จากความเคลื่อนไหวของสมาชิกพรรคการ เมืองและสมาชิกในรัฐบาลช่วงเวลานี้ ทำให้เกิดการวิเคราะห์แบ่งแยกแนวทางการเมืองออกเป็น 2 กลุ่มบ้าง และ 3 กลุ่มบ้าง ตามจุดยืนที่แต่ละพรรคและแต่ละกลุ่มประกาศออกมา

แนวทางการแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจ กับอีกกลุ่มที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ รวมถึงการสนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ส่วนแนวการแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม ยึดพรรคและตัวบุคคลเป็นหลัก ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ กับอีกกลุ่มที่เหลือที่สนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบัน

พร้อมด้วยการตั้งคำถามถึงการเชิญสมาชิกพรรคการเมืองเข้าไปพูดคุยหารือถึงทำเนียบรัฐบาลนั้น เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่

สมาชิกพรรคการเมืองหลายคน โดยเฉพาะ ผู้ที่สังกัดพรรคใหญ่ หรือสังกัดพรรคเก่าแก่ เริ่มแสดงออกถึงความรู้สึกเสียเปรียบในสนามการแข่งขันตั้งแต่การเลือกตั้งยังมาไม่ถึง

หลังจากหลายปีมานี้ รัฐบาลมีโอกาสบริหารงาน จัดสรรงบประมาณ และใช้งบประมาณโดยไม่ต้องถูกตรวจสอบจากฝ่ายค้าน

อีกทั้งยังมีโอกาสจัดทำนโยบายที่ไม่ต้องหาเสียงไว้กับประชาชน แต่อาจมุ่งหวังให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนด้วย

การถือครองอำนาจและทรัพยากรต่างๆ เหล่านี้ของรัฐบาล จึงเป็นสิ่งที่สมาชิกพรรคการเมืองรู้สึกว่ากำลังถูกเอาเปรียบ โดยเฉพาะหากมีการแข่งขัน เกิดขึ้น

นอกเหนือจากโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลระบุว่าจัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสแล้ว ยังมีประเด็นสำคัญที่หลายคนเห็นว่า แตกต่างอย่างชัดเจนกับยุคที่มีผู้แทนฯมาจากการเลือกตั้ง

กรณีดังกล่าวเป็นท่าทีของการตอบสนองปัญหาทุจริตในวงราชการที่รัฐบาลควรต้องให้ความสำคัญมากขึ้น

การที่สมาชิกในรัฐบาลกล่าวเชิงสั่งสอนว่าประชาชนไม่ควรเลือกผู้แทนทุจริตเข้ามาอีก และรัฐบาลเป็นผู้ตรวจสอบไม่ใช่ผู้คอร์รัปชั่น เป็นคำพูดที่ตัดตอนและปัดความรับผิดชอบมากเกินไป

อีกทั้งอาจถูกมองการถือครองอำนาจท่ามกลางความได้เปรียบ อีกทั้งยังหลีกเลี่ยงการตรวจสอบอย่างชัดเจนและจริงจังด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน