“นิชานันท์ นิวาศะบุตร”

แนวโน้มของสังคมมีความเป็นพหุสังคมมากขึ้น หมายถึงมีความหลากหลายในสังคมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลจากโลกาภิวัตน์ องค์กรยุคใหม่จึงต้องจัดการความหลากหลาย (Diversity Management) เป้าหมายสูงสุดคือ ต้องไม่มีความแตกแยกในองค์กรเพื่อให้องค์กรแห่งความสุข

พนักงานต้องรู้สึกว่าที่ทำงานคือ “บ้าน” ของตนเอง และมีความสุขที่ได้อยู่บ้านหลังนี้ ส่งเสริมให้ปรับตัวในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศูนย์องค์กรสุขภาวะ สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดตั้งศูนย์เรียนรู้องค์กรแห่งความสุข 7 แห่งต้นแบบ Happy Workplace Forum “เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของนักสร้างองค์กรแห่งความสุข” ถ่ายทอดความรู้วิชาการและการปฏิบัติจากประสบการณ์จริงจากศูนย์เรียนรู้องค์กรแห่งความสุข ทั้ง 7 แห่ง ให้เป็นแหล่งศึกษาดูงานในภูมิภาคต่างๆ

ศูนย์เรียนรู้องค์กรแห่งความสุข 7 แห่งต้นแบบทั่วภูมิภาคได้แก่ ภาคเหนือ บริษัท ผึ้งน้อย เบเกอรี่ จำกัด ภาคตะวันออก บริษัท เจ.เอช. อุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด ภาคตะวันตก บริษัท ริกิ การ์เม้นส์ จำกัด ภาคกลาง บริษัท แม่น้ำสแตนเลสไวร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท โรงงานฟุตบอลล์ไทย สปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด (เอฟบีที) ภาคใต้ บริษัท สงขลาแคนนิ่ง จำกัด (มหาชน)

ภายในงานยังมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ CoP สร้างสุข (CoP : Community of Practice หรือชุมชน นักปฏิบัติ) ตามแนวคิดด้านการสร้างองค์กรแห่งความสุขท่ามกลางความ หลากหลายทางเชื้อชาติว่า ต้องหลอมรวมพนักงานให้เกิดความรู้สึกว่าเพื่อนร่วมงานคือสมาชิกในครอบครัว

นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวย การสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวถึงการสร้างความสุขภายในองค์กรว่า ปัจจุบันโลกกำลังอยู่ในกระแสที่ต้องดูแลบริหารคนมากขึ้น องค์กรที่จะเกิดความยั่งยืนได้ ต้องเกิดจากนายจ้างและพนักงานที่ทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข ต้องเริ่มจากทำให้ที่ทำงานกลายเป็น “บ้าน” มีบรรยากาศอบอุ่น น่าทำงาน น่าอยู่ร่วมกัน

“เมื่อใดที่เรารู้สึกอยากถึงวันหยุดเร็วๆ เบื่อที่จะต้องไปทำงาน นั่นแสดงว่าตัวพนักงานไม่พร้อมที่จะทำงานกับองค์กรเต็มที่ และองค์กรเองก็ไม่พร้อมที่จะทำ งานร่วมกับพนักงานอย่างเต็มที่ สุดท้ายจึงเกิดผลเสียที่ตามมาอีกนานัปการ”

สิ่งสำคัญที่สุด คือพนักงานองค์กรต้องมีความสุข สสส.จึงมุ่งเน้นการสร้างเสริมพนักงานบุคลากรให้มีทั้งสุขภาพที่ดีและ มีความสุข โดยยึดหลักความสุข 8 ประการ (Happy 8) คือ 1.สุขภาพดี 2.น้ำใจงาม 3.สังคมดี 4.ผ่อนคลาย 5.หาความรู้ 6.ทางสงบ 7.ปลอดหนี้ และ 8.ครอบครัวดี

น.ส.ธัญลักษณ์ บุญประคอง เจ้าหน้าที่แผนกพัฒนาบุคลากร บริษัทสงขลา แคนนิ่ง จำกัด (มหาชน) บริษัทที่นำองค์กรสู่ Happy Work Place องค์กรแห่งความสุข กล่าวว่า ทรัพยากรด้านคนเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ภายในองค์กรประกอบด้วย 3 สัญชาติ คือ ไทย พม่า และกัมพูชา จึงจำเป็นต้องจัดกิจกรรมต่างๆ ให้เท่าเทียม กัน เพื่อสมดุลทางอำนาจและการบริหารที่ดีมากขึ้น

“เราพบปัญหาในพนักงานระดับปฏิบัติการ เช่น เจอโรคที่เกิดจากการทำงาน เนื่องจากพนักงานยืนท่าเดิมๆ และได้รับบาดเจ็บ เมื่อพนักงานลาทำให้สินค้าที่ผลิตมีจำนวนลดลง นี่คือปัญหาที่เราสนใจและเริ่มนำหลักองค์กรแห่งความสุขเข้ามาบูรณาการ วิเคราะห์จากปัญหาที่เกิดขึ้น และจัดกิจกรรมให้เป็นประโยชน์ต่อตัวพนักงานให้มากที่สุด

เช่น ทางองค์กรได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่ามีพนักงานไปเก็บพืชผักของชาวบ้านในชุมชนมาทำอาหาร จึงแก้ปัญหาโดยจัดกิจกรรมปลูกผักสวนครัวยังชีพและสร้างรายได้ ลดปัญหาดังกล่าว ด้านสุขภาพ อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคที่เกิดจากการทำงาน

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมต้นกล้าอาชีพสนับสนุนอาชีพ และรองรับอาชีพหลังเกษียณอายุการทำงาน เช่น การสอนทำอาหารและงานฝีมือ การออมเงิน โดยการสนับสนุนจากธนาคารออมสินมารับฝากเงินที่องค์กร ส่งเสริมให้พนักงานเปลี่ยนเงินกู้นอกระบบเป็นเงินกู้ในระบบ ให้ความรู้การบริหารเงิน เป็นต้น ทางองค์กรพยายามที่จะจัดกิจกรรมให้ครอบคลุมพร้อมกันทั้ง 3 สัญชาติ และทุกๆ ปี ประเมินความสุขตามแบบฟอร์มของสสส. และพบว่าคุณภาพชีวิตของพนักงานในองค์กรดีขึ้นตามลำดับ”

สําหรับแนวคิดการสร้างองค์กรแห่งความสุขด้วย MIO (Mindfulness In Organization) หรือการสร้างสุขด้วยสติในองค์กร ดร.วิภาภรณ์ เกียรติอำนวย รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.เอช.อุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า เอ็มไอโอ คือแนวคิดที่ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขเสนอขึ้น เป็นเรื่องของการฝึกสติด้วยการทำสมาธิที่มุ่งเน้นการยกระดับพัฒนาจิตใจของพนักงานในองค์กร ที่ต้องอาศัยการทำอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรให้ตระหนักถึงคุณค่าของคนอื่นและรู้เท่าทันความคิดของตัวเอง

เชื่อว่าคุณภาพของพนักงานที่เริ่มจาก การยกระดับจิตใจขึ้นก่อน ทำให้ไม่ว่าจะเผชิญกับสถานการณ์ที่แย่ขนาดไหนก็จะสามารถเข้าใจ ยอมรับ และเดินหน้าต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้องค์กรสามารถก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืน

การจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของนักสร้างองค์กรแห่งความสุขจึงเป็นโอกาสดีในการเรียนรู้ประสบการณ์จริงจากศูนย์เรียนรู้องค์กรแห่งความสุขทั้ง 7 แห่งต้นแบบ เพื่อเป็นแนวทางการขับเคลื่อนองค์กรที่มีความสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน