วิเคราะห์ที่มา ใบขับขี่ตลอดชีพ จากกรมตำรวจ ถึงขนส่งทางบก ทำไมต้องมีตั้งแต่แรก และเหตุใดตอนนี้อยากริบคืน?

กลายสภาพเป็นตำบล‘กระสุนตก’ ทันทีที่นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ออกมาเผยแนวคิดริบคืน‘ใบขับขี่ตลอดชีพ’ ด้วยแนวทางให้ผู้ถือกลับมาทดสอบสมรรถภาพ และสุขภาพ หากใครไม่ผ่านต้องริบคืน ส่วนใครผ่านก็ให้ใช้ต่อไปได้ตามปกติ โดยอ้างว่าผู้ถือส่วนใหญ่มีอายุมากอาจมีสภาพร่างกาย เช่น การมองเห็น การได้ยิน ไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในการขับขี่

จิรุตม์ วิศาลจิตร

อย่างไรก็ตามขนส่งฯ ติ่งไว้นิดหนึ่งว่าทั้งหมดทั้งมวลเป็นเพียงแนวคิดและต้องศึกษาอย่างรอบครอบ เพราะหลายฝ่ายแสดงความกังวลว่าหากขนส่งฯยกเลิกใบขับขี่ตลอดชีพ ของบุคคลที่ทดสอบสมรรถภาพไม่ผ่าน อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดการริดรอนสิทธิ์ผู้ขับขี่เดิม ดังนั้นอยู่ระหว่างการหารือกับฝ่ายกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ว่าจะดำเนินการอย่างไรจึงจะไม่เกิดปัญหา

ทันทีที่แนวคิดนี้เผยแพร่ออกไปก็เหมือนระเบิดลง เพราะแม้จะมีเสียงเห็นด้วยอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ออกมาคัดค้านเพราะมองว่าเป็นการรอนสิทธิ์ผู้ที่สอบใบขับขี่ตลอดชีพได้ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในอดีต เพราะปัจจุบันใบขับขี่ตลอดชีพยกเลิกการอนุญาตไปตั้งแต่พ.ศ.2546 เหลือมีอายุยาวสุด 5 ปี

สำหรับการยกเลิกใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพเมื่อปี 2546 ขนส่งฯออกเป็น พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2546 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2546 ส่งผลให้ไม่มีการออกใบขับขี่ส่วนบุคคลตลอดชีพ เปลี่ยนมากำหนดอายุใบขับขี่เป็นชนิดบุคคล 5 ปีแทน และทุกครั้งที่หมดอายุต้องทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ด้วยเหตุผลว่าสามารถตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอต่ออายุใบขับขี่ได้ว่า ยังมีความสามารถในการขับขี่อยู่หรือไม่ เพื่อลดอุบัติเหตุในการใช้รถยนต์บนถนนลงได้อีกทางหนึ่ง

ก่อนปี พ.ศ.2546 นั้นใบขับขี่แบ่งออกเป็น 3 ชนิดหลักๆ คือใบขับขี่ชั่วคราว จะได้เป็นใบแรกเมื่อสอบผ่านเกณฑ์ของขนส่งฯ จากนั้นผ่านไป 1 ปีเมื่อต่ออายุจะได้เป็นใบขับขี่บุคคลอายุ 1 ปี เช่นกัน และเมื่อพ้นไปอีก 1 ปี สามารถเลือกได้ว่าจะต่ออายุแบบ 1 ปี หรือขอใบขับขี่ตลอดชีพ ซึ่งราคาจะสูงกว่าใบขับขี่ 1 ปีถึง 10 เท่า โดยใบขับขี่ตลอดชีพจะให้เฉพาะรถยนต์ และจักรยานยนต์ ใช้ส่วนบุคคลเท่านั้น

การออกใบขับขี่ตลอดชีพนั้นใช้ต่อเนื่องมานานหลายสิบปี ตั้งแต่การอนุญาตออกใบขับขี่ยังอยู่ในความดูแลของ‘กองทะเบียน’ กรมตำรวจ ก่อนโอนย้ายมาให้กรมขนส่งทางบก ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความแออัดของผู้ใช้บริการ เพราะสมัยก่อนยังไม่มีเทคโนโลยี หรือระบบคอมพิวเตอร์ ตั้นขั้วใบขับขี่หรือเอกสารสำคัญต่างๆ จะเก็บเป็นแผ่นกระดาษไว้ในแฟ้ม เวลาไปต่อใบขับขี่จึงต้องเสียเวลาค้นหา ยิ่งกรณีใบขับขี่หายหากไม่สามารถจำหมายเลขบัตรได้เรียกว่าพลิกหาต้นขั้วหากันหน้ามืด การออกใบขับขี่ตลอดชีพ จึงเป็นเหตุให้ลดจำนวนประชาชนที่มาติดต่อธุรกรรมลงได้ในระดับหนึ่ง

อีกปัจจัยปฏิเสธไม่ได้ว่าน่าจะมาจากเรื่องรายได้ เพราะใบขับขี่ตลอดชีพแพงกว่าใบขับขี่ 1 ปี ถึง 10 เท่า ปกติการต่ออายุใบขับขี่ 1 ปีราคา 100 บาท หากต้องการแบบตลอดชีพต้องจ่ายทันที 1,000 บาท สำหรับเงิน 1,000 บาท สมัยเมื่อหลายสิบปีก่อนถือว่าไม่น้อย หรือเทียบกับราคาทองเมื่อ 20-30 ปีก่อน ทองคำหนัก 1 บาท ราคาแค่ไม่กี่พันเท่านั้น หรือเทียบกับปีพ.ศ. 2545 ก่อนยุติออกใบขับขี่ตลอดชีพ 1 ปี ราคาทองคำตอนนั้นบาทละประมาณ 6,000 บาทเท่านั้น แต่ตอนนี้สูงถึงบาทละ 30,000 บาทแล้ว จึงเห็นได้ว่าค่าเงินสมัยก่อนสูงกว่าปัจจุบันพอสมควร

คำนวณง่ายๆ หากปีไหนมีผู้เลือกต่อใบขับขี่ตลอดชีพ 1 ล้านคน กองทะเบียน กรมตำรวจ ที่ดูแลอยู่ในอดีต จนมาถึงขนส่งฯในปัจจุบันจะได้ค่าธรรมเนียมสูงถึง 1 พันล้านบาท ในทางกลับกันหาก 1 ล้านคนนี้เลือกต่ออายุแค่ 1 ปี หน่วยงานที่ดูแลจะมีรายได้จากคนกลุ่มนี้ในปีนั้นเพียง 100 ล้านบาท แม้ปีต่อๆ มาจะได้อีก 100 ล้านบาทจากคนกลุ่มนี้เช่นกัน แต่หากมองในแง่บัญชี หรือรายได้ของแผ่นดินแล้วการได้เงินก้อนใหญ่ครั้งเดียวย่อมดีกว่า

อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาเปลี่ยน ความคิดต่างๆ ก็เริ่มเปลี่ยน รวมไปถึงเทคโนโลยีที่ทำให้การต่อใบขับขี่ง่ายขึ้น และเร็วขึ้น จนนำไปสู่การยกเลิกออกใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพในท้ายที่สุด แต่ยังให้สิทธิ์ผู้ที่ได้รับไปแล้วสามารถใช้งานได้ตามเดิม แม้บัตรจะชำรุด หรือสูญหาย เมื่อมาขอออกบัตรใหม่จะยังได้แบบตลอดชีพ เพราะนิยามของกฎหมายทุกประเภท ต้องไม่มีผลย้อนหลังหากทำให้เกิดความเสียหาย

ถึงกระนั้นเมื่อเวลาผ่านไปพักใหญ่ ขนส่งฯเริ่มมีแนวคิดริบคืนใบขับขี่ตลอดชีพออกมาเนืองๆ ซึ่งคล้ายกับปัจจุบันที่เป็นลักษณะโยนหินถามทาง และข้ออ้างก็ไม่ต่างกันคือผู้สูงอายุที่มีใบขับขี่ตลอดชีพ บางส่วนอาจไม่มีสภาพการขับขี่อย่างสมบูรณ์แล้ว จึงควรกลับมาทดสอบหรืออบรมเพิ่มเติมตามเกณฑ์ขอใบขับขี่ในปัจจุบัน แต่การโยนหินกลายเป็นถูกหินปาหัวแทน ต้องหยุดกันไปทุกครั้ง

ยิ่งกับประเด็นที่ขนส่งฯ และกองเชียร์มักยกขึ้นมาอ้างทุกครั้งว่าผู้สูงอายุขับรถสุ่มเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุนั้น โดนยันกลับไปด้วยสถิติอุบัติเหตุที่ต้นเหตุส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น และรถจักรยานยนต์มีสถิติมากที่สุด หรือกระทั่งอุบัติเหตุกับรถยนต์ก็น้อยครั้งมากที่มีสาเหตุจากผู้ขับขี่สูงอายุ และสถิติบ่งชัดว่าต้นตออุบัติเหตุไม่เกี่ยวกับอายุ ไม่เกี่ยวว่าใครมีใบขับขี่แบบไหน แต่ส่วนใหญ่เกิดจากเมาขับ ขับรถเร็ว และคึกคะนอง

เพราะหากดูตามข้อเท็จจริงแล้ว ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถควบคุมรถได้เต็มประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่ไม่อยากเสี่ยงขับรถออกมาบนถนนอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่ยังขับขี่ได้ก็จะระมัดระวังมากกว่าวัยรุ่นทั่วไป ตามประสบการณ์และวุฒิภาวะที่มากขึ้น

เมื่อขนส่งฯออกมาโยนหินอีกรอบในครั้งล่าสุด จึงโดนชุดใหญ่ใส่สารพัด แถมรัฐบาลพลอยโดนลูกหลงไปด้วยทำนองว่ากำลัง‘ถังแตก’ เลยอยากเก็บเงินทุกเม็ดเท่าที่จะรีดได้จากประชาชน

กรณีแนวคิดดังกล่าวกูรูด้านกฎหมายอย่าง‘นายธนกฤต วรธนัชชากุล’ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ออกมาสอนมวยชุดใหญ่ โดยยกพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 46 มาตรา 47 และมาตรา 49 ไม่ได้กำหนดให้การที่สภาพร่างกายเสื่อมลงด้วยเหตุสูงอายุ เป็นเหตุให้ถือว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามสำหรับการมีใบอนุญาตขับรถ

พ.ร.บ.รถยนต์ บัญญัติถึงกรณีสภาพร่างกายที่ทำให้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามไว้ เช่น ร่างกายพิการจนเห็นว่าไม่สามารถขับรถได้ มีโรคประจำตัวที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถ เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน เป็นผู้มีโรคติดต่อน่ารังเกียจตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่รวมถึงกรณีสภาพร่างกายเสื่อมลงด้วยเหตุสูงอายุด้วย

อีกทั้งการจะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.รถยนต์ มาตรา 53 วรรคสอง เพื่อเรียกผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถมาตรวจสอบคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม ต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ จึงจะเรียกบุคคลนั้นๆ เป็นรายบุคคลมาตรวจสอบได้ ไม่สามารถเรียกทุกๆ คนมาสุ่มตรวจแบบเหมาเข่งทั้งหมดได้

เช่น การกำหนดเกณฑ์ว่าคนที่มีอายุ 70 ปี ขึ้นไป ทุกคนต้องมาทดสอบสมรรถภาพในการขับรถ เพื่อค้นหาและตรวจสอบว่าใครที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามบ้าง การกำหนดเช่นนี้ไม่สามารถทำได้ตามกฎหมาย เพราะยังไม่ปรากฏเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่าบุคคลที่อายุ 70 ปี ขึ้นไปทุกคนมีสภาพร่างกายไม่พร้อมที่จะขับรถได้ และคนที่อายุ 70 ปี ขึ้นไปไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีสภาพร่างกายที่ไม่สามารถขับรถได้

ผ่านไปแค่วันเดียวหลังโดนออกมาถล่มชุดใหญ่จากหลายฝ่าย ขนส่งฯต้องเร่งชี้แจงอีกรอบว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงแค่‘แนวคิด’ เท่านั้น

ถึงที่สุดแล้วแม้ตามกฎหมายจะเปิดช่องให้ขนส่งฯ มีสิทธิ์เพิกถอนใบขับขี่แต่ต้องเป็นกรณีๆ ไป เช่นกรณีวัยรุ่นไฮโซลูกชายเศรษฐี และอดีตนางงาม ขับรถเบนซ์ไล่กวดกับรถประจำทาง แล้วจู่ๆ รถก็เร่งเครื่องขึ้นฟุตปาธทับผู้โดยสารเสียชีวิตคาป้ายรถเมล์ ก่อนนั่ง‘มือหงิก’อ้างเป็นลมชัก สามารถเพิกถอนใบขับขี่ได้ทันที

หรือกรณีอื้อฉาวของ‘เก่ง เกียร์อาร์’ อดีตดีเจที่ถอยรถชนคู่กรณี อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ในขณะนั้น) มีคำสั่งพิกถอนใบขับขี่ตลอดชีพ และให้รอเวลา 3 ปีถึงจะมาขอสอบใหม่ซึ่งจะได้แบบชั่วคราว และต่อไปจะได้แบบ 5 ปีเท่านั้น ไม่คืนสิทธิ์ใบขับขี่ตลอดชีพให้อีก

เรื่องนี้ในข้อเท็จจริงไม่ว่าจะโดยกฎหมาย ที่ไม่ให้อำนาจ หรือเสียงคัดค้างที่อึงมี่ ดูเหลี่ยมแล้วถึงที่สุดขนส่งฯ น่าจะพับโครงการนี้กลับไปอย่างเงียบๆ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

รูดม่านแนวคิด‘ริบคืน’ใบขับขี่ตลอดชีพ แบบ‘เกมส์จบ…ศพไม่สวย’

สันติ จิรพรพนิต…เรื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน