ในอดีตจังหวัดบุรีรัมย์ประสบภาวะแห้งแล้ง ไม่มีนา ไม่มีข้าว ไม่มีน้ำ หลังเข้าสู่โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นำภูมิปัญญาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่เป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นมานานกว่า 5 ทศวรรษ สร้างสรรค์ผืนผ้าจนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่รู้จักในนาม “ผ้าไหมบ้านนาโพธิ์”

เมื่อไม่นานนี้ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนว พระราชดำริ นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านนาโพธิ์

ดูความก้าวหน้า แนวคิด และการผลิต นับแต่อดีตกระทั่งประสบความสำเร็จ ในปัจจุบัน จนสามารถเปิดตลาดขายบน เครื่องบิน

นางประคอง ภาสะฐิติ อายุ 75 ปี ประธานศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านนาโพธิ์ กล่าวว่าพ่อแม่เล่าให้ฟังว่าในอดีตชาวบ้านนาโพธิ์แร้นแค้นยากจน ไม่มีข้าว น้ำเป็นของหายาก ต้องเดินทาง ไปหาตาน้ำ ไปรอกันเป็นวันกว่าจะได้น้ำมากิน ส่วนข้าวต้องเดินทางไปขอจากต่างหมู่บ้าน จนชาวนาโพธิ์เป็นที่รู้จักในนามหมู่บ้านขอทาน แต่เมื่อปี 2516 ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) กองเลขานุการในพระองค์ และท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ นางสนองพระโอษฐ์ ราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เข้ามาร่วมสนับสนุนชาวบ้าน

พร้อมจัดตั้งศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านนาโพธิ์ ในปี 2542 เกิดการรวบรวมชาวบ้านที่มีฝีมือการทอผ้าไหมที่สวยงาม ก่อนจะชนะการประกวดผ้าไหมในระดับภาคและระดับประเทศ ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการ ส่งเสริมอาชีพตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการสืบสานงานทอผ้าไหมไทย สนองแนว พระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

หลังได้รับความนิยม ศูนย์หัตถกรรม พื้นบ้านนาโพธิ์ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนราชการต่างๆ เข้ามาช่วยเรื่องสีธรรมชาติและเรื่องอื่นๆ สอนวิธีทำผ้าไหมลายใหม่ ส่งเสริมการทำลายดั้งเดิมพื้นเพของชาว นาโพธิ์ และรับซื้อผ้าไหมไปขายที่มูลนิธิ ศิลปาชีพ ร้านภูฟ้า และงานโอท็อปต่างๆ โดยเฉพาะงานโอท็อปที่เมืองทองธานี สร้างรายได้ให้ชาวนาโพธิ์จำนวนมาก

“ผ้าไหมของศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านนาโพธิ์ ที่ได้รับความนิยมคือผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ รวมไปถึงลายดั้งเดิม อาทิ ลายพญานาค ลายช่องพลู ลายบันไดสวรรค์ และลวดลายสมัยใหม่ที่ปรับตามความต้องการของตลาด ผ้าบ้านนาโพธิ์มีจุดเด่นคือการทอมือ เนื้อแน่น เส้นใหญ่ ไม่มันวาว เส้นไหมละเอียด แม้เนื้อผ้าจะแน่น แต่เบาโปร่งสบาย สร้างรายได้ ให้สมาชิกศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านนาโพธิ์ ประมาณ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน” นางประคองกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน