หลังประเด็น “คนนอก” ถูกต้านอย่างหนัก ก็ปรากฏความเคลื่อนไหวตั้งพรรคการเมือง เพื่อดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งนายกฯต่อ

พลิกเกมจากนายกฯ คนนอก มาเป็นนายกฯในบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง

ขณะที่นักการเมืองรุมถล่มว่าเป็นยุทธศาสตร์สืบทอดอำนาจของคสช. ที่วางแผนไว้ตั้งแต่การเขียนรัฐธรรมนูญ

ในมุมมองนักวิชาการเห็นอย่างไร

ฐิติพล ภักดีวานิช

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

นายกฯคนนอกที่กำลังเป็นปัญหาถกเถียงกันน่าจะหมายถึงการสืบทอดอำนาจของทหาร ไม่ว่าจะเป็นโดยพล.อ. ประยุทธ์ หรือบุคคลในคสช. ซึ่งการมีนายกฯคนนอกที่มีความสามารถ ปัญหาและข้อครหาที่ตามมาคงจะมีน้อย

อย่างไรก็ตามนายกฯ ก็ควรมีที่มาตามหลักการ ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองย่อมมีคนคุณภาพในพรรคที่ควร จะสนับสนุนคนใน ไม่ใช่คนนอก ส่วนการเข้ามาของพล.อ.ประยุทธ์ ตามที่วิจารณ์กันไม่ว่ารูปแบบใดก็คือคนนอก

และดูแล้วแนวโน้มการเลือกตั้งครั้งต่อไปมีโอกาสมากที่จะได้นายกฯคนนอก ยิ่งในช่วงเวลานี้ที่คสช.ยังคงห้ามพรรคการเมืองเก่าทำกิจกรรม ในขณะที่คสช.เองใช้ประโยชน์จากนโยบายทั้งประชารัฐ ไทยนิยม ตลอดจนกลไกรัฐที่ใช้ในการหาเสียง ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการลงพื้นที่สัญจรต่างๆ ของครม.คือ การสร้างคะแนนนิยม

ปัจจัยสำคัญคือรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก ที่มีการจัดวางโครงสร้าง และกลไกเอื้อให้คนนอกขึ้นเป็นนายกฯ โดยเฉพาะ 250 ส.ว. ที่คสช.เป็นผู้แต่งตั้งเอง และมีอำนาจในการลงมติเลือกนายกฯ จะเป็นแต้มต่อสำคัญให้ทหารสืบทอดอำนาจ

แต่ก็ต้องดูท่าทีจากพรรคการเมืองทั้งพรรคขนาดใหญ่และพรรคขนาดกลางประกอบกันด้วยว่าจะเห็นเป็นอย่างไร หากส.ส.ของแต่ละพรรคยังยืนยันในหลักการ เสียงแข็ง ปฏิเสธลงคะแนนให้ก็จะเป็นเรื่องยากที่จะสืบทอดอำนาจ สภาล่างจะมีน้ำหนักพอให้สภาสูงรับฟัง

ท่าทีจากพรรคหลักๆ ตอนนี้พูดกันชัดเจนว่าจะไม่เอานายกฯคนนอก โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ที่แม้จะยืนยันชัดเจนตอนนี้แต่ก็ไม่รู้ว่าพอถึงเวลาจริงแล้วจะเป็นอย่างไร

เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่านมาสายสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปัตย์กับทหารต่างเอื้อประโยชน์กันมาตลอด มีข้อครหาเรื่องการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร จึงทำให้ไม่มั่นใจในจุดยืนของประชาธิปัตย์ เพราะหากมีดีลตำแหน่งสำคัญๆ มาให้ก็ไม่แน่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร

การเมืองช่วงการเลือกตั้งครั้งหน้า คงไม่ใช่ 3 ก๊กแบบที่ฝ่ายกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์มอง แต่มันจะเพียงแค่ 2 ก๊กคือ เอากับไม่เอาประชาธิปไตยเท่านั้น

หากมีนายกฯคนนอกหลังการเลือกตั้งก.พ.62 คงไม่นำไปสู่ความรุนแรงเหมือนในอดีต หากเทียบเหตุการณ์พฤษภา 35 ที่ขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นั้น ไม่เหมือนกัน ครั้งนั้นกระแสมีฝ่ายเดียวคือฝ่ายต้าน

แต่ครั้งนี้ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าทหารก็ฉลาดมากขึ้น เห็นได้จากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ ที่ดำเนินนโยบายโดยประสานกับกลุ่มทุนใหญ่ ทำให้อย่างน้อยก็มีกลุ่มทุนคอยสนับสนุนคสช.อยู่ ไม่ได้มีแต่ฝ่ายต้านอย่างเดียว

จึงทำให้การเมืองน่าจะไปต่อได้ แต่จะบริหารประเทศกันอย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

หากคนในรัฐบาลจะตั้งพรรคการเมืองจริงตามที่มีกระแสข่าว เพื่อสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ คนในตามบัญชีพรรคการเมืองจริงถือเป็นเรื่องดี เพราะโดยหลักการแล้วอะไรที่มาตามระบบ เอาทุกอย่างที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดินย่อมเป็นเรื่องดีอย่างแน่นอน

ประชาชนสามารถคัดเลือกและ ตรวจสอบได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องมามุบมิบกันว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะเข้ามาเป็นนายกฯ คนนอกอย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน หากพล.อ.ประยุทธ์ มาตามระบบก็จะผ่าน การตรวจสอบและรับรองจากประชาชนซึ่งถือเป็นเรื่องดีกับพล.อ.ประยุทธ์เอง

นอกจากนี้ การตั้งพรรคการเมือง ถือเป็นวิสัยของอารยชนที่อยากเข้าสู่อำนาจ ถือเป็นการประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจน ที่สำคัญหากรัฐบาลตั้งพรรคขึ้นมาจริง ประเด็นที่เราถกเถียงกันมาโดยตลอดโดยยกความผิดทุกเรื่องให้นักการเมืองก็จะไม่ใช่เรื่องจริง 100 เปอร์ เซ็นต์อีกต่อไป

เพราะท้ายที่สุดระบอบประชาธิปไตยเป็นคำตอบของระบบการเมืองที่มีปัญหา เราไม่สามารถอาศัยอำนาจพิเศษได้ตลอด ความขัดแย้งในสังคมจะได้รับการแก้ไขเมื่อเรากลับเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง

ดังนั้น หากอยากได้อำนาจต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ต้องมาตามกติกา ผ่านการตรวจสอบโดยประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์จะเข้ามาเป็นนายกฯ โดยผ่านการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาการเป็นนายกฯคนนอกนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก ประเทศไทยเคยมีบทเรียนมาแล้วในช่วงปี 2534-2535 มีการเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอก โดยไม่มีการระบุว่านายกฯจะต้องเป็นส.ส.

กระทั่งเกิดการถกเถียงและเกิดการ ต่อต้านจากคนในสังคมอย่างรุนแรง จนนำมาสู่เหตุการณ์ในช่วงพฤษภา 35 ซึ่งเป็นช่วงที่ความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ในสังคม และกติกาในลักษณะนี้ก็ยังเกิดการถกเถียงกันว่าเป็นคำตอบ หรือไม่ แต่สุดท้ายสังคมได้เรียนรู้ว่าไม่ควรมีการเพิ่มเงื่อนไขใดๆ เพื่อนำไปสู่ความขัดแย้งอีก

ทั้งนี้ หากพล.อ.ประยุทธ์เล่นตามกติกา มาตามระบอบ ก็อาจจะสร้างปัญหาให้กับพรรคใหญ่อย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยที่อยากเป็นรัฐบาลได้ เชื่อว่าจะเกิดผล กระทบโดยตรงกับสองพรรคนี้

อย่างพรรคประชาธิปัตย์เองก็จะมีกลุ่ม ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย แกนนำกลุ่ม กปปส.ที่จะส่งผลเรื่องคะแนนกับพรรคอีกทาง เพราะตอนแรกก็ประกาศจะไม่เล่นการเมือง แต่มาวันนี้ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหว มีการขยับมากขึ้น

สุดท้ายคำว่าตระบัดสัตย์คงไม่ได้ใช้อยู่แค่ในกลุ่มของทหารหรือนักการเมืองอีกต่อไป แต่คำคำนี้จะปรากฏมากขึ้นในอีกหลายเวที อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องติดตามดูกันต่อเพราะไม่รู้ว่าจะมีการพูดคุยหรือตกลงอะไรกันลับหลังหรือไม่ อย่างที่เขาใช้คำว่าเกี้ยเซี้ยกัน

ที่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าเป็นการวางแผนตั้งแต่ ต้นเพื่อหวังสืบทอดอำนาจถือว่าเป็นเรื่องที่ชัดเจน เพราะทุกครั้งที่มีการทำรัฐประหารผู้ที่ทำรัฐประหาร ย่อมอยากจะอยู่ในอำนาจต่อ เป็นธรรมชาติของการทำรัฐประหาร อาจจะเป็นเพราะความชอบหรือความเคยชิน หรือกลัวว่าถูกย้อนรอยเอาคืนจึงต้องวางแผนเพื่อนำไปสู่การอยู่ต่อในอำนาจ

ดังนั้น การตั้งพรรคขึ้นมารองรับจึงถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีกว่าไปเกี้ยเซี้ยให้มีนายกฯ มาจากคนนอก ซึ่งจะไม่ประสบความสำเร็จ ยืนยันว่าใครที่ต้องการเข้ามามีอำนาจการเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง เข้าสู่กติกาปกติย่อมดีกว่ากระบวนการที่อยู่นอกเหนือรัฐธรรมนูญ

หาก พล.อ.ประยุทธ์อยากกลับเข้ามามีอำนาจต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง และการตั้งพรรคเพื่อ รองรับจึงเป็นทางเลือกที่ดี เข้ามาตามระบบเพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจ พล.อ.ประยุทธ์ควรประกาศตัวมาให้ชัดเลยในขณะที่คะแนนนิยม ก็อยู่ในเกณฑ์ดี

ที่สำคัญจะกลายเป็นทหารรุ่นใหม่ที่เข้าสู่วิถีตาม ระบอบประชาธิปไตย เมื่อเข้ามาเป็นนักการเมืองแล้วจะได้เรียนรู้ว่าหนทางที่เข้าสู่สภานั้น ไม่จำเป็น ต้องโรยด้วยรถถังหรืออาวุธเพียงอย่างเดียว

 

ยุทธพร อิสรชัย

รองอธิการบดี ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

การตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯอีกครั้งนั้น การตั้งพรรคใหม่เป็นสิทธิที่บุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดสามารถทำได้

ถ้าจะตั้งพรรคเพื่อเสนอชื่อพล.อ. ประยุทธ์ ก็ทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญ ปี 60 เปิดกว้างให้มีการเสนอชื่อบุคคลซึ่งอาจอยู่นอกพรรค หรือไม่เป็นส.ส. สามารถเป็นนายกฯได้ โดยเป็นคนที่อยู่ใน 3 ชื่อที่พรรคการเมืองเสนอได้

แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าถ้ามีการเสนอชื่อแล้วให้ครม.ที่อยู่ในรัฐบาลชุดนี้ แม้แต่ นายกฯ ในฐานะหัวหน้าคสช.ไปดำรงตำแหน่งในพรรคนั้น เช่น เป็นที่ปรึกษาพรรค กรรมการบริหารพรรค หรือลงสมัครรับเลือกตั้งก็ไม่เหมาะสม

แม้กฎหมายจะเปิดช่องให้ทำได้แต่ในแง่ของความชอบธรรมทางการเมืองก็ไม่อาจตอบได้ โดยเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองเกี่ยวข้องกับเรื่องการยอมรับจากสังคมด้วย

และวันนี้กติกาเลือกตั้งถูกกำหนดโดยคสช.ที่เข้ามาบริหารประเทศเมื่อ 3 ปีก่อนในฐานะคนกลาง แก้ปัญหาต่างๆ ทั้งการปฏิรูป ปราบโกง วันนี้ถ้าคสช.ลงมาเป็นผู้เล่นเสียเองก็จะกระทบต่อความชอบธรรมทางการเมืองสูงมาก

การเสนอชื่อหรือตั้งพรรคสามารถทำได้ ไม่มีปัญหา แต่ต้องให้พล.อ.ประยุทธ์ เลือกสถานภาพและบทบาทที่ชัดเจน ต้องเลือกว่าจะบริหารประเทศต่อ หรือหากจะลงมาเล่นการเมืองก็ต้องลาออกจากทุกตำแหน่ง รวมทั้งตำแหน่งที่อยู่ในคสช.ด้วย

การตั้งพรรคเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์เพื่อหนีเสียงต้านคนนอกหรือไม่นั้น ถ้าเลือกสถานภาพบทบาทที่ชัดเจนก็ไม่เป็นปัญหา ถ้าไม่ชัดเจนก็เป็นปัญหา ความเป็นคนในวัดกันอยากเพราะรัฐธรรมนูญเปิดช่องว่าคนไม่เป็นส.ส.สามารถได้รับการเสนอชื่อได้

สำหรับคนที่ไม่อยู่ในคสช. ไม่ได้เป็นนายกฯ แล้วได้รับการเสนอชื่อ เราจะ เชื่อว่าเป็นคนในหรือนอกก็วัดยาก ในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาชัดเจนว่าคนเป็นนายกฯ ต้องเป็นส.ส.ก็ถือว่าเป็นคนใน แต่ตอนนี้ยากกว่าว่าเป็นคนในหรือคนนอก

เสียงวิจารณ์ว่าวางแผนสืบทอดอำนาจมาตั้งแต่ตอนร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นข้อวิจารณ์ของสังคม ไม่มีอะไรบ่งชี้ชัดเจนว่าเป็นจริง แต่เมื่อเป็นข้อวิจารณ์ของสังคม คสช.ก็ต้องทำให้ชัดเจนด้วยว่าตัวเองเข้ามาเพื่อเป็นคนกลาง ปรับปรุงกลไก กติกาใหม่ การปฏิรูป การปราบโกง

แต่พอถึงเวลาดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญหรืออะไรประชาชนมีส่วนร่วมน้อยมากทำให้เกิดข้อวิจารณ์ขึ้น สุดท้ายเป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ ซึ่งคสช.ต้องทำให้ชัดเจน

ส่วนการตั้งพรรคเพื่อใช้รองรับการเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯคนใน ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้วหรือไม่นั้น ก็ต้องถามว่าดีที่สุดสำหรับใคร กลุ่มไหน ถ้ามองในมุมของกลุ่มสนับสนุนเขาก็อาจจะมองว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศมีความต่อเนื่อง ให้สามารถเข้ามาทำงานตรงนี้ และสานต่องานให้มีผลจริงจัง

แต่ถ้าถามกลุ่มที่มองในเชิงประชาธิปไตยอาจ มองว่าไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด ที่ให้ผู้กำหนดกติกามามีส่วนร่วมในสนามเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ต้องแสดงบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน ซึ่งขึ้นอยู่กับ มุมมองของแต่ละคน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน