น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

ฉบับวานนี้ (18 มิ.ย.) “น้องบัว” ขอรายละเอียดภาพโบราณที่ผาแต้ม เมื่อวานกล่าวถึงภาพรวม โดยเฉพาะการค้นพบแล้ว วันนี้ตระเวนชมภาพไปกับข้อมูลจาก ฐานข้อมูลภาพงานศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร www.era.su.ac.th

มาดูรายละเอียดกัน เริ่มจาก ผาขาม ภาพปลาขนาดใหญ่ 4 ตัว ยาว 0.35-1 เมตร เขียนด้วยสีแดง แบบเห็นโครงสร้างภายใน (x-ray) และมีภาพช้าง 1 ตัว ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าปลามาก (ประมาณ 13 ซ.ม.) และภาพสัตว์สี่เท้า 1 ตัว

ผาแต้ม ภาพเขียนปรากฏมีตลอดแนวหน้าผายาว 180 เมตร สูงจากพื้นประมาณ 4-5 เมตร ภาพที่เขียนลงสีไว้มีมากกว่า 300 รูป ที่ผาแต้มนี้มีภาพที่เกิดจากการฝนเซาะร่องลงไปในเนื้อหิน เป็นลายเส้นเรียงแถวตามแนวตรงบ้าง เฉียงบ้าง แนวนอนบ้าง สูงตั้งแต่ 5-15 ซ.ม. ส่วนนี้ยังคงมีหลงเหลืออยู่ในช่วงยาวประมาณ 80 ซ.ม.เท่านั้น อาจเป็นภาพสัญลักษณ์บางอย่าง

สำหรับภาพเขียนสีซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เขียนด้วยสีแดง มีสีดำและสีขาวบ้าง แบ่งเป็น ภาพคนซึ่งมีขนาดเล็ก พบเพียง 10 ภาพ, ภาพสัตว์ เช่น ช้าง ปลา เต่าหรือตะพาบน้ำ สุนัข วัว ไก่หรือนก เป็นต้น มักแสดงภาพขนาดใหญ่ราวกับเท่าของจริง โดยเฉพาะช้างและปลาที่มีขนาดยาวถึง 4 เมตร สูงประมาณ 3 เมตร ภาพสัตว์พบประมาณ 30 ภาพ ทั้งภาพคนและสัตว์ มักอยู่ในอาการเคลื่อนไหว, ภาพวัตถุสิ่งของ อาจเป็นเครื่องมือจับปลาที่เรียกว่า “ตุ้ม” และหน้าไม้ หรือคันธนูซึ่งคนกำลังถือใช้งานอยู่

ยังมีภาพสัญลักษณ์ เป็นลายเส้นวกเวียนไปมา หรือเป็นเส้นหยัก ลูกคลื่น หรือฟันปลา ซึ่งอาจหมายถึงน้ำ หรือกับดักปลา ลายก้างปลา ลายรูปทรงเรขาคณิต ลายเส้นขนานคล้ายทุ่งนา เป็นต้น, ภาพมือ พบอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 200 มือ มีทั้งมือผู้ใหญ่ มือเด็ก และมีทั้งสีแดง สีดำ สีขาว ภาพทุกประเภทเขียนอยู่ร่วมกันเสมอ โดยเฉพาะภาพมือ ปรากฏมีสอดแทรกกับภาพ อื่นๆ ทุกภาพ

ภาพเขียนส่วนมากเขียนแบบระบายสีเงาทึบ นอกนั้นเป็นแบบโครงร่างรอบนอก และแบบกิ่งไม้ ส่วนภาพมือมีหลายแบบ มีทั้งแบบพ่น แบบทาบ และแบบเขียนเส้นโครงรอบนอก

ผาหมอนน้อย ภาพคนสูง 1.6 เมตร กำลังเหนี่ยวคันธนูเล็งไปยังสัตว์สี่ขา อาจเป็นวัวท้อง ลำตัวยาว 6.4 เมตร, ภาพคนสูง 1.2 เมตร กำลังไล่สัตว์สี่ขามีเขา อาจเป็นกวางที่บุกรุกเข้าไปในนาข้าว รอบๆ ภาพกลุ่มนี้มีภาพมือทั้งซ้ายและขวาประมาณ 20 มือ ทำขึ้นโดยการทาสีบนฝ่ามือแล้วขูดสีบางส่วนที่นิ้วและฝ่ามือออกแล้วจึงทาบมือลงบนผนัง ถัดมาเป็นภาพสัตว์สี่ขา 3 ตัว ท้องป่องคล้ายท้องเช่นกัน กับภาพลายเส้นคล้ายตาข่ายดักสัตว์ นอกจากนี้ก็มีภาพลายเส้นคู่ขนานต่อกัน และภาพมือที่มีลักษณะเช่นเดียวกับกลุ่มแรกอีก 15 มือ เรียงกันเป็นแถวยาว กับลายเส้นหยักขึ้นลงวกไปมา โดยภาพคนและสัตว์ระบายสีแดงแบบเงาทึบ

และ ผาหมอน ภาพทั้งหมดเขียนด้วยสีแดงแบบระบายเงาทึบ ประกอบด้วยภาพคนและสัตว์ กลุ่มแรกมีภาพคนเพียงคนเดียวกับภาพสัตว์สี่ขา 11 ตัว อาจเป็นช้าง วัว สุนัข และหมูหรือแกะหรือแพะ เดินตามกันไปในทิศทางเดียวกัน (ยกเว้นสุนัข ที่หันหน้าเข้าหาฝูงสัตว์) กลุ่มที่สองเป็นภาพคนประมาณ 10 คน เขียนแบบระบายเงาทึบกับแบบกิ่งไม้ มีลักษณะค่อนข้างเหมือนจริง แสดงกล้ามเนื้อน่องโป่งพองด้วย ภาพที่น่าสนใจของที่ผาหมอนนี้คือภาพคนนุ่งกระโปรงยาวครึ่งน่อง ยืนเท้าสะเอว มีขนาดใหญ่กว่าภาพคนอื่นๆ ไม่รู้แน่ว่าเป็นหญิงหรือชาย ทั้งมีภาพมือข้างขวาของผู้ใหญ่แบบพ่น 2 มือ แบบทาบ 2 มือ และมือเด็กแบบทาบอีก 2 มือ

เป็นที่น่าสังเกตว่าภาพเขียนสีที่ผาแต้มและผาหมอนน้อย ภาพทุกประเภทมีความสัมพันธ์เป็นเรื่องราวเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นภาพคนกับวัวกับภาพมือ ภาพปลากับมือ ภาพตุ้มกับมือ และสัญลักษณ์ ภาพทุ่งนากับคนกับกวางกับมือ ภาพคนกำลังล่าวัวหรือกวาง เหล่านี้จะเห็นได้ว่ามีภาพมือเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเสมอ อาจหมายถึงการร่วมมือร่วมแรงกันทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น ร่วมมือกันจับปลา ทำการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ หรือล่าสัตว์ แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้วาดภาพเหล่านั้นว่าอยู่ในสังคมเกษตรกรรม และยังอาจหมายถึงการมีความเชื่อร่วมกันในเรื่องความอุดมสมบูรณ์

ตรงนี้น้าชาติพาย้อนไปที่ “ตุ้ม” กันหน่อย อาจารย์ศรีศักรอธิบายภาพสามเหลี่ยมคว่ำไว้ว่า ไม่ใช่ตุ้มที่ใช้ในการจับปลา ตามที่ได้ตีความกันไว้ก่อนหน้านี้ แต่เป็นคนสวมหมวก เป็น ผู้ประกอบพิธีกรรม ซึ่งก็คือหมอผี โดยพบได้ทั่วไปในสังคมมนุษย์สมัยแรกเริ่มก่อนประวัติศาสตร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน