อยุธยาจัดงาน “วันเห็ดตับเต่างาม ที่สามเรือน” ย้ำเทียบชั้น “เห็ดทรัฟเฟิล” ฝรั่งเศส

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เร่งพัฒนาภาคเกษตรกรรม ชู ‘เห็ดตับเต่า’ พืชเงินล้านเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น โดยสานต่อการจัดงาน “วันเห็ดตับเต่างาม ที่สามเรือน” ย้ำคุณภาพเห็ดดีที่สุดในประเทศไทย พร้อมกระตุ้นการอนุรักษ์ และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเห็ดตับเต่า พืชพื้นถิ่นที่มีคุณค่าที่สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนแก่เกษตรกร

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 63 นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน “วันเห็ดตับเต่างาม” ที่สามเรือน เพื่อส่งเสริมภาคกิจการเกษตรเห็ดตับเต่าให้เป็นที่รู้จัก และก่อเกิดการอนุรักษ์ โดยยกระดับเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของการพัฒนาภาคเกษตรกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เนื่องด้วยเห็ดตับเต่าเป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งเพิ่มพูนรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ แม้จะเก็บเห็ดตับเต่าได้เพียงปีละครั้งเดียว ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายนของทุกปี แต่สามารถสร้างรายได้แก่เกษตรกรหลายล้านบาทต่อปี

พื้นที่เพาะเห็ดตับเต่าในจังหวัดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีประมาณ 275 ไร่ เกษตรกรกว่า 270 ราย มีผลผลิตเฉลี่ย 1,800 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งผลผลิตทั้งปี 495,000 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งตลาดมีความต้องการสูง มีราคาขายหน้าแปลงเห็ดอยู่ที่กิโลกรัมละ 70-90 บาท ขายปลีกกิโลกรัมละ 150 บาท โดยเกษตรกรบางรายสามารถเก็บเห็ดตับเต่าจำหน่ายได้วันละไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม

การจัดงานครั้งนี้ นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้ความเห็นว่า การจัดงานครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 ไม่อยากให้งานที่ดีหายไป ปีนี้จังหวัดจึงมอบหมายให้เกษตรจังหวัดเป็นผู้จัดงาน ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิดในการอนุรักษ์มุ่งเน้นไปที่วัตถุประสงค์ 3 ประการคือ สร้างการรับรู้ของบุคคลภายนอกพื้นที่ได้ทราบว่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีเห็ดตับเต่าที่มีคุณภาพดีที่สุดของประเทศ

ประการที่สอง การทำความเข้าใจหรือการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ให้มีองค์ความรู้ ประการที่สาม เป็นการสร้างความรับรู้ในเรื่องคุณค่าทางอาหารที่สูงในเห็ดตับเต่า ที่สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลาชนิด ซึ่งรสชาติและเนื้อของเห็ดตับเต่ามีความคล้ายคลึงกับ “เห็ดทรัฟเฟิล” ของฝรั่งเศส ที่มีราคาแพงกิโลกรัมละหลายหมื่นบาท”

“นอกจากนี้อีกเห็ดตับเต่ายังเป็นพืชที่ปลอดสารพิษ เพราะขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงเห็นว่าควรทดลองประกอบอาหารให้เกิดเป็นเมนูซิกเนเจอร์ สามารถรับประทานได้ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเท่านั้น เพราะสามารถเก็บจำหน่ายได้เพียง 4 เดือนต่อปี และมีเอกลักษณ์ในรถชาติที่ไม่เหมือนใคร ทำให้มีความต้องการเห็ดตับเต่าในท้องตลาดสูง แนวคิดอนุรักษ์และต่อยอดให้มีการเพาะเห็ดตับเต่านอกฤดูจึงเกิดขึ้น”

สำหรับคนบ้านสามเรือนถือว่าเห็ดตับเต่า เป็นเห็ดเงินล้าน สามารถปลดหนี้ เป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้แก่ครอบครัว

นางสมาน สัทธศรี อายุ 72 ปี เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงเห็ดรายแรกๆของ บ้านสามเรือน และเป็นเจ้าของรางวัลการประกวดเห็ดทุกปี เล่าว่า ขายเห็ดตับเต่ามาตั้งแต่รุ่นคุณแม่ ทำมาตั้งแต่ 30 –40 ปี เมื่อก่อน ไม่มีใครกล้ากิน เห็นดอกใหญ่ๆ ดำๆ จนคุณแม่ไปขายของที่ขอนแก่น เห็นขายในตลาด แพงด้วยเลยมาเก็บส่งขาย

“แรกๆ ก็ไม่มีใครเก็บขาย พอเห็นที่บ้านมีรายได้ดี ก็พากันเก็บขาย เมื่อก่อนโลละ 30 ตอนนี้ 100-150 แย่งกันซื้อ มันมีราคา พอลืมตาอ้าปากได้ ปีก่อนๆเคยเก็บวันหนึ่งได้เป็นร้อยโล ได้เงินวันละเป็นหมื่นๆ ก็เคยได้ แต่ปีนี้ แล้ง น้ำในคลองก็คุณภาพไม่ดี เห็ดเกิดน้อย เราใช้เคมีอะไรบำรุงไม่ได้เลย ยา ปุ๋ย ก็ไม่ได้ ใครใช้เห็ดไม่ขึ้น”

ขณะที่ จำลอง จักรกร ประธานกลุ่มรวมใจพัฒนา เจ้าของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเห็ดหลายรายการ อาทิ เห็ดสวรรค์ เห็ดสามรส น้ำพริกเผาเห็ด เห็ดอบกรอบ ซึ่งมีรายได้จากการแปรรูปเห็ดที่สามารถเป็นรายได้หลักของครอบครัว

“เราโชคดีได้ความรู้จาก มทร.ที่มาช่วยอบรมและเป็นที่ปรึกษาให้จนทุกวันนี้ แรกๆ ยังทำไม่เป็นที่บ้านทำเห็ดก็ขายแต่เห็ดสดอย่างเดียว พอดีเรามีสูตรน้ำพริกเผาอยู่เลยพัฒนามาจนขายดีเป็นผลิตภัณฑ์แรกๆ ที่เอาเห็ดมาเกี่ยวข้อง ซึ่งช่วงโควิดเราก็ไม่มีปัญหา รสชาติน้ำพริกเราปากต่อปาก มียอดสั่งจากคนในโรงงานแถบโรจนะเดือนละกว่า 200 กระปุก”

ทั้งนี้ ภายบในงาน กิจกรรมการจัดเสวนาให้ความรู้เรื่องเห็ดตับเต่า จากนักวิชาการที่วิจัยเรื่องของเห็ดตับเต่าจากหลายๆ สถาบันเพื่อเพิ่มพูนความรู้แก่เกษตรกร อาทิ “การเพาะเห็ดตับเต่าในภาคเหนือกับพืชไม้ผล” โดยอาจารย์ นันทินีศรีจุมปา นักวิชาาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สังกัดศูนยว์จิยัพืชสวนเชียงราย “การเพิ่มมูลค่าเห็ดตับเต่ากับความมั่นคงทางอาหาร” โดย รศ.ดร.รวีวรรณ เดื่อมขันมณี คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ สาธิตเมนูอาหารจากเห็ดตับเต่าโดยเชฟชื่อดัง การประกวดเห็ดตับเต่า การประกวดอาหารปิ่นโตเมนูคาวหวานจากเห็ดตับเต่า พร้อมการจำหน่ายอาหารแปรรูปจากเห็ด หลายหลากชนิด

นอกจากนี้ การจัดงานยังมีการเชื่อมโยงให้เห็นถึงการอนุรักษ์ส่งเสริม การให้ความสำคัญในการพัฒนาเห็ดตับเต่า ที่ไม่ใช่เพียงการมองเห็นในรูปของธุรกิจการเกษตร แต่เล็งเห็นถึงแนวทางของการอนุรักษ์เห็ดตับเต่า ที่ให้ให้เป็นพืชพื้นถิ่นที่มีคุณค่าโดยเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน ที่มีบริการ เรือ และรถราง พาชมวิถีชีวิตชุมชน ที่มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกษตรกรรมทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้รองรับ โดยปัจจุบันมีที่พักเชิงนิเวศ มีการทำประมงวิถีชีวิตพื้นบ้าน ทั้งนี้ ยังเป็นการสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกด้วย

 

ช่วงวันหยุดยาวนี้ อย่าลืมแวะไปเที่ยวงาน ไปชิมเห็ดตับเต่า ได้ ไปรู้จักเห็ดตับเต่าสำหรับการจัดงาน วันเห็ดตับเต่างาม ที่สามเรือน ที่ตำบลสามเรือน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยงานจัดถึงวันที่ 26 ก.ค. นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน