รายงานพิเศษ

สาหร่ายเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์มาก สามารถนำมากินสด แปรรูป ทำอาหารเสริม และทำผลิตภัณฑ์เสริม ความงามได้ด้วย มีทั้งสาหร่ายน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ซึ่งแต่ละชนิดให้คุณค่าทางโภชนาการแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่อุดมไปด้วยแคลเซียม เเมกนีเซียม โพแทสเซียม ทองแดง และธาตุเหล็ก

นางศิริพร คำหว่าง

วันก่อนได้คุยกับ “นางศิริพร คำหว่าง” ประธานวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสาหร่ายน้ำจืด บ้านหนองบัว ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน ซึ่งนำสาหร่ายน้ำจืดมาแปรรูป โดยเน้นทำเป็น “สาหร่ายแผ่นทรงเครื่อง-สาหร่ายแผ่นเลิศรส” ชื่อแบรนด์ “สายใยบัว” และยังมีผลิตภัณฑ์อีกหลายอย่าง ที่มีอย.รับรอง แถมเป็นโอท็อปมีชื่อของ จ.น่าน ด้วย

นางศิริพรชาวไทลื้อผู้นี้ เกริ่นที่มาที่ไปของธุรกิจนี้ว่า ในภาษาพูดชาวไทลื้อเรียกสาหร่ายว่า “ไก” กลุ่มเริ่มตั้งเมื่อปี 2545 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหญิงและชาย 190 คน ธุรกิจของกลุ่มเริ่มต้นจากการที่หมู่บ้านหนองบัว เป็นหมู่บ้านไทลื้อ ซึ่งกินสาหร่ายมานานเกือบ 200 ปีมาแล้ว เพราะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ชาวไทลื้อเก็บสาหร่ายมาทำเป็นกับข้าว และมักบอกต่อกันมาว่าเมื่อกินสาหร่ายแล้วทำให้ผมดกดำ อายุยืนยาว ความจำดี

ขั้นตอนหนึ่งของการแปรรูป

ประกอบกับเมื่อปี 2547 ดร.ยุวดี พีรพรพิศาล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้นำสาหร่ายไกจากกลุ่มแปรรูปสาหร่ายหนองบัวไปวิจัย พบว่ามีคุณค่าทางอาหารมากกว่าสาหร่ายทะเลเท่าตัว คือมีโปรตีนสูงเท่าๆ กับเนื้อปลาและเนื้อไก่, มีเบต้าแคโรทีน และสารต้านอนุมูลอิสระ, มีวิตามิน บี 1 และ บี 2 มากกว่าผัก, มีวิตามินบี 12 ซึ่งช่วยส่งเสริมความจำและช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง, มีธาตุเหล็กและแคลเซียมช่วยบำรุงสมอง กระดูก และฟันให้แข็งแรง, มีเส้นใยกากอาหารสูงป้องกันอาการท้องผูก

สาหร่ายสดๆ

ช่วงปี 2549 กลุ่มนำผลิตภัณฑ์มาขายที่เมืองทองธานี ทำให้ผู้บริโภคหันมารับประทานสาหร่ายน้ำจืดนี้มากขึ้น โดยนำมาแปรรูปเป็นสาหร่ายแผ่น คล้ายๆ ส่าหร่ายยี่ห้อเถ้าแก่น้อย แต่ไม่เค็มเพราะใช้น้ำตาลโตนดแทนชูรส ซึ่งผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีหลากหลาย โดยสาหร่ายแผ่นขายดีอันดับหนึ่ง และได้รับการคัดสรรเป็นโอท็อป 5 ดาวของ จ.น่าน เมื่อปี 2562 ขาย 3 ซอง 100 บาท ตามด้วยสาหร่ายเลิศรสเป็นผงแบบโรยข้าว ได้ โอท็อป 4 ดาว และน้ำพริกสาหร่าย ได้โอท็อป 4 ดาวเช่นกัน ซึ่ง น้ำพริกสาหร่ายไกเพิ่มมูลค่าด้วยการเติมมะแขว่นกับข่าเพื่อให้มีคุณค่าทางอาหารมากขึ้น ถือเป็นอาหารพื้นถิ่นไทยแท้ของไทลื้อ

นอกจากนี้กลุ่มยังมีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่คือ สาหร่ายธัญพืช แต่ยัง ไม่ได้เข้ารับการคัดสรร ในส่วนธัญพืชมีทั้งข้าวกล้องงอก เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วเหลือง ถั่วทอง ถั่วลิสง ถั่วเขียว งาขาว งาดำ งาขี้ม่อน เพื่อสุขภาพ ใช้เนยสดและใช้น้ำตาลมะพร้าว สามารถนำไปทำต้มจืด แกงต่างๆ จะหอมและสะอาด ขายซองละ 35 บาท 3 ห่อ 100 บาท ถ้าเก็บใส่ตู้เย็นอยู่ได้เป็นปี เป็นเส้นใยและกากอาหารเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ทางกลุ่มยังทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วยอย่าง น้ำพริกลาบ และ น้ำพริกข่า-มะแขว่น

สำหรับ ‘ไก’ นี้ขึ้นตามธรรมชาติ เป็นเส้นยาวสีเขียวสด ยาว 1-2 เมตร อยู่ใต้ท้องน้ำ 30-50 ซ.ม. เกาะอยู่ตามก้อนหินในน้ำไหลเอื่อยๆ เป็น น้ำสะอาดบริเวณต้นน้ำแม่น้ำน่าน อ.ทุ่งช้าง จนถึง อ.เวียงสา แต่จะมีมากที่สุดที่ อ.ท่าวังผา เก็บได้ในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนเมษายน พอเข้าเดือนพฤษภาคม ถ้าฝนตกสาหร่ายเหล่านี้จะหลุดทันที

เมื่อได้สาหร่ายไกมาจากแม่น้ำน่าน ต้องล้างให้สะอาด 5-10 น้ำ แล้วนำไปตาก ก่อนเข้าตู้อบร้อนใช้เวลา 3-5 ชั่วโมง จะได้สาหร่ายไกอบแห้ง ส่วนการทำสาหร่ายแผ่น พอล้างน้ำแล้วก็สับให้เป็นชิ้นๆ จากนั้นนำมาเข้าเครื่องปั่นให้ละเอียดผสมสูตรปรุงรส แล้วนำมาคั่วเคี่ยวกวนในเตากระทะ 30 นาที พอเสร็จก็มาแผ่คลึงลงถาด แล้วเข้าตู้อบทิ้งไว้ 8-9 ชั่วโมง เพื่อให้แห้งจริงๆ

นางศิริพรบอกว่า การทำผลิตภัณฑ์สาหร่ายยากต่อการผลิตให้ทันกับความต้องการของลูกค้า เนื่องจากไกสด 40-50 กิโลกรัม (ก.ก.) เมื่อแห้งแล้วเหลือเพียง 2-3 ก.ก. เท่านั้น

“ขั้นตอนการผลิตของกลุ่มใช้มือทำทุกอย่าง ส่งผลให้ล่าช้า คิดว่าน่าจะพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยเข้ามาช่วย เช่น การกลิ้งสาหร่าย การกวนสาหร่าย จะทำให้ประหยัดเวลาในการทำงานขึ้นมาก รวมถึงการอบด้วย อย่างสาหร่ายของเถ้าแก่น้อยใช้สายพานความร้อนให้แห้งเลย แต่ของกลุ่มต้องไปอบตู้อบลมร้อน ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง ทำให้เปลืองค่าแก๊ส”

ที่ผ่านมามีหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งเข้ามาช่วยส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มดังกล่าว จนมีโรงเรือนมาตรฐานที่ผ่านการรับรองของอย. ซึ่งพูดได้ว่าเป็นสาหร่ายน้ำจืดแห่งเดียวในลุ่มน้ำน่านที่มีโอท็อป 5 ดาวการันตีความอร่อย ปัจจุบันนอกจากกลุ่มนี้จะนำผลิตภัณฑ์ออกขายตามงานต่างๆ ทั้งที่ จ.น่าน และกทม. แล้ว ยังขายผ่านทางออนไลน์ด้วย

เป็นวิสาหกิจอีกกลุ่มที่นำผลผลิตใน ท้องถิ่นมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ทำให้คนในชุมชนมีรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

 

ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน