แบงก์ชาติเคาะเกณฑ์คุมกู้บ้าน เริ่มใช้ 1 เม.ย.62 เน้นคุมผ่อนบ้านสัญญาที่ 2 ขึ้นไป ขีดเส้นราคาบ้าน 10 ล้าน ให้วางเงินดาวน์ 10-30% ส่วนบ้านหลังแรก ดาวน์ 0% เหมือนเดิม แต่ห้ามแบงก์ปล่อยกู้เกิน 100% ของหลักประกัน

คุมผ่อนบ้านสัญญาที่ 2 – นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยธปท. ได้สรุปความเห็นและนำมาปรับปรุงมาหลักเกณฑ์ในหลายด้าน สำหรับการกำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำหรืออัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) สำหรับสัญญากู้ที่อยู่อาศัยหลังแรก ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท วางดาวน์ขั้นต่ำ 0-10% ไม่บังคับ ซึ่งธนาคารจะต้องไปพิจารณาความเสี่ยงในการปล่อยกู้ แต่จะต้องไม่ปล่อยเกิน 100% ของมูลค่าหลักประกัน

ส่วนที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ที่ราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท และผ่อนชำระหลังแรกไปแล้วตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปจะต้องวางเงินดาวน์ 10% แต่ถ้ายังผ่อนสัญญาแรกไม่ถึง 3 ปี หรือซื้อที่อยู่อาศัยที่มีราคามากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องวางดาวน์ 20% สำหรับที่อยู่อาศัยหลังที่ 3 ขึ้นไป จะต้องวางดาวน์ 30% ในทุกระดับราคา โดยให้มีผลบังคับใช้ไปยังสถาบันการเงินทุกแห่ง ใช้กำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2562 เป็นต้นไป โดยยกเว้นกรณีที่มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายหรือผ่อนดาวน์ก่อนวันที่ 15 ต.ค. 2561 ไม่ต้องเข้าเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับผู้ที่วางแผนซื้อและวางดาวน์ก่อนอยู่แล้ว

นอกจากนี้ หลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยดังกล่าว กำหนดให้มีการนับรวมสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย (สินเชื่อ TOP-UP) ทุกประเภทที่อ้างอิงหลักประกันเดียวกันในวงเงินที่ขอกู้ โดยให้ยกเว้น 1. สินเชื่อที่ใช้ชำระเบี้ยประกันชีวิตผู้กู้และประกันวินาศภัย ซึ่งช่วยปกป้องความเสี่ยงของทั้งผู้กู้และสถาบันการเงิน และ 2. สินเชื่อที่ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อย

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะกระทบกับผู้ที่ต้องการกู้แค่ 10% เนื่องจากกว่า 90% เป็นการกู้ไม่เกิน 10 ล้าน และไม่กระทบกับผู้ที่มีรายได้น้อยต้องการกู้บ้านหลังแรก ซึ่งมาตรการจะส่งผลดี เช่น 1. ดูแลประชาชนให้กู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาที่เหมาะสม 2. สร้างมาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน และ 3. เป็นมาตรการป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบ แต่ไม่ได้หมายความว่าภาคอสังหาฯไทยกำลังประสบปัญหาฟองสบู่ โดยธปท. จะติดตามการปรับตัวหลังมาตรการมีผลบังคับใช้อย่างใกล้ชิด โดยเน้นการตรวจสอบให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน