มีความจำเป็นต้องตรวจสอบอารมณ์และความรู้สึกของพรรคประ ชาธิปัตย์ต่อกรณี นายสกลธี ภัททิยกุล อย่างจำแนกแยกแยะ
ไม่ว่าจะจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ไม่ว่าจะจาก นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ไม่ว่าจะจาก นายจุติ ไกรฤกษ์
อาจแสดงความหงุดหงิดออกมาบ้าง
แต่ก็ไม่รุนแรง แข็งกร้าว ตรงกันข้าม ส่วนใหญ่อวยชัยให้พรและตั้งความหวัง
อย่างน้อยก็เป็นความเติบใหญ่ในฐานะทางการเมือง
อย่างน้อยการมีตำแหน่งในกทม.ก็ถือว่าเป็นสัมปทานของพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อยู่แล้ว
ถือได้ว่ายังไม่ได้สูญเสียให้กับ”เพื่อไทย”

ความจริง พรรคประชาธิปัตย์แสดงปฏิกิริยาน้อยมากต่อการปรับเปลี่ยนตำแหน่งในกทม.
ตั้งแต่เมื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ถูก”มาตรา 44″มาแล้ว
การที่มีการแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เข้าไปแทนที่ก็ยังถือว่าเป็นโควตาของพรรคประชาธิปัตย์อยู่
เพราะว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ก็มิใช่อื่นไกล
ก่อนหน้านั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ก็ไว้วางใจให้อยู่ในตำแหน่งรองผู้ว่าฯกทม. มิใช่หรือ
การดึง นายสกลธี ภัททิยกุล เข้ามาก็แทบไม่แตกต่าง
เพียงแต่หากพิจารณาข้อสังเกตของพรรคประชาธิปัตย์อย่างเจาะลึกลงไปก็ยังเห็นความมั่นใจอย่างยิ่งว่า การที่ นายสกลธี ภัททิยกุล ลาออกจากสมาชิกภาพแห่งพรรคประชาธิปัตย์
เท่ากับแฝง”ความนัย”อันลึกซึ้ง
นั่นก็คือ อาจสร้างเงื่อนไขที่เหมาะสมหาก”พรรคคสช.”ก่อรูปขึ้นอย่างสมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้

กรณีของ นายสกลธี ภัททิยกุล จึงไม่เพียงแต่ยืนยันสายสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่างคสช.กับพรรคประชาธิปัตย์
หากแต่สะท้อนอิทธิพลอันเนื่องแต่”กปปส.”
เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นการขับเคลื่อนของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผ่านกระบวนการของคสช. ผ่านกระบวนการของกทม.
เป็นการเล่นละครระหว่าง”กปปส.”กับ”ปชป.”
เพียงแต่”ปชป.”ตกอยู่ในภาวะ”กลืนไม่เข้า คายไม่ออก”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน