แม้จะได้รับการหนุนเสริมจาก “คสช.” แม้จะสามารถแปร “ทำเนียบรัฐบาล” มาเป็นฐานในการก่อรูปของพรรคการเมือง

แต่เส้นทาง “พรรคคสช.”ยังต้องเหน็ดเหนื่อย

หากดูจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานของ 3 พรรคการเมือง

1 พรรคเพื่อไทย 1 พรรคประชาธิปัตย์ 1 พรรคภูมิใจไทย

ถึงจะอาศัยพื้นฐานจาก “ประชารัฐ” ประสานเข้ากับ “ไทยนิยมยั่งยืน” ก็ยังเหนื่อย

เพราะร้อยละ 90 เป็นพื้นที่ของ “พรรคเพื่อไทย”

เพราะที่เหลืออีกร้อยละ 10 แบ่งกันไประหว่างพรรคประชาธิปัตย์ กับ พรรคภูมิใจไทย

แล้ว”พรรคคสช.”จะแทรกเข้าไปตรงไหน

ไม่เพียงแต่ “พรรคทหาร” จะให้ความสนใจต่อพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ใหญ่

หากเสียงของ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ก็ไม่ควรมองข้าม

ยิ่งอดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คือ นายอิสระ สมชัย ซึ่งเคยเป็นแกนนำกปปส. ยิ่งต้องสนใจ

ขณะที่อดีตส.ส.พรรคภูมิใจไทยก็ถือว่าใกล้ชิด “พรรคทหาร”

แม้อดีตส.ส.เหล่านี้จะระบุชื่อพรรคการเมืองพรรคหนึ่งขึ้นมาแต่จะขอตัดชื่อพรรคออกและเปลี่ยนเป็น “พรรคทหาร”ก็แล้วกัน

ความสงสัยจากพรรคการเมืองคู่แข่งก็คือ

“พรรคคสช.ผมไม่รู้ว่าเขามีจุดขายอะไรมานำเสนอให้คนที่สนใจการเมืองเข้าไปร่วมหรือให้ประชาชนตัดสินใจ ความเป็นพรรคทหารหรือเปล่า หรือการหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เขาก็ต้องเอาจุดนี้ไปขายอย่างเดียว แล้วคนอีสานจะคิดอย่างไร”

คำถามหลังนี้แหละคมแหลมอย่างที่สุด

ไม่เพียงแต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรอก ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้และในจุดกลางของกทม.

“พรรคทหาร” ก็ต้องตอบ “คำถาม”มากมาย

คำถาม 1 ย่อมสัมพันธ์กับเรื่อง “รัฐประหาร” คำถาม 1 ย่อมสัมพันธ์กับความสำเร็จตลอด 4 ปีที่คสช.เข้ามาบริหารบ้านเมืองว่าเป็นอย่างไร

แค่นี้ก็เหนื่อยตั้งแต่ยังไม่ลง “เลือกตั้ง”แล้ว

ไม่ว่าจะใช้ชื่อ “พรรคคสช.” ไม่ว่าจะใช้ชื่อ “พรรคทหาร”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน