กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟออกแถลงการณ์ล่าสุดเตือนว่า ณ วันนี้ปริมาณการเป็นหนี้ของโลกที่พุ่งสูงถึง 164 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

คิดเป็นสองเท่าของมูลค่าการค้าและบริการของโลก หรือร้อยละ 225 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก และสูงกว่าระดับสูงสุดก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐที่กระจายเป็นวิกฤตโลกในปี 2009 อยู่ร้อยละ 12

ครึ่งหนึ่งของหนี้จำนวนมหาศาลนี้เป็นของสามประเทศคือสหรัฐ ญี่ปุ่น และจีน โดยเฉพาะจีนที่มูลหนี้เพิ่มขึ้นจาก 1.7 ล้านล้านเหรียญในปี 2001 มาเป็น 25.5 ล้านล้านเหรียญในปี 2016 ส่วนใหญ่เป็นหนี้สินที่ภาคเอกชน

ข้อเสนอแนะของไอเอ็มเอฟก็คือ รัฐบาลของประเทศต่างๆ ต้องเลิกโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็น

ในยามที่เอกชนสามารถเดินได้ด้วยตัวเองแล้ว

สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ และผู้บริหารองค์กรต่างๆ จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

เพราะปริมาณหนี้สะสมทั้งโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ในช่วงเวลาที่สงครามการค้าระดับโลกรอบใหม่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะจิต ย่อมเพิ่มความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจ-ธุรกิจของแต่ละประเทศให้มากขึ้นตามไปด้วย

ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนพึงร่วมกันแบ่งปันข้อมูล และหารือเพื่อหาแนวทางหรือมาตรการที่จะลดผลกระทบ

หากวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่เกิดขึ้นจริง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจถูกผลักดันด้วยปริมาณการส่งออก

ความเสี่ยงอันเนื่องมาจากความเกี่ยวพันกับการค้าหรือเศรษฐกิจระดับโลกยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ในภาวะที่เศรษฐกิจระดับล่าง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ หรือกิจการระดับกลางและระดับเล็กเผชิญปัญหาการขาดเงินทุนหมุนเวียน เพราะภาวะเศรษฐกิจการค้าซบเซาลง

รัฐบาลจะสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น-โดยใช้เงินน้อยที่สุด

เพื่อให้ภาวะธุรกิจและเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างปกติได้อย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน