หลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติล้มกระดานการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หลังพบว่ามี 8 คนจาก 14 คนคุณสมบัติไม่ครบและมีลักษณะต้องห้าม จึงต้องเริ่มสรรหาใหม่

จากนั้นมีคลิปหลุดอ้างว่าชนวนเหตุมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่แฮปปี้กับ 14 รายชื่อ

มีความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ดังนี้

1.พัฒนะ เรือนใจดี

รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการล้มกระดานสรรหา กสทช. ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล สนช. และคณะกรรมการสรรหา จะต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ด้วยการชี้แจงรายละเอียดของการตีตกแคนดิเดต ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ สนช.ทั้ง 14 คน ให้ชัดเจนและครบถ้วนมากที่สุด

จำเป็นจะต้องลงรายละเอียดรายบุคคลให้ชัดเจนว่า คนไหนไม่เหมาะสมเรื่องอะไร ขัดคุณสมบัติข้อไหน ที่ว่าถือหุ้นในบริษัทโทรคมนาคม มีที่มาที่ไปอย่างไร ความสัมพันธ์กับคนในวงการที่อาจก่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์มีเส้นทางอย่างไร

เพราะระหว่างการดำรงตำแหน่งของ สนช.ชุดนี้นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ สนช.มีมติไม่เห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าสู่การดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งไม่ว่าองค์กรอิสระ หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่มีบทบาทและอำนาจหน้าที่ ให้คุณให้โทษบุคคล ตลอดจนควบคุมจัดสรรทรัพยากรชาติ ย่อมมีที่มาที่ไป ต้องมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบอร์ด กสทช.ที่ดูแลจัดสรรคลื่นความถี่ในรอบนี้ การคว่ำทั้ง 14 รายชื่อทิ้งไป ย่อมทำให้สังคมเกิดข้อครหาทันทีว่านี่ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายเพียงเท่านั้น แต่เป็นเรื่องทางการเมืองประกอบกันด้วย เนื่องจากทุกคนต่างทราบกันดีว่าอีกไม่นานจะมีการประมูลคลี่นความถี่ล็อตใหม่ที่มีมูลค่าสูงเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ซึ่งทุกคนหวังว่าจะมีบอร์ดชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ กลั่นกรองด้วยความเป็นกลาง นำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้สูงที่สุด

สำหรับคลิปเสียงที่หลุดออกมานั้นคงไม่ใช่เรื่องของฝ่ายคนที่เสียประโยชน์นำออกมาปล่อย แต่เป็นเรื่องการเบี่ยงเบนประเด็น ต้องการโบ้ยปัดความรับผิดชอบกันไปมา ระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐบาล สนช. และคณะกรรมการสรรหา เสียงใครเป็นเสียงใครนั้นคงไม่สำคัญ

การอ้างว่านายกฯ อยู่เบื้องหลังการคว่ำแล้วนายกฯ ออกมาปฏิเสธ โดยไม่ขอไม่ชี้แจงนั้น คงไม่ใช่เรื่องของนายกฯ คนเดียว แต่ตัว สนช.และคณะกรรมการสรรหาต้องแสดงความรับผิดชอบด้วย เพราะเป็นผู้พิจารณามาตั้งแต่ต้น หากเห็นว่าคุณสมบัติไม่สูง ไม่มีความสามารถ ตอนนั้นก็สามารถขยายเวลาการรับสมัครออกไปได้ ดีกว่าการที่นำเสนอแล้วไปล้มกระดานทิ้งแบบนี้

ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องออกมาตอบต่อสังคมว่ากำลังทำอะไรกันอยู่ ทุกเรื่องกลายเป็นการเมืองไปหมดแล้วใช่หรือไม่

ส่วนแคนดิเดตทั้ง 14 คนนั้น คงไปใช้สิทธิ์ฟ้องร้องอะไรภายหลังไม่ได้ เนื่องจาก สนช.มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมที่ให้เอกสิทธิ์แก่ สนช.ในการลงมติไว้

ส่วนทางออกนั้นควรดำเนินการสรรหาใหม่ตามกระบวนที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เหมือนเช่นที่ทำภายหลังจากล้ม 7 ว่าที่กกต. ซึ่งน่าจะดีกว่าการใช้มาตรา 44 ตามที่หลายฝ่ายดักทางไว้

2.จิตติพจน์ วิริยะโรจน์

อดีตส.ว.ศรีสะเกษ

ขณะนี้ประเทศไทยปกครองโดย คสช. ดังนั้น สิ่งใดที่เป็นเรื่องสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นหัวหน้า คสช.จะบอกว่าไม่รู้เป็นไปไม่ได้ แม้ว่านายกฯ จะไม่รู้เรื่องการสรรหา กสทช.ก็ยังพอฟังขึ้น แต่ในฐานะที่มีหัวโขนเป็นหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นคนตั้งสนช. อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นใน สนช. หัวหน้าคสช.จะบอกว่าไม่รู้เรื่องไม่น่าจะเป็นไปได้

อย่าลืมว่านายกฯ เข้ามาโดยวิธีพิเศษ มีอำนาจมาก มีมาตรา 44 อยู่ในมือ เมื่อมีอำนาจมากความรับผิดชอบก็ต้องมาตามตัว ซึ่งต้องบาลานซ์กัน จะบอกว่าขอใช้อำนาจอย่างเดียวแต่อย่างอื่นเกิดอะไรขึ้นไม่รับผิดชอบ อย่างนั้นไม่น่าจะถูก

ดังนั้น นายกฯ น่าจะตรวจสอบว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นมาและชี้แจงจึงจะถูก เพราะไม่น่าจะใช่เรื่องปกติที่จะเกิดเหตุการณ์ล้มคว่ำอย่างนี้ และไม่ใช่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เกิดเหตุการณ์ล้มคว่ำอย่างนี้มา 2-3 ครั้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการล้มรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ หรือการล้มการสรรหา กกต. ครั้งนี้เป็นการล้มการสรรหา กสทช. จะมาบอกว่าเป็นอุบัติเหตุคงเป็นเรื่องที่ฟังได้ยาก ถ้าเป็นเหตุที่เกิดขึ้นครั้งแรกก็ยังพอฟังขึ้น แต่ครั้งนี้เกิดขึ้นมาเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ไม่น่าจะฟังขึ้น

ส่วนที่มองว่าเป็นความบกพร่องในหน้าที่ของกรรมการสรรหาที่ไม่รอบคอบนั้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นใดก็ตาม ไม่ควรเกิดเหตุการณ์เรื่องในทำนองนี้ขึ้น ดังนั้น ต้องมีการตรวจสอบ เช่น เรื่องคลิปเสียงที่คนส่วนใหญ่ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่เสียงของตัวเองถูกหรือไม่

แต่ในความเป็นจริงแล้วหากจะพิสูจน์ว่าคลิปเสียงนั้นเป็นของใคร ทำได้ไม่ยาก โดยเฉพาะในทางนิติวิทยาศาสตร์สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้น นายกฯ น่าจะตรวจสอบแล้วมาชี้แจงให้ประชาชนทราบ ไม่เช่นนั้นประชาชนจะมีข้อสงสัยอยู่ตลอดเวลา เรื่องรัฐธรรมนูญคว่ำไป กกต.คว่ำไป เป็นอย่างไร ก็ไม่มีการตรวจสอบ ครั้งนี้คว่ำ กสทช. จึงควรมีการตรวจสอบได้แล้ว

ส่วนที่บอกว่า สนช.กลายเป็นผู้มีอำนาจในการวินิจฉัยคุณสมบัติ กสทช.นั้น หากพูดเป็นภาพรวมเหมือนกับมีอะไรบางอย่างที่อยู่เกินเลยไปแล้วเรามองไม่เห็น แต่สามารถเข้ามาแทรกแซงการทำงานของ สนช.ได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะมองเช่นนั้น

แต่การที่มาตรา 17 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม กำหนดให้ สนช.ต้องเลือกเพียงอย่างเดียว แต่กลับมีมติล้มทั้งกระดานนั้น ก็สื่อให้เห็นว่าการที่มีอะไรแปลกๆ เกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้งก่อนหน้านี้มีอะไรอยู่ข้างหลังหรือไม่

ประเด็นนี้เราไม่ได้กล่าวหาว่านายกฯ เป็นคนสั่ง แต่คิดว่านายกฯ ควรจะตรวจสอบให้ชัดเจนเพื่อประชาชนจะได้สบายใจ เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยปกติ และไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม การสรรหาใหม่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เชื่อว่าสุดท้ายก็ต้องกลับมาที่เรื่องเดิมว่าบ้านเมืองเรา คสช.ยังรับผิดชอบทุกเรื่อง หาก คสช.อยากให้สรรหาได้ก็สรรหาได้ ถ้าไม่อยากให้สรรหาก็ทำไม่ได้ ถูกต้องหรือไม่

เช่นเดียวกับการเลือกตั้ง ถ้า คสช.ต้องการให้มีการเลือกตั้งในเดือนพ.ย.นี้ กฎหมายลูกเสร็จก็เลือกตั้งกันได้ แต่ถ้า คสช.ไม่อยากให้เลือกตั้งก็ติดขัดไปหมด

กรณีดังกล่าวหากผู้ใดเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมควรจะใช้สิทธิ์ของตัวเองในการฟ้องศาลได้ ลองใช้เทคนิคทางศาลดูว่าศาลจะเห็นอย่างไร

3.นันทวัฒน์ บรมานันท์

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเลือกตั้งบุคคลไว้ล่วงหน้าเข้าใจว่าทุกรัฐบาลหรือรัฐบาลปกติก็มีเรื่องลักษณะนี้

ส่วนประเด็นคลิปเสียงหลุดที่มีการอ้างชื่อพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ยินการอ้างชื่อบุคคลนี้มาตลอด ดังนั้น คลิปเสียงไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นอยู่ที่การเลือกทุกครั้งเป็นไปในทิศทางเดียวกันหมด แสดงว่าต้องมีระบบอะไรสักอย่างของเขาอยู่แล้ว

ที่ผ่านมาจะเห็นว่าเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแรกที่มีการพูดในลักษณะการเล่นพรรคพวก ทุกเรื่องมีการตีปี๊บขึ้นมาแล้วก็เงียบหายไป

แต่ถ้าดูถึงความถูกต้องแล้วคณะกรรมการสรรหาซึ่งว่ากันว่าเป็นสุดยอดของคน เป็นคนเกรดเอ โดยกรรมการสรรหามีการตั้งคุณสมบัติไว้โหดกว่าคนที่จะมาเป็นกรรมการ ฉะนั้นคนที่จะมาเป็นกรรมการสรรหาได้ต้องเป็นยอดคน เมื่อมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นก็ต้องกลับไปตรวจสอบดู

ไม่อยากคิดว่ากรรมการสรรหาจะแพ็กทีมกันเพื่อเลือก แต่ระบบการตรวจสอบอาจจะไม่ดีพอ หน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติกรรมการควรเป็นหน้าที่ของหน่วยธุรการมากกว่า หรืออาจจะต้องดูทั้งระบบ และไม่แน่ใจว่ามีเกณฑ์หรือไม่ว่ากรรมการสรรหาเวลาเลือกมาหรือมีผู้ยื่นใบสมัครมาแล้วสามารถตรวจสอบคุณสมบัติเชิงลึกได้ขนาดไหน ถ้าสามารถตรวจสอบได้ลึกเท่า สนช.ที่ตรวจสอบไปนั้นเรื่องก็จะจบ

การแก้ไขปัญหานี้ควรให้กรรมการสรรหากับกรรมาธิการ (กมธ.) ของ สนช.ประชุมร่วมกันว่า สนช.ตรวจสอบอะไรบ้าง แล้วกรรมการสรรหานำมาเป็นแนวตรวจสอบตาม ถ้าตรวจสอบพบการซุกซ่อนเกี่ยวกับหุ้นจะถือเป็นการปกปิด ถ้าเป็น ในลักษณะนี้เป็นโทษทางอาญาได้

ต่อไปคงต้องมีการวางเกณฑ์ในการตรวจสอบไว้ เพราะกรรมการสรรหายังต้องทำงานต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดและไม่ให้สังคมสงสัยได้ว่าเป็นการฮั้วกันหรือไม่

และตามจริงแล้วน่าจะให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาเป็นหน่วยธุรการให้ เพราะเขาทำงานและมีประสบการณ์ในด้านตรวจสอบอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สนช.คงไม่ได้ทำงานเกินขอบข่าย แต่เมื่อเห็นว่ามีข้อผิดพลาดก็ต้องหาทางแก้ไข เพราะคนเหล่านี้จะเป็นคนที่ต้องเข้ามาทำงานให้ประเทศชาติ แล้วทุกองค์กรมีหน้าที่คัดเลือกคนที่ไม่มีปัญหาที่สุดเข้ามาทำงานให้ประเทศ เมื่อมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นตอนไหนก็ต้องแก้ไขอยู่ดี

ต้องมาถามว่าคนที่คุณสมบัติไม่ครบนั้นหลุดจากชั้นกรรมการสรรหาได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องมีข้อยุติ โดยเฉพาะการสรรหาครั้งหน้าถ้าเกิดเหตุแบบนี้อีกคงไม่มีใครอยากมาเป็นกรรมการสรรหา เพราะเขาเองก็กลัวเปลืองตัว เสียชื่อ แต่ถ้ามีเกณฑ์ดำเนินการ และมีหน่วยธุรการแข็ง จะไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดอีก

ส่วนผู้ที่ได้รับการสรรหาแล้วถ้าเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ไม่มีที่ไปแล้ว ซึ่งมติของสนช.เป็นการกระทำทางนิติบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครองคงไม่รับฟ้อง ทุกอย่างคงเป็นที่ สิ้นสุดแล้ว

4.พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ

ผอ.สำนักสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

เรื่องดังกล่าวเท็จจริงอย่างไรยังไม่รู้ แต่คิดตามหลักธรรมะของหลวงปู่ชา พระเกจิอาจารย์สายปฏิบัติ ท่านเคยกล่าวไว้ว่า “มีใครว่าอะไรถ้าเกิดไม่จริงอย่างเขาว่าก็ให้นิ่งไปเสีย แต่ถ้าเป็นจริงอย่างเขาว่าก็ควรที่จะพัฒนาปรับปรุงตนเองไป ก็จะไม่เดือดร้อน แล้วมีเรื่องอะไรกับใคร”

ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องปกติช่วงที่ใกล้จะมีการเลือกตั้งเป็นช่วงที่ฝ่ายการเมืองจะมีการตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลมากขึ้น ฉะนั้นควรที่จะมีความระมัดระวังในการทำกิจกรรมใดๆ ที่ใช้อำนาจหรือการดำเนินการมากขึ้น

กรณีนี้หากผู้ได้รับการสรรหาเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ควรที่จะไปใช้สิทธิ์ในการฟ้องร้อง แต่คงจะทำอะไรไม่ได้ เพราะถือว่าได้รับสรรหามาเพื่อความเป็นธรรมและถูกต้องตาม กระบวนการของกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม มองว่าตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม กำหนดให้ สนช.ต้องเลือกอย่างเดียว แต่กลับมีมติล้มกระดาน

เมื่อมีมติล้มกระดานแล้วต้องเข้าสู่กระบวนการคัดสรรใหม่ ยังมีเวลา ซึ่งหากสุดท้ายแล้วยังมีมาตรา 44 ที่จะช่วยปลดล็อกหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ แต่มาตรา 44 ควรใช้ในช่วงของระยะเวลาในการสรรหาไม่ทัน

ส่วนประเด็นที่มองกันว่ารัฐบาลมีการครอบงำในการลงประชามติของสนช.นั้น เดี๋ยวน่าจะมีมากถึงขนาดนั้น เพราะรัฐบาลมีอำนาจสูงสุดอยู่แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน