เนื้อจำแลงแห่งอนาคตเทรนด์เพื่อคนรักสุขภาพ – ด้วยความที่ คุณภู-วิภู เลิศสุรพิบูล คลุกคลีในวงการนำเข้า-ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารและจบการศึกษาด้านสาขาวิทยาศาสตร์ ทำให้มองเห็นเทรนด์ ของโลกว่านอกจากคนต้องการบริโภคอาหารสะอาด ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพแล้ว อาหารที่บริโภคนั้นจะต้องดีต่อสิ่งแวดล้อม

คุณภู จึงมีแนวคิดจะผลิตอาหารที่ให้คุณค่าทั้งต่อผู้บริโภคและโลกไปในเวลาเดียวกัน และนั่นจึงเป็นที่มาของแบรนด์ “Meat Avatar”

หากถามว่า Meat Avatar คืออะไร คุณภู ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ อธิบายว่า คือแบรนด์ที่ ผลิตเนื้อจากพืชผัก 100% (plant-based meat) หรือ “เนื้อจำแลงแห่งอนาคต” ที่ถือได้ว่าเป็นเจ้าแรกของไทยใช้วัตถุดิบในประเทศไทย ซึ่งทำให้คนไทยสามารถหาซื้อได้ในราคาที่ไม่แพง แค่ร้อยกว่าบาทเท่านั้น แถมยังมีการจัดโปรโมชั่นตลอดในราคาพิเศษ

เนื่องจากคิดค้นเองทำให้เข้าใจความต้องการของคนไทยและ ชาวเอเชีย ทำให้ได้รับการตอบรับอย่างดี แม้จะเพิ่งวางจำหน่ายในช่วงเดือนเม.ย.2563 เพราะเนื้อของ Meat Avatar วางขายในรูปแบบแช่แข็งสามารถนำไปปรุงหรือประกอบอาหารไทยได้ทุกชนิดไม่ต่างจากเนื้อจริงๆ

มีทั้ง “หมูกรอบจำแลง” ที่ทำจากถั่วเหลืองแล้วทำให้เป็นสีใส เลียนแบบชั้นมัน ส่วนตัวเนื้อและหนังที่อยู่ข้างนอกทำมาจากเบส ถั่วเหลืองมาประกอบกัน

“หมูสับจำแลง” ทำมาจากเห็ดหอมเป็นหลัก ทำให้เวลาเคี้ยวแล้วมีรสสัมผัสเหมือนเนื้อหมูสับจริง และใส่ถั่วเหลืองลงไปเพื่อเพิ่มผิวสัมผัสและความยืดหยุ่นอีกเล็กน้อย และ ไข่ดาวจำแลง ทำมาจากแครอต ฟักทอง และบีตรูต เพราะเป็นพืชที่ให้สีโทนส้มแบบไข่แดง ส่วนตัวไข่ขาวทำมาจากเต้าหู้ ซึ่งผลิตมาจากถั่วเหลืองอีกที พอทอดแล้วจะได้ความกรอบ ได้เนื้อสัมผัสเหมือนไข่แดงสุก

พูดถึงตรงนี้โดยเฉพาะหมูกรอบที่เห็นครั้งแรกยอมรับว่าแยกไม่ออกว่าเป็นของจริงหรือผลิตภัณฑ์จาก Meat Avatar ถ้าไม่จับมาส่องดูแบบชัดๆ ก็จะไม่มีทางรู้เลยว่านั่นไม่ใช่ เนื้อหมูจริงๆ เพราะทำออกมาได้เนียนมากๆ แม้กระทั่งรสชาติก็แทบจะไม่แตกต่างจาก หมูกรอบแท้ๆ สมกับการใช้เวลาพัฒนาสินค้ามานานกว่า 5 ปี ซึ่งเกิดจากการคิดค้นของทีมงานผู้ก่อตั้งเองและได้ขอคำปรึกษาแนะนำจากสถาบันการศึกษา วิจัยต่างๆ จนได้ผลิตภัณฑ์นี้ออกมาในรูปแบบที่ลงตัว

โดยกลุ่มลูกค้ามีทั้งผู้ที่กินเจ กินมังสวิรัติ และผู้ที่ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ในบางมื้ออาหาร

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์คือมีรูปลักษณ์ภายนอกเนื้อสัมผัสที่เหมือนเนื้อจริงๆ แต่ ไขมันต่ำ และโปรตีนสูง ทำให้ไม่ต้องทนหรือฝืนกินแบบอาหารเจที่ทำจากถั่วเหลืองทั่วไปที่เราคุ้นเคย ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้รู้สึกสบายใจในการกินเนื้อที่ทำจากพืชผักอย่าง Meat Avatar และมีความปลอดภัยจากสารเคมีต่างๆ ที่อาจปนเปื้อนมาในเนื้อสัตว์จากการฉีดยา หรือฮอร์โมนต่างๆ

สำหรับวิธีการนำไปใช้ก็ไม่ยุ่งยากแค่นำสินค้ามาละลายในอุณหภูมิตู้เย็น (2-4 องศา) หรือนำสินค้าที่ยังปิดผนึกแช่น้ำจนละลายทอดในน้ำมันด้วยไฟกลาง-สูง จนสีน้ำตาลทอง ปรุงเป็นอาหารจานโปรดได้ตามต้องการเลย

นอกจากนี้ คุณภูยังมองว่าแบรนด์ Meat Avatar ยังช่วยลด “คาร์บอน ฟุตพรินต์” หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เพราะการทำปศุสัตว์มีส่วนในภาวะโลกร้อนถึง 18% และปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการคมนาคมหลายเท่า การกินอาหารจากพืชแทนเนื้อสัตว์เลยเป็นการตัดวงจรโลกร้อน และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปด้วย

สำหรับเป้าหมายต่อไปคือ การส่งออกให้ไปสู่ต่างประเทศทั่วโลก แต่ขณะนี้กำลังการผลิตยังอยู่ที่ 500-1,000 ก.ก.ต่อวัน หากส่งออกต้องมีการขยายโรงงานรองรับการเติบโตของตลาดต่อไป

ขณะนี้ขอศึกษาตลาดเพิ่มเติม และขอให้ตลาดในประเทศมีความมั่นคงมากกว่านี้ก่อน โดยเฉพาะช่องทางการขายให้กับร้านอาหาร ภัตตาคารและโรงแรมและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ระหว่างการติดต่อกับผู้จัดจำหน่ายสินค้า เพราะที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ของ Meat Avatar จะจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำเท่านั้น ยังไม่ได้เข้าไปในกลุ่มลูกค้าร้านอาหาร ภัตตาคาร และโรงแรม สำหรับรายได้ของการจำหน่ายสินค้า ในระยะที่ผ่านมา 4-5 เดือนเฉลี่ยรวมๆ ประมาณ 2-3 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามแผนมากนัก เพราะตั้งเป้าไว้ว่าในปีแรกจะทำรายได้ประมาณ 100 ล้านบาท จากช่องทางการจำหน่ายทั้งหมดที่มี แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า แต่ก็ไม่น่าห่วง เพราะจากการตอบรับของลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้นตลอด

เป้าหมายต่อไปไม่เกิน 2 ปีจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นเนื้อสเต๊ก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และมั่นใจว่าภายใน 3-5 ปีจากนี้จะทำรายได้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 1,000 ล้านบาท

สำหรับลูกค้าที่สนใจผลิตภัณฑ์ของ Meat Avatar สั่งได้ทั้งช่องทางออนไลน์ และที่ กรูเมต์ มาร์เก็ต โฮม เฟรชมาร์ท

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ @Meat Avatar เฟซบุ๊ก MeatAvatar

วรนุช มูลมานัส

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน