จิ๊กซอว์การเมืองค่อยๆ ปะติดปะต่อเป็นรูปเป็นร่าง

เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติแต่งตั้ง นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และนายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตนายกเมืองพัทยา เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬา

ฉากต่อเนื่องก่อนหน้า ที่เพิ่งดึงนายสกลธี ภัททิยกุล อดีตส.ส.กทม. จากอ้อมอกพรรคประชาธิปัตย์มารับตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ทั้ง 2 กรณีกล่าวกันว่าเป็นผลงานของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯขุนพลเศรษฐกิจคู่บารมีพล.อ.ประยุทธ์ ที่วันนี้ถือเป็น “ดีลเมกเกอร์” การเมืองให้คสช.เต็มตัว

การเคลื่อนไหวของนายสมคิด ฉายให้เห็นภาพว่า ถึงพล.อ.ประยุทธ์จะอิดออด ไม่พูดออกมาตรงๆ

แต่จากการกระทำหลายอย่าง ทั้งการ จัดโปรแกรมนำทัพครม.สัญจรจังหวัดต่างๆ ทุ่มงบประมาณเอาใจชาวบ้านรากหญ้า พร้อมถือโอกาส “เปิดดีล” นักการเมืองระดับคุมโซนพื้นที่

ก็เป็นสิ่งยืนยันได้ดียิ่งกว่าคำพูดใดๆ

ไม่ต้องรอเฉลยคำตอบในเดือนมิ.ย. ไม่ต้องเป็นนักวิเคราะห์การเมืองระดับเซียน อย่างที่เห็นกันอยู่ประชาชนธรรมดาก็อ่านออกไม่ยาก ว่าพล.อ.ประยุทธ์วางโรดแม็ป การเมืองของตัวเองไว้อย่างไร

ทั้งที่ตั้งแต่หลังทำรัฐประหารปี 2557 เข้ามาจัดตั้งรัฐบาล เป็นนายกฯ บริหารประเทศมา 4 ปีเต็ม พล.อ.ประยุทธ์ได้แต่พร่ำด่านักการเมืองว่าทุจริตคอร์รัปชั่น ทำให้ประเทศชาติเสียหาย สร้างความขัดแย้งแตกแยก

จู่ๆ พอถึงปีสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์กลับอ้างดื้อๆ ว่าไม่เคยรังเกียจนักการเมือง แถมยังดึงนักการเมืองที่ตนเองเคยด่า เข้าไปร่วมรัฐบาลแบบไม่มีอาการเคอะเขิน

ผ่านจุดเหนียมอาย ไม่สนใจข้อครหาตกเขียว จับปลาบ่อเพื่อน มัดจำกลุ่มอดีตส.ส.และนัก การเมืองท้องถิ่น ใช้ตำแหน่งในรัฐบาลเป็นตัวล่อ

เปิดแพ็กเกจต่อรองแลกผลประโยชน์ช่วง ก่อนและหลังเลือกตั้ง

มีการประเมินเส้นทาง “รีเทิร์น” กลับสู่อำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในราวเดือนก.พ.2562

อย่างที่รับรู้โดยทั่วไปว่ามี 2 เส้นทางด้วยกัน คือ เส้นทางการเป็นนายกฯ “คนนอก” กับเส้นทาง นายกฯ “คนใน” ซึ่งทั้ง 2 ทางมีความยากง่าย ต่างกัน

สำหรับเส้นทางคนนอกนั้น แม้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จะเขียนเปิดช่องไว้ แต่ปัญหาคือ

รัฐสภาต้องมีมติด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ 500 เสียง จากสมาชิกทั้งหมด 750 เสียง ในการขอยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯจากผู้อยู่ในบัญชีพรรคการเมือง

ถึงผู้มีอำนาจจะมีส.ว.จำนวน 250 เสียงอยู่ในมือก็ยังต้องพึ่งพาเสียงสนับสนุนจากส.ส. 250 คน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

โดยเฉพาะหลังจาก 2 พรรคใหญ่ เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ประกาศจุดยืนของตัวเองแล้วว่า จะไม่เอา “คนนอก” เป็นนายกฯ หากไม่มีพรรคใดบิดพลิ้ว หรือดีแต่พูด เส้นทางนี้น่าจะตีบตัน

ดังนั้น การให้พรรคการเมืองที่จัดเตรียมไว้เสนอชื่อ จึงน่าจะเป็นเส้นทางที่ง่ายกว่า

เพราะในการลงมติถ้าได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 375 เสียงก็เป็นนายกฯได้ทันที เมื่อมี 250 ส.ว.แล้วก็ ต้องการส.ส.อีก 125 คน ทำให้มีสิทธิ์ลุ้นมากกว่าวิธีแรก

แต่ช่องทางนี้มีความเสี่ยงอยู่ตรงเงื่อนไขว่า พรรคที่เสนอชื่อนายกฯ จะกระทำได้เพียงพรรคเดียวและต้องเป็นพรรคที่ได้รับเลือกตั้งส.ส.เข้ามาอย่างน้อย 25 คน

ส.ส. 25 คน จึงบันไดขั้นแรก ในการไต่ไปสู่เป้าหมายสูงสุดในการเป็นนายกฯคนใน

จึงไม่ใช่เรื่องประหลาด หากว่าจากนี้เป็นต้นไปจะได้เห็นพรรคสมคิดคอนเน็กชั่น เดินหน้าโชว์ “พลังดูด” อดีตส.ส.จากพรรคการเมืองเดิม หรือกลุ่มการเมืองต่างๆ

กรณีนายสกลธี ภัททิยกุล จากพรรคประชาธิปัตย์ นายสนธยา และ นายอิทธิพล คุณปลื้ม จากพรรคพลังชล จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

ยังมีคิว นายณัฐพล ทีปสุวรรณ อดีตผอ.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ร่วมกับนายสกลธี ดอดเข้าพบนายสมคิด ถึงทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่นายสกลธีจะได้มาเป็นรอง ผู้ว่าฯกทม.

ส่วนกลุ่มอยู่ในข่ายต้องจับตา

กลุ่ม “บ้านริมน้ำ” ของนายสุชาติ ตันเจริญ ที่แกนนำกลุ่มเคยนัดร่วมวงโต๊ะกินข้าวกับดีลเมกเกอร์คสช. แต่ข่าวดันหลุดออกมาเสียก่อน เลยต้องพักดีลไว้ชั่วคราว แต่เชื่อว่าจะมีการสานต่อเร็วๆ นี้

กลุ่ม “สะสมทรัพย์” ของ 4 พี่น้อง “ไชยยศ-ไชยา-เผดิมชัย-อนุชา” ที่ยังแทงกั๊ก รอดูสถานการณ์ก่อนตัดสินใจว่าจะออกทางไหน ระหว่าง “พลังดูด” พรรค คสช. กับ “พลังยื้อ” พรรคเพื่อไทย ยังต้องลุ้น

รวมทั้งโปรแกรมครม.สัญจร จ.บุรีรัมย์ เมืองหลวงพรรคภูมิใจไทย ต้นเดือนพ.ค. จะเรียบร้อยโรงเรียนคสช.ด้วยหรือไม่ ถ้าหากตรวจสอบจุดยืนจากประวัติความเป็นมาของพรรค

ก็น่าจะพอเดาคำตอบได้

แม้นักการเมืองบางคนจะมองว่า ความเคลื่อนไหวจากฝั่งคสช.ตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลก

เพราะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เคยร่วมรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่ง ใช้สูตรเดียวกันในการสร้างฐานอำนาจพรรคการเมืองจนแข็งแกร่ง

แต่ก็เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว

เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่ “รัฐบาลทักษิณ” ในตอนนั้นเป็นรัฐบาลที่มาจาก การเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งได้ประกาศตัว จัดตั้งพรรคอย่างเปิดเผย ไม่ได้มีการกระทำแบบลับๆ ล่อๆ เหมือนในปัจจุบัน

หลังจากอ้อมไปอ้อมมา หลีกเลี่ยง ข้อครหา “ตั้งพรรคในทำเนียบ” อยู่ พักใหญ่

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ก็ออกมายอมรับว่า กำลังอยู่ระหว่างหารือ กับนายสมคิดและ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เรื่องจัดตั้งพรรคการเมือง

สานฝันพล.อ.ประยุทธ์ให้เป็นจริง

ส่วนจะเป็นไปตามกระแสข่าวว่า ตนเองจะนั่งเป็นหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์เป็นเลขาฯพรรคหรือไม่ ยังไม่ได้ข้อยุติ

เช่นเดียวกับการเตรียมเชิญพล.อ. ประยุทธ์ มาเป็นที่ปรึกษาพรรค เพื่อปรับเปลี่ยนสถานะจาก “คนนอก” มาเป็น “คนใน” ที่เจ้าตัวให้รอฟังคำตอบใน เดือนมิ.ย.

อย่างไรก็ตามท่ามกลางมรสุมพลังดูด หากประเมินจากกรณีนายสกลธี ภัททิยกุล และนายณัฐพล ทีปสุวรรณ หรือกรณีแกนนำกปปส. ที่ตัวอยู่กับพรรค แต่ใจอยู่กับคสช. ในมุมนี้ พรรคประชาธิปัตย์น่าจะเป็นฝ่ายได้รับผลสะเทือนมากที่สุด

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เสี่ยงต่อสถานการณ์เลือดไหลไม่หยุด จึงเป็นเรื่องปกติ ที่ระดับหัวขบวนไล่มาตั้งแต่ นายชวน หลีกภัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และอดีตส.ส.หลายคน จะออกมาถล่มรัฐบาล คสช.แบบไม่ยั้ง

แตกต่างจากพรรคเพื่อไทยที่ประเมินแล้วได้รับผลสะเทือนจากพลังดูดของคสช.น้อยกว่า

ที่ต้องลุ้นอยู่หรือไปก็มีแค่กลุ่มสะสมทรัพย์ ขณะที่อดีตส.ส.ภาคอีสานและภาคเหนือ ซึ่งเป็น ฐานกำลังหลักยังเหนียวแน่นอยู่กับพรรค ไม่ตีจาก ไปไหน

นำมาสู่ความเชื่ออย่างหนึ่งว่าในการเลือกตั้ง ครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยน่าจะได้ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 230 เสียง แต่จะไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

การประกาศพร้อมเป็นฝ่ายค้าน ทำให้พรรค เพื่อไทยไม่ต้องเจอแรงกดดันในการทำศึกเลือกตั้ง

ผิดกับฝ่ายตรงกันข้ามโดยเฉพาะพรรค คสช. ต้องแบกรับความกดดันไว้เต็มๆ เพราะต้องชนะ เลือกตั้ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้ได้อย่างเดียวเท่านั้น

ถึงจะอยู่รอดต่อไปได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน