายใด ต้องไม่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายนั้น ควรเขียนให้คนอื่นใช้เพียงอย่างเดียว

ที่จริงแล้ว การเพิ่มเงินเดือน ควรจะเน้นไปที่ข้าราชการระดับล่าง เพราะระยะห่างเรื่องเงินที่ได้รับระหว่างข้าราชการระดับสูงและระดับล่างนั้นมีความแตกต่างกันอยู่จำนวนมาก และอย่าลืมว่าข้าราชการระดับล่างส่วนใหญ่เป็นฝ่ายปฏิบัติซึ่งมีความเสียเปรียบในโครงสร้างนี้ ถ้าคิดจะแก้ปัญหาควรมาดูในส่วนนี้มากกว่า

สำหรับการเสนอมาตรการที่ว่าผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องผ่านหลัก สูตรอบรมที่มีอยู่ตามองค์กรต่างๆ เห็นว่า ไม่มีความจำเป็น

เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าบรรดาหลักสูตรอบรมที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้แทบไม่ได้ทำประโยชน์อะไรในการเพิ่มความรู้ทางวิชาการ นอกจากเป็นสถานที่ให้นักการเมืองมาสร้างเครือข่าย

3

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

เรื่องนี้สะท้อนถึงภาระค่าใช้จ่ายของส.ส.ในพื้นที่สำหรับภาษีสังคม ช่วยเหลือประชาชนตามงานบุญประเพณีว่าอยู่ในสัดส่วนที่สูง สมาชิกสปท.จึงเสนอให้เพิ่มเงินเดือนเป็น 3 แสน จากเดิมได้รับกันอยู่ราว 1 แสน ทั้งยังเพื่อป้องกันการทุจริต

โดยหวังว่า เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. มีค่าจ้างสูงขึ้น ก็จะช่วยลดการทุจริตลงไป แต่จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีหลักประกันว่า การทุจริตจะลดลง ซ้ำยัง อาจจะต้องช่วยเหลือภาษีสังคมในอัตราที่สูงขึ้นกว่าเดิม เพราะมีรายได้เยอะขึ้น

อีกทั้งหากไล่ดูรายรับของ ส.ส. ส.ว. จะพบว่า นอกจากเงินเดือน 1 แสนบาท ยังมีเบี้ยประชุมกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ รวมถึงค่าจ้างสำหรับที่ปรึกษา ผู้ช่วย ตลอดจนค่าเดินทางไปปฏิบัติภารกิจต่างๆ อีก แต่รายรับเหล่านี้กลับไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณชน

หากรวมเฉพาะเงินเดือนอย่างเดียว ค่าใช้จ่ายสำหรับ ส.ส. ส.ว. ต่อวาระการดำรงตำแหน่ง 1 สมัย หรือ 4 ปี จะตกอยู่ราว 5 ล้านบาทต่อคน ถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่สูงอยู่แล้ว ยิ่งหากนำไปประเมินกับการทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ ก็จะเกิดคำถามถึงความคุ้มทุน เนื่องจากข้อมูลที่รับรู้กันคือ ฝ่ายค้านมัก จะเข้าประชุม และร่วมลงมติ ผ่านร่างกฎหมาย น้อยกว่าฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นเหมือนกันทุกพรรค

หากอยู่ในภาคเอกชน การทำหน้าที่เช่นนี้ถือว่าสอบตก ต้องโดนไล่ออก การเพิ่มเงินเดือนจึงไม่ได้มีหลักประกันว่า การทำงานจะมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ฐานะการเงินการคลังจึงไม่ใช่ปัญหา แต่อยู่ที่ประสิทธิภาพของการทำงานมากกว่า

ข้อเสนอคือ หากจะเพิ่มเงินเดือนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องมีความโปร่งใสมากขึ้น ส.ส.และส.ว.จะต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสังคม ถึงรายรับและค่าใช้จ่ายทั้งหมด ของการทำหน้าที่ว่า ตั้งใครเป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ช่วย เดินทางไปไหน ลงพื้นที่ ทำหน้าที่ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่

ตลอดจนการประชุมในระดับกรรมาธิการและอนุกรรมาธิการ โดยเฉพาะรายงานการประชุมของส.ว. ต้องชี้แจงข้อมูลทั้งหมด โดยไม่ต้องร้องขอ เพราะที่ผ่านมา ข้อมูลเหล่านี้มีแต่การปกปิด การสืบค้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก

นอกจากนี้ ประชาชนเองควรนำผลงานการทำหน้าที่ในสภาของส.ส. มาประเมินประกอบการตัดสินใจด้วย เพราะบางที ส.ส.เน้นใช้งบประมาณลงไปดูแลคนในพื้นที่ แต่กลับละเลยภารกิจหลักในสภา เนื่องจากรู้ว่า ยังไงก็จะได้รับเลือกกลับมาอีก ถ้าทำพื้นที่ดี

4

โคทม อารียา

จากที่เคยได้ศึกษาเรื่องเงินค่าตอบแทนหรือเงินเดือนของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในหลายๆ ประเทศนั้น หากเปรียบเทียบกับของประเทศไทย จะพบว่าบางประเทศให้เงินเดือนต่ำกว่า มาตรฐานของเรามาก ขณะที่อีกหลายๆ ประเทศก็ให้เงินเดือน สูงกว่าเรามากๆ เลยทีเดียว

ส่วนตัวมองว่าระดับหรืออัตราเงินเดือนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในบ้านเรานั้น ถือว่ายังไม่สูงมากเท่าไร หากคณะ อนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สปท.จะเสนอปรับเพิ่มให้กับตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ก็สามารถทำได้

เพราะอย่างเช่น ส.ส.มีเพียงเงินเดือน จะไม่ค่อยมีสวัสดิการอะไรเท่าที่ควร หากเปรียบเทียบกับตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ แต่การจะพิจารณาปรับเพิ่มขึ้นนั้น ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม รวมทั้งให้ครอบคลุมกับค่าครองชีพในปัจจุบันด้วย

ส่วนข้อเสนอที่จะเพิ่มเงินเดือนให้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมากถึง 2-3 แสนบาทนั้น มองว่าเป็นอัตราที่ก้าวกระโดดมากจนเกินไป หากจะเพิ่มเงินเดือนขึ้นสักประมาณร้อยละ 50 ของอัตราเดิม ยังถือว่าเหมาะสมกว่า เพราะต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวยอะไรมากมายนัก

การเพิ่มเงินเดือนขึ้นไปจนถึง 3 แสนบาทนั้น มองว่าจะตอบคำถามหรืออธิบายกับสังคมยากไปสักหน่อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนฯ จะ เสนอเพิ่มเงินเดือนให้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งหลาย โดยอ้างเหตุผลว่าเพราะในอนาคตนักการเมืองจะถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น หรือป้องกันนักการเมืองใช้วิธีหลบๆ ซ่อนๆ เพื่อกระทำทุจริต หรือจะเพื่อช่วยแก้ไขปัญหานักการเมืองกระทำ ทุจริตคอร์รัปชั่น อะไรก็แล้วแต่ ก็เข้าใจเหตุผลดังกล่าว ข้างต้น แต่เหตุผลที่ว่ามาทั้งหมดนั้น ยังไม่ใช่เหตุผลรองรับที่ดีมากนัก

มองว่าเหตุผลดังกล่าวยังไม่ใช่แรงจูงใจที่ดีมากพอ ที่จะมาใช้เพื่อรองรับเหตุผลการขึ้นเงินเดือน แม้คณะอนุกรรมาธิการ ขับเคลื่อนฯ จะมองว่าช่วยแก้ปัญหาทุจริตได้นั้น แต่ส่วนตัวกลับมองว่าอาจจะช่วยได้บ้างเท่านั้น จะหวังผลหรือคาดว่าจะได้ผลทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้

ตรรกะหรือเหตุผลที่คณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนฯ ยกมาอ้างถึงนั้น มองว่าเป็นเพียงแค่ปัจจัยข้างเคียง ยังไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะนำมาใช้สนับสนุนเหตุของการขึ้นเงินค่าตอบแทน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งหลาย

สิ่งสำคัญที่จะเป็นปัจจัยหลัก คือการเลือกตัวบุคคลที่จะ เข้ามาดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ ประชาชนจะต้องเลือกบุคคลที่มีประวัติซื่อตรง ไม่ด่างพร้อย เป็นคนตรงไปตรงมา มีใจที่อยากทำงานเพื่อรับใช้ส่วนรวม

เสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงตัวบุคคล ถือเป็นทางเลือกและเป็นประโยชน์ที่ประชาชน จะใช้พิจารณา และประกอบการตัดสินใจเลือก ซึ่งเชื่อว่าเป็นเรื่องไม่ยากอะไร

5

นิคม ไวยรัชพานิช

ขณะนี้ข้าราชการ นักการเมือง หรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ในเรื่องของเงินเดือนและค่าตอบแทน ขณะที่คนที่เป็นส.ส. ส.ว. เมื่อเทียบกับปลัดกระทรวง เงินเดือนก็ใกล้เคียงกันอยู่ ส่วนองค์กรรัฐวิสาหกิจสามารถกำหนดเงินเดือนที่เหมาะสมได้ แล้วแต่เงื่อนไข แล้วแต่องค์กรนั้นๆ

แต่การจะขอเงินเพิ่มให้นักการเมือง ถ้ามีสภาเข้ามาไม่ได้อยู่แล้ว เพราะกลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน การจะขึ้นเงินเดือน ประมาณ 2-3 แสนบาทนั้นต้องดูว่าเหมาะสมหรือไม่ ต้องตอบคำถาม ให้ได้ เพราะเห็นว่าก่อนหน้านี้มีการเสนอไม่ให้นักการเมืองช่วยงานบุญ งานบวช เนื่องจากไม่ต้องการให้นักการเมืองคอร์รัปชั่น ถ้านักการเมืองเงินไม่พอก็ใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ถูกต้อง

การเสนอขึ้นเงินเดือนให้นักการเมืองนั้น ส่วนตัวไม่ได้คัดค้านแต่ต้องดูว่าอัตราเงินเฟ้อเท่าไหร่ สอดคล้องกับค่าครองชีพหรือไม่ และให้มีความเหมาะสมในหน้าที่ด้วย

ความจริงเงินเดือนของนายกฯและรัฐมนตรีควรขึ้น เพราะขณะนี้ดูแล้วน้อยไป แต่เงินอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทน ค่ารับรอง ค่าเบี้ยประชุม เยอะมาก เป็นล้านบาท ดังนั้นถ้าจะขึ้นเงินเดือนให้ก็ต้องดูเรื่องค่าตอบแทนเหล่านี้ด้วย

หากมีการเสนอให้ขึ้นเงินเดือนนักการเมืองจริงตามสภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ เชื่อว่าถูกครหาแน่นอน เพราะขณะนี้องค์กรหรือประชาชนรายได้ต่อปียังต่ำมาก เมื่อสถานการณ์ของประเทศเป็นอย่างนี้ก็ไม่เหมาะ และเชื่อว่าต้องมีคนเปรียบเทียบกับ รายได้ของชาวนาแน่นอน ดังนั้นควรทำให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้นจะดีกว่า

ถ้ามีการขึ้นเงินเดือนสังคมจะต่อต้านคัดค้านทันที เพราะการขึ้นเงินเดือนไม่ได้ รับประกันว่าพวกคุณจะทำงานคุ้มค่าเงิน อย่าเอาเงินเดือนมาเป็นตัวตั้ง ควรทำงานเพื่อสังคมและประเทศชาติ

ยิ่งมีคำครหาว่าคนเป็นข้าราชการเงินเดือน 2-3 ตำแหน่งยิ่งเป็นตัวสะท้อน อาจจะถูกโจมตีได้ ถ้าเศรษฐกิจดีประชาชนทั่วไปรายได้สูงก็ไปอย่าง

ส่วนที่อ้างว่าจะช่วยแก้ปัญหานักการเมืองโกงนั้น เอาอะไรมาคำนวณ อย่าเหมารวมนักการเมือง เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่สะอาดกว่าด้วย และอย่าขึ้นเงินเดือนโดยอ้างว่านักการเมืองถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น มันไม่สมเหตุสมผล

ส่วนที่ระบุว่าให้มีผลบังคับใช้หลังจากนี้อีก 5 ปีเพื่อกันข้อครหานั้น เอาตรรกะอะไรมา คิด คิดเอาประโยชน์กับตัว การจะเสนออะไรต้องทำอย่างโปร่งใสทั้งต่อหน้าและลับหลัง

ถ้าเงินเดือนสูงแล้วจะช่วยไม่ให้นักการเมืองโกงหรือตัวเองไม่โกง ดูเหตุและผลแล้วยังไม่ได้ จะเห็นว่าที่ผ่านมามีการเรียกร้องว่าตำรวจเงินเดือนต้องสูง เขาจะได้ไม่ใช้อำนาจ เพื่อประโยชน์ตัวเอง หรือทหารต้องมีเบี้ยเลี้ยงสูงๆ โดยเฉพาะทหารในพื้นที่ภาคใต้ เขาจะได้มีกะจิตกะใจในการทำงาน แต่อยู่ที่การกระทำ การมีอำนาจหน้าที่ของแต่ละคน

และถ้าจะขึ้นเงินเดือน ควรขึ้นให้ข้าราชการชั้นผู้น้อย เพื่อให้สามารถครองชีพอยู่ได้ เขาก็ไม่มาใช้ช่องทางที่ไม่ถูกต้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน