ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงปลายฝน ต้นหนาว

บรรยากาศบ้านเมืองยังปกคลุมด้วยความเศร้าโศกเสียใจของประชาชน ต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่วันนี้ผ่านมาครบ 1 เดือนเต็ม

แต่ไม่ว่าทุกข์โศกเพียงใด ทุกอย่างต้องเดินหน้าต่อไป

เหมือนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แถลงต่อประชาชนในวันเผชิญวิปโยคยิ่งใหญ่ ตอนหนึ่งว่า

ถึงแม้จะอยู่ในยามทุกข์โศกน้ำตานองหน้าทั่วกันเพียงใด ประเทศไทยอันเป็นที่รักของพวกเราและของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ต้องดำรงต่อไป

อย่าให้การเสด็จสวรรคตทำให้พระราชปณิธานที่จะเห็นราชอาณาจักรของพระองค์มีความเจริญรุ่งเรือง พสกนิกรมีความผาสุกสวัสดี มีเมตตาและไมตรีต่อกันต้องหยุดชะงัก

ในวันนั้นผู้นำรัฐบาลยังประกาศภารกิจสำคัญ 2 ประการคือ การดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467

ตลอดจนตามราชประเพณีในส่วนของการสืบราชสันตติวงศ์

โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลไว้แล้วเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2515

อีกเรื่องคือ การเตรียมงานพระบรมศพในส่วนของรัฐบาลและประชาชนให้ สมพระเกียรติยศและสมกับความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทย

จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านไป 1 เดือน

ภายในใจยังเศร้าหมอง แต่ภายนอกเริ่มคลี่คลาย

รัฐบาลประกาศให้ประชาชนทั่วไป ออกทุกข์ได้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายนเป็นต้นไป ยกเว้นข้าราชการ พนักงานรัฐ วิสาหกิจ เจ้าหน้าที่รัฐ ต้องไว้ทุกข์ 1 ปี

ทีวี ละคร คอนเสิร์ต มหรสพ งานเทศกาลรื่นเริง กิจกรรมบันเทิงต่างๆ เริ่มกลับมา ถึงจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะต้องคำถึงถึงความเหมาะสม ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ตึงตังโครมครามจนเกินงาม

กล่าวถึงด้านการเมืองซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ความเป็นไปทางการเมืองส่งผลสะเทือนถึงด้านต่างๆ ไม่ว่าเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง การต่างประเทศ ฯลฯ

ในตอนแรกหลายคนอดเป็นห่วงไม่ได้ ในสถานการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลคสช.ยังยืนยันทำตาม “โรดแม็ป” เดิมที่วางไว้หรือไม่

แต่แล้วก็สบายใจ เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอดจนแกนนำแม่น้ำ 5 สายคือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

ยืนยันตรงกันทุกจุดว่า ยังคงตามโรดแม็ปเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกฯ ลงนามนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านการลงประชามติขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ส่วนขั้นตอนหลังจากนำขึ้นทูลเกล้าฯ

ต้องรอพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในกรอบเวลา 90 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดในราวต้นเดือนกุมภาพันธ์

หรืออาจเร็วกว่านั้นก็เป็นไปได้

เมื่อโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว กรธ.ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะทยอยส่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก ให้สนช.พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

ก็ไม่น่าจะชักช้าอีกเช่นกัน

เนื่องจากหลังการขึ้นครองราชสมบัติของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ซึ่งกำลังจะมีขึ้นในเร็ววันนี้แล้ว

ประเทศไทยยังต้องมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ซึ่งจะมีขึ้นอีกประมาณ 1 ปีหลังจากนี้ และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ภายหลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงผ่านพ้นไประยะหนึ่ง

ซึ่งล้วนแล้วเป็นพระราชพิธีสำคัญ

จึงไม่สมควรให้มีสิ่งใดมาเป็นอุปสรรค

เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างสมพระเกียรติยศและสมกับความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างหาที่สุดมิได้

ต้องถือเป็นเรื่องดีที่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณใดจากรัฐบาลคสช.บ่งบอกว่าจะยืดอำนาจออกไป

ส่วนจะไปมีการ “สืบทอด” ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันอย่างไรนั้น ก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แล้วก็เป็นอะไรที่น่าเห็นใจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์อยู่เหมือนกัน กรณีปัญหาราคาข้าวตกต่ำกลับมาปะทุตอนนี้

ถึงแม้รัฐบาลจะทุ่มงบประมาณรวมแล้วกว่า 75,000 ล้านบาท ในการช่วยเหลือชาวนาและพยุงราคาข้าวผ่าน 3 โครงการใหญ่ๆ ด้วยกัน ได้แก่

โครงการแจกเงินช่วยเหลือชาวนา 3 ล้านราย ไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ กว่า 30,000 ล้านบาท โครงการรับจำนำ ยุ้งฉางข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวในทุกจังหวัดทั่วประเทศอีก 27,400 ล้านบาท

และที่เพิ่งอนุมัติเมื่ออังคารที่ผ่านมา โครงการรับจำนำยุ้งฉางข้าวเจ้าและข้าวหอมปทุมธานีอีก 18,000 ล้านบาท

แต่ดูเหมือนจะยังแก้ได้ไม่สะเด็ดน้ำ

เนื่องจากยังมีชาวนาอีกหลายจังหวัดออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้อง อ้างว่ามาตรการจำนำยุ้งฉางของรัฐบาลไม่ได้ผล เพราะชาวนาปัจจุบันไม่มียุ้งฉางเป็นของตัวเอง หรือมี ก็ไม่ได้มาตรฐานพอจะเก็บรักษาคุณภาพข้าวเปลือก

สรุปคือมาตรการจำนำยุ้งฉางไม่สามารถแก้ปัญหาโรงสีกดราคาได้

ชาวนากับรัฐบาลยังต้องเผชิญหน้ากันต่อไป

กับอีกเรื่องที่ไทยยังประเมินผลได้ ผลเสียได้ไม่ชัด

กรณีเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกัน ช็อกโลกเอาชนะนางฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต ไปแบบเหนือความคาดหมาย

เป็นจังหวะเดียวกับที่รัฐบาลจัดประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลก รวมถึงผู้บริหารกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธานที่ประชุม

นอกจากการหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น วางแนวทางการทำงานด้านการต่างประเทศของไทยบนเวทีโลก เน้นย้ำนโยบายสำคัญของรัฐบาลในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการเข้าสู่ ไทยแลนด์ 4.0

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงสถานการณ์โลกโดยรวม และการเลือกตั้งประธานา ธิบดีสหรัฐ

ย้ำว่าการทำงานของกระทรวงการ ต่างประเทศจะต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน ต้องตั้งหลักให้ถูกในทุกประเด็น ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม

จากสถานการณ์ทั้งหลายทั้งปวงจึงชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวปรับใจให้เข้ากับการเปลี่ยน แปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ภายในนั้นไม่เท่าไหร่ เพราะทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้ว

แต่กับภายนอกที่เป็นปัจจัยอยู่เหนือการควบคุม รัฐบาลจำเป็นต้องวางแผนรับมืออย่างรอบคอบรอบด้าน การจัดวางตำแหน่งตัวเองบนเวทีโลกจะต้องรักษาสมดุลไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง

รวมถึงการเดินหน้าตามโรดแม็ปที่เคยให้สัญญาไว้กับประชาคมโลก

ไม่อาจละเลยการปฏิบัติตามได้

ทั้งหลายทั้งปวง เพื่อให้พระราชปณิธานที่จะเห็นราชอาณาจักรของพระองค์มีความเจริญรุ่งเรือง ทัดเทียมนานาอารยประเทศ พสกนิกรมีความผาสุก มีเมตตา และไมตรีต่อกัน

ดำรงอยู่สืบต่อไปไม่มีวันสิ้นสุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน