บทบรรณาธิการ

เพียงวันแรกภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน เป็นฝ่ายมีชัยเหนือนางฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต

ก็เกิดปรากฏการณ์การประท้วงขึ้นตามเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐอเมริกา เพื่อแสดงความไม่พอใจที่นายทรัมป์ได้รับการเลือกตั้ง

ประการหนึ่ง เพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบาย “สุดโต่ง” และเหยียดคนที่แตกต่างจากคนผิวขาวทั้งหลายให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสองหรือไม่ใช่คน

ประการหนึ่ง เพราะไม่เห็นด้วยกับวิธีการเลือกตั้งแบบตัวแทนที่เป็นอยู่

ซึ่งทำให้ผู้ได้รับคะแนนเลือกตั้งมากกว่ากลับกลายเป็นผู้แพ้

หากการเลือกตั้งเป็นกระบวนการส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย การประท้วงโดยสงบและสันติ เพื่อให้เสียงให้ความเห็นของตนเอง มีผู้คนในสังคม-โดยเฉพาะผู้มีอำนาจทั้งหลายได้รับฟัง ก็เป็นส่วนประกอบอีกชิ้นหนึ่งของประชาธิปไตยเช่นกัน

ถ้าหัวใจของประชาธิปไตยคือการรับฟังเสียงประชาชน แล้วตัดสินใจกำหนดนโยบายด้วยเสียงส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็ให้ความเคารพกับเสียงส่วนน้อย

กระบวนการทำให้เสียงของประชาชนไม่ว่าจะตัวเล็กตัวน้อยเพียงใด ได้รับความเอาใจใส่ มีผู้รับฟัง มีผู้ให้ความสนใจ ด้วยกระบวนการ ที่เป็นไปอย่างสงบสันติ

ย่อมต้องได้รับการคุ้มครองและการยอมรับอย่างเปิดกว้าง

ในสังคมที่ยึดหลักการประชาธิปไตย และให้ความเคารพกับสิทธิและเสียงของประชาชน เมื่อเกิดการประท้วงที่ไม่มีแนวโน้มส่อเค้าว่าจะใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ กระบวนการรับมือของภาครัฐจะเป็นไปด้วยความนุ่มนวล

และขั้นตอนการสลายการชุมนุมก็คือเปิดใจกว้างรับฟังความเห็นที่แตกต่าง เพื่อให้อารมณ์ความรู้สึกของผู้ร่วมชุมนุมคลี่คลายลง

ก่อนจะหาทางเจรจาเพื่อหาข้อยุติที่ต่างฝ่ายต่างยอมรับได้ เป็นประโยชน์ที่สุดหรือเป็นโทษน้อยที่สุดสำหรับทุกฝ่าย

ไม่ใช้วิธีการนอกระบบหรือใช้กำลังเข้าระงับปัญหา ที่มีแต่จะยิ่งสร้างปัญหาขึ้นในอนาคต

ในระบอบประชาธิปไตย “ขันติ” ที่มีต่อผู้อื่นจึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน