หัวเว่ย เมทเอ็กซ์เอส

เจาะภาคต่อ‘มือถือพับได้’

คอลัมน์ หลาก&หลายไอที

หัวเว่ย เมทเอ็กซ์เอส – สมาร์ตโฟนพับได้เป็นเทรนด์ที่เหล่าผู้ผลิตมือถือส่งสู่ตลาดอย่างคึกคัก รวมถึงหัวเว่ยผู้พัฒนาเทคโนโลยีชั้นนำจากประเทศจีน

หัวเว่ย เมท เอ็กซ์ (Huawei Mate X) เปิดตัวไปและวางจำหน่ายเฉพาะในจีนเมื่อปี 2562 กระทั่งล่าสุดทางหัวเว่ยเปิดตัว หัวเว่ย เมท เอ็กซ์เอส (Huawei Mate XS) ภาคต่อของเครื่องรุ่นนี้

มารุ่นนี้ หัวเว่ย เมท เอ็กซ์เอส อัพเกรดทั้งในขุมพลังการประมวลผล การรองรับเทคโนโลยีการสื่อสารยุคที่ห้า (5G) กล้องถ่ายภาพที่ดีขึ้น และแน่นอนกลไกการพับต่างๆ ที่ได้รับการปรับปรุงให้แข็งแรงรัดกุมทนไม้ทนมือมากกว่าเดิม ผิดแผนอย่างเดียวคือการไม่ได้เปิดตัวในงานโมบาย เวิลด์ คองเกรส 2020 ที่นครบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เพราะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ไปทั่วโลก

หัวเว่ย เมทเอ็กซ์เอส

พับเก็บเป็นสมาร์ตโฟน

 

หัวเว่ย เมทเอ็กซ์เอส

จอหันออกทั้งหมด

 

โอลิเวอร์ เคร็กก์ ผู้ทดสอบจากแอนดรอยด์อูธอริตี ระบุว่า เมท เอ็กซ์เอส มีรูปลักษณ์ภายนอกที่แทบแยกออกจากเมท เอ็กซ์ รุ่นก่อนไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ใจได้คือความคงทน

หัวเว่ยปรับปรุงมาใหม่ให้เมท เอ็กซ์เอส มีความแข็งแกร่งมากกว่ารุ่นที่แล้ว หนึ่งในนั้นเป็นแผ่นพลาสติกแบบพิเศษ 2 ชั้น ชั้นแรกปูทับจอแสดงผล OLED ของเครื่อง ช่วยให้เกิดรอยขีดข่วนยากขึ้น และทับอีกชั้นด้วยแผ่นฟิล์มจากหัวเว่ยที่ทางค่ายไม่แนะนำให้ลอกออก

อย่างไรก็ดี เมื่อกางจอภาพออกเป็นแท็บเล็ตจะยังเห็นรอยพับของจอได้อยู่ค่อนข้างชัดเจนถ้าพยายามเพ่งหา แต่อย่างน้อยก็แทบมองไม่เห็นหากมองตรงๆ เข้าไปที่จอขณะใช้งาน

จอภาพของ เมท เอ็กซ์เอส มีขนาด 6.6 นิ้ว ขณะเป็นสมาร์ตโฟน และ 8 นิ้ว ขณะเป็นแท็บเล็ต ความละเอียดสูงสุด 2,480 x 1,148 พิกเซล อัตราส่วนภาพ 19.5:9 หากกางออกจะมีส่วนที่บางที่สุดเพียง 5.4 มิลลิเมตร และส่วนที่หนาที่สุด 11 .. เป็นส่วนที่อยู่ของโมดูลกล้องถ่ายภาพ

หัวเว่ย เมทเอ็กซ์เอส

กลไกการพับออกแบบใหม่

 

เคร็กก์ระบุว่า กลไกการพับและกางออกของ เมท เอ็กซ์เอสนั้นแตกต่างจากเครื่อง กาแล็กซี โฟลด์ ของค่ายซัมซุง ประเทศเกาหลีใต้อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากจอภาพทั้งหมดของเมท เอ็กซ์เอส นั้นเรียงตัวอยู่บนด้านเดียวกันทั้งแผง การพับนั้นจึงทำให้จอภาพส่วนหนึ่งไปอยู่คนละด้าน และกางออกเป็นแท็บเล็ต ผู้ใช้อาจต้องออกแรงกดที่หน้าจอเล็กน้อยเพื่อกางเครื่องออก ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลก

เพราะแม้แต่ซัมซุงเองก็เคยเตือนว่า ไม่ควรออกแรงกดบนจอภาพขณะพับหรือกาง ส่งผลให้กาแล็กซี โฟลด์นั้นเป็นลักษณะของการหุบเก็บจอแท็บเล็ตไว้ด้านใน และต้องมีอีกจอข้างนอกขณะหุบเพื่อไว้ในงานเป็นสมาร์ตโฟน

หัวเว่ย เมทเอ็กซ์เอส

จอ OLED ตื่นตาตื่นใจ

 

แต่การออกแบบของ เมท เอ็กซ์เอส นั้นมีประโยชน์ใช้สอยสูงกว่าทางซัมซุง !?!

การออกแบบดังกล่าวทำให้เมท เอ็กซ์เอส ใช้กล้องถ่ายภาพโมดูลเดียวเป็นได้ทั้งกล้องถ่ายภาพและกล้องเซลฟี่ซึ่งปกติแล้วมักจะอยู่ด้านบนของจอภาพสมาร์ตโฟน โดยผู้ใช้เพียงหันเครื่องกลับมาอีกด้านเพื่อส่องกล้องถ่ายภาพเข้าหาตัวเอง กล้องถ่ายภาพที่มีคุณภาพสูงนี้ก็จะกลายเป็นกล้องเซลฟี่ขั้นเทพได้ทันที แถมยังมีจอภาพ OLED เต็มขนาดคอยแสดงตัวอย่างภาพให้ราวกับกำลังใช้สมาร์ตโฟนปกติทั่วไป ไม่เหมือนกับกล้องเซลฟี่ในกาแล็กซี โฟลด์ ที่จอภาพนั้นเหลือพื้นที่เล็กลงมากเมื่อเทียบกับ สมาร์ตโฟนทั่วไป

หัวเว่ย เมทเอ็กซ์เอส

ของแถมในกล่อง

 

ผู้ทดสอบกล่าวต่อว่า การกางหน้าจอของ เมท เอ็กซ์เอสนั้นน่าหวาดเสียวกว่า กาแล็กซี โฟลด์ ของซัมซุงเล็กน้อย เนื่องจากต้องออกแรงกดที่หน้าจอ แถมยังรู้สึกได้ถึงกลไกบริเวณข้อต่อที่ขยับตัวหมุนอยู่ในจอ OLED อันบอบบาง ทำให้ส่วนตัวนั้นระแวงว่าผู้ใช้ที่เล็บคมๆ หรือไว้เล็บยาวๆ อาจไปทิ่มส่วนนี้แล้วทำให้จอเสียหายได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม กลไกการพับของจอรู้สึกได้ถึงความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งทางวิศวกรของหัวเว่ยนั้นออกแบบปรับปรุงใหม่มาอย่างดี มีชิ้นส่วนประกอบกันกว่า 100 ชิ้น เพื่อให้การพับและกางออกนั้นดำเนินไปอย่างราบรื่น และมีเสียงคลิกดังเมื่อพับเก็บหรือกางออกเต็มที่แล้ว

รวมไปถึงบริเวณจุดหัวและท้ายของข้อพับที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ให้มีความแข็งแรงและป้องกันสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เล็ดลอดเข้าไปได้ ทำให้ทางหัวเว่ยมั่นใจว่า เมท เอ็กซ์เอส จะมีความคงทนของข้อพับสูงกว่ารุ่นที่ผ่านมา

หัวเว่ย เมทเอ็กซ์เอส

กลไกพับน่าหวาดเสียว

 

แม้ภายนอกของ เมท เอ็กซ์เอส จะไม่แตกต่างไปจาก เมท เอ็กซ์เท่าใดนัก แต่ภายในนั้นต่างกันราวฟ้ากับเหว

เริ่มที่ฟีเจอร์แรก คือ การสนับสนุนเทคโนโลยีการสื่อสารยุคที่ห้า (5G) ใช้ขุมพลังจากชิพประมวลผล (SoC) รุ่น Kirin 990 รวมไปถึงแบตเตอรี่ 2 ก้อน ความจุรวม 4,500 มิลลิแอมป์ชั่วโมง (mAh) ชาร์จไฟได้ถึงร้อยละ 85 ภายในเวลา 30 นาที ผ่านเทคโนโลยีซูเปอร์ชาร์จ ผ่านชาร์จเจอร์ขนาด 55 วัตต์ (W) ที่แถมมาให้ในกล่อง

ตลอดจนการออกแบบระบบระบายความร้อนแบบใหม่ที่ทาง วิศวกรหัวเว่ยตั้งชื่อให้เก๋ไก่ว่า Fly Fish Fin ลักษณะเป็นแผงโลหะนำความร้อนที่แผ่ออกไปเหมือนครีบปลาที่สยายปีกทั้งสองด้านของแบตฯ ช่วยรักษาอุณหภูมิของแบตฯ ไม่ให้ร้อนเกินไป

กล้องถ่ายภาพ

กล้องถ่ายภาพของ เมท เอ็กซ์ แม้เป็นกล้องที่มีคุณภาพสูงแต่เผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดฟีเจอร์ดีๆ อย่าง SuperSensing ที่มีอยู่ในกล้องถ่ายภาพสมาร์ตโฟนที่ได้รับความชื่นชมอย่าง P30 Pro และ Mate 30 Pro ถือเป็นข่าวดีที่ทางกล้องของเมท เอ็กซ์เอสนั้นใช้เซ็นเซอร์แบบ RYB แทน RGB (คุณภาพสีสูงกว่า) เช่นเดียวกันกับในสมาร์ตโฟนเรือธงรุ่นดังกล่าวของค่าย

หัวเว่ย เมทเอ็กซ์เอส

กล้องไลก้า 3 เลนส์

 

กล้องหลักมีความละเอียด 40 ล้านพิกเซล (MP) ขนาดช่องรับแสง f/1.8 พร้อมเทคโนโลยี pixel binning (รวมพิกเซล) ช่วยให้ภาพมีความละเอียดสูงขึ้น พร้อมระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ คาเมร่า ที่ช่วยให้การถ่ายภาพนั้นลื่นไหล ตอบสนองฉับไวถ่ายสนุกแม้ในที่มืด

ส่วนอีก 2 เลนส์เป็นเลนส์เทเลโฟโต้ 8MP ขนาดช่องรับแสง f/2.4 ซูมแบบออพติคอลได้ 3 เท่า และดิจิตอล 30 เท่า พร้อมเลนส์อัลตร้าวายความละเอียด 16MP ขนาดช่องรับแสง f/2.2 และเซ็นเซอร์วัดความลึก 3D ซึ่งการทดสอบเบื้องต้นพบว่า คุณภาพที่ออกมานั้นเทียบเท่ากล้องของ P30 Pro และ Mate 30 Pro เลยทีเดียว

เมท เอ็กซ์เอส ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์แบบเปิดที่ทางกูเกิ้ลนั้นปล่อยออกมาให้นำไปพัฒนาต่อเองได้ (Android Open Source Project)

เรียกสั้นๆ ว่า AOSP เนื่องจากหัวเว่ยนั้นยังคงอยู่ในบัญชีดำองค์กรไม่พึงประสงค์ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ตามดำริของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐที่อ้างว่าหัวเว่ยเสี่ยงเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐ ส่งผลให้บรรดาเอกชนอเมริกันถูกห้ามทำมาค้าขายกับหัวเว่ย หนึ่งในนั้น รวมถึงการใช้เทคโนโลยีต่างๆ จากเอกชนสหรัฐด้วย

การใช้โอเอสแอนดรอยด์แบบ AOSP ของหัวเว่ย ส่งผลให้ทางหัวเว่ยไม่สามารถเข้าถึง Google Mobile Services (GMS) ได้ เช่นเดียวกันกับสมาร์ตโฟนเรือธง Mate 30 Pro หมายความว่า ผู้ใช้จะไม่พบแอพพลิเคชั่นใดของกูเกิ้ลติดมา รวมไปถึงช่องทางดาวน์โหลดผ่านแอพพลิเคชั่นร้านค้า อย่าง Google Play Store

หัวเว่ย เมทเอ็กซ์เอส

กางออกเป็นแท็บเล็ต

 

อย่างไรก็ดี ทางหัวเว่ยนั้นกำลังอยู่ระหว่างพัฒนาโอเอสและแอพฯ ทดแทนทั้งหมด ถือว่าเป็นพัฒนาการเชิงบวกที่ต้องจับตามองต่อไป เช่นเดียวกันกับ EMUI 10 ซึ่งเป็นอินเตอร์เฟซสำหรับผลิตภัณฑ์พับได้ของหัวเว่ย

การทดสอบพบว่า เมท เอ็กซ์เอส แบ่งหน้าจอเปิดแอพฯ ต่างๆ ได้พร้อมกันถึง 3 แอพฯ ขณะกางออกเป็นแท็บเล็ตโดยจะแบ่งครึ่งหน้าจอซ้ายขวาและอีกแอพฯ หนึ่งลอยอยู่เหนือทั้งสองแอพฯ ข้างต้น อีกฟีเจอร์หนึ่งที่น่าสนใจเป็น App Multiplier ที่ให้ผู้ใช้สามารถใช้แอพฯแนวตั้งบนหน้าจอแนวนอน (landscape) ได้ โดยฟีเจอร์นี้จะหั่นครึ่งแอพฯ แนวตั้งออกเป็นสองส่วนแล้วแสดงที่สองข้างของจอภาพแทน

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ปัจจุบันมีแอพฯ ที่สนับสนุนฟีเจอร์นี้ราว 1,000 แอพฯ และทางหัวเว่ยอยู่ระหว่างร่วมมือกับนักพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มจำนวนแอพฯ ที่สนับสนุนฟีเจอร์ที่กล่าวมา

เคร็กก์ระบุว่า เมท เอ็กซ์เอส เปิดตัวที่ราคาสูงถึง 2,704 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 86,000 บาท ถือว่าแพงหนักยิ่งกว่า กาแล็กซี โฟลด์ และกาแล็กซี ซี ฟลิปรุ่นใหม่จากซัมซุง แม้ทางหัวเว่ยจะยังไม่ได้เปิดเผยวันวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ แต่เป็นที่ชัดเจนว่าจะวางจำหน่ายในจีนและทวีปยุโรป เวลาเท่านั้นจะเป็นสิ่งพิสูจน์ว่าคอนเซ็ปต์ดังกล่าวของหัวเว่ยจะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเพียงใด

แต่ที่แน่นอนที่สุด เมท เอ็กซ์เอส เป็นสมาร์ตโฟนพับได้หนึ่งเดียวที่ไม่มีใครเหมือนจริงๆ

จันท์เกษม รุณภัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน