แรงบันดาลใจในการออกแบบแฟชั่นมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบ พริม จุฬาลักษณ์ ไชยการ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สร้างสรรค์เปลี่ยน “เบนโตะ” หรือกล่องข้าวญี่ปุ่น เป็นชุดดีไซน์สวยงาม หรูหรา เข้าตากรรมการ คว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขัน Sakura Collection 2018 Asia Student Award in Thailand โครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาและนักออกแบบสมัครเล่นในทวีปเอเชีย เข้าร่วมแข่งขันการออกแบบแฟชั่น โดยมีหัวข้อการแข่งขัน คือ “ประเทศญี่ปุ่น”

พริมกล่าวว่า “เบนโตะ” หรือ “กล่องข้าวญี่ปุ่น” มีลักษณะเป็นช่องๆ สำหรับใส่อาหารแยกประเภท จึงนำลักษณะนี้มาออกแบบชุด ผสมผสานเข้ากับเทคนิคการทอ เพื่อสื่อถึงอาหารหลากหลายชนิดในเบนโตะ เช่น ข้าวญี่ปุ่น ผักต้ม ปลาย่าง สาเก ซูชิ

เบนโตะยังมีวิธีการห่อเพื่อสะดวกต่อการพกพาที่เรียกว่า “ฟุโรชิกิ” (Furoshiki) วัฒนธรรมการห่อของด้วยผ้าในประเทศญี่ปุ่น ผ้าที่นำมาห่อจะมีลวดลายสวยงามและพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตามยุคสมัย จึงเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบลวดลายขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมการกินของชาวญี่ปุ่น ที่เลือกวัตถุดิบตามฤดูกาลมาปรุงอาหาร ได้แก่ ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผลิ และฤดูร้อน

ผ้าที่พิมพ์ลวดลายเป็นผ้าทิ้งตัว เมื่อนำไปพิมพ์ลายด้วย เทคนิคซิลก์สกรีนจะได้สีที่สวยงาม ผ้าที่ใช้ห่อหรือมัดจะมีเนื้อผ้าคงรูป เพื่อแสดงรูปแบบการห่อและมัดได้อย่างชัดเจน วัสดุที่ใช้ในเทคนิคการทอ ได้แก่ ไหมพรม ด้าย และเส้นใยหนาที่มีผิวสัมผัสนุ่ม นอกจากนั้นยังใช้เทคนิคการสานหวายอันเป็นวัสดุจากธรรมชาติเพื่อสื่อถึง “เบนโตะดั้งเดิม” ที่ใช้ไม้ทำและยังสื่อถึงเสื่อไม้ไผ่ที่นิยมนำมาปั้นข้าวหรือทำซูชิ

พริมเล่าต่อว่าโทนสีของชุดเลือกใช้สีหลักที่แฝงความหมายของความรัก ได้แก่ สีแดง คือความรักที่มั่นคง, สีขาว ความรักที่บริสุทธิ์ และสีดำ ความรักนิรันดร์ เพราะเบนโตะเปรียบเสมือนตัวแทนความรักที่ภรรยาจัดเตรียมให้สามี ไปทำงาน พ่อแม่เตรียม เบนโตะให้ลูกไปโรงเรียน หรือแม้แต่ในวัยหนุ่มสาวให้เบนโตะเพื่อแสดงความรักในโอกาสต่างๆ อีกทั้งยังใช้สีเขียว สีทอง สีเหลือง สีเทา และสีน้ำตาล ในการทำลวดลายเพิ่มเติม

จากการชนะการประกวดในครั้งนี้ พริมจึงเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ด้านการออกแบบแฟชั่น และเรียนคอร์สแฟชั่นระยะสั้นกับสถาบันบุนกะแฟชั่น ประเทศญี่ปุ่น พร้อมโชว์ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศร่วมกับประเทศอื่นๆ ที่ร่วมโครงการ บนรันเวย์ คอลเล็กชั่น เจแปน แฟชั่น ที่ญี่ปุ่น

พริมกล่าวว่า ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ได้โอกาสไปเรียนรู้การออกแบบแฟชั่นที่ญี่ปุ่น เพราะที่ญี่ปุ่นมีการเรียนการสอนที่เป็นมืออาชีพ ส่งผลให้ตนเองเกิดการพัฒนาด้านฝีมือการออกแบบ ได้รับความรู้และเทคนิคด้านแฟชั่นที่หลากหลาย และได้แลกเปลี่ยนความรู้ด้านแฟชั่นกับผู้เชี่ยวชาญ เปรียบเสมือนการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ แต่เหนือสิ่งอื่นใดการได้ร่วมโชว์ผลงานบนรันเวย์ระดับนานาชาติถือเป็นประสบการณ์ที่มิอาจประเมินค่าได้

“โอกาสไม่ใช่สิ่งที่จะมาหาเราได้ง่ายๆ บางครั้งเราต้องหาโอกาสให้ตัวเอง เมื่อได้รับโอกาสนั้นแล้วต้องทำให้เต็มที่ที่สุด ไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไรต้องอดทนและพยายามก้าวผ่านไปให้ได้ ไม่มีอุปสรรคไหนใหญ่เกินความพยายาม แม้ไม่มีประสบการณ์แต่เราสามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้” พริมกล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน