น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

น้าชาติครับ อยากทราบประวัติเป็นมาของมหาเถรสมาคม

บัญชา

ตอบ บัญชา

มหาเถรสมาคม เป็นองค์กรสูงสุดในการปกครองคณะสงฆ์ไทยตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ทำหน้าที่คล้ายกับคณะรัฐมนตรี โดยมีสมเด็จพระสังฆราช หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งไม่เกิน 12 รูป เป็นกรรมการโดยการแต่งตั้ง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมอบงานบริหารกิจการพระพุทธศาสนาแด่องค์สมเด็จพระสังฆราชในสมัยนั้น เพื่อให้คณะสงฆ์บริหารงานพระพุทธศาสนาและจัดการปกครองดูแลกันเอง โดยที่ภาครัฐทำหน้าที่อุปถัมภ์อำนวยความสะดวก สนองงาน และถวายการรับใช้ในสิ่งที่คณะสงฆ์ขัดข้องในการดำเนินงาน ดังนั้น นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา หน้าที่หลักในการบริหารกิจการงานพระพุทธศาสนา จึงเป็นภารธุระของคณะสงฆ์ ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์และการอุปถัมภ์ของรัฐบาลคณะต่างๆ สืบต่อกันมา

ปัจจุบันการบริหารงานกิจการพระพุทธศาสนา เป็นความรับผิดชอบโดยตรงสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย ดำเนินงานโดยคณะสงฆ์ไทย กิจการและงานของพระพุทธศาสนาทุกด้านจะจำเริญ ก้าวหน้า มั่นคง เข้มแข็ง ประการใด จึงเป็นความรับผิดชอบสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย และคณะสงฆ์ไทยผู้ทำหน้าหลักในการบริหารกิจการพระพุทธศาสนานี้ ปัจจุบันเรียกว่า มหาเถรสมาคม

คำว่า มหาเถรสมาคม เริ่มต้นใช้เป็นครั้งแรกเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ.2445) อันตราขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คำว่า เถระ หมายถึง พระผู้ใหญ่ ซึ่งตาม พระวินัยกำหนดว่า พระมีพรรษาตั้งแต่สิบขึ้นไป เรียกว่า พระเถระ

โดยตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ (ร.ศ.121) มาตรา 4 ให้เรียกสมเด็จเจ้าคณะใหญ่และพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ตำแหน่งต่างๆ ว่า มหาเถระ และมหาเถระเหล่านี้จะประชุมกันเพื่อถวายความเห็นแก่พระมหากษัตริย์ในเรื่องพุทธศาสนาตามที่ทรงปรึกษา ที่ประชุมนี้เรียกว่า มหาเถรสมาคม โดยต้องมีมหาเถระอย่างน้อย 5 รูปมาประชุม จึงจะเป็นองค์ประชุม พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ (ร.ศ.121) ไม่ได้ใช้บังคับทันที แต่จะมีประกาศให้ใช้บังคับในมณฑลต่างๆ เป็นรายมณฑลเรื่อยไปจนทั่วประเทศสยาม (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ประเทศไทย)

ต่อมาเปลี่ยนชื่อเรียกมหาเถรสมาคมเป็น สังฆสภา ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 และภายหลังได้กลับมาเรียกองค์กรบริหารกิจการพระพุทธศาสนาสูงสุดของประเทศไทยว่า มหาเถรสมาคม อีกครั้ง ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505, พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535) และ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ.2560) ในปัจจุบัน

การจัดตั้งมหาเถรสมาคมขึ้นตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นศูนย์กลางที่รวมพระสงฆ์ทุกกลุ่มให้มางานร่วมกัน กล่าวคือให้มีองค์กรมหาเถรสมาคมรับผิดชอบทำหน้าที่ทุกอย่างเพื่อเกื้อหนุนพระธรรมวินัยตามรูปแบบของการจัดองค์กรบริหารสมัยใหม่ที่มุ่งเน้นการรวมพลังของพระสงฆ์ทุกกลุ่ม การกระจายอำนาจ ร่วมรับผิดชอบร่วมตัดสินใจด้วยกัน และมุ่งเน้นประสิทธิภาพในการทำงานทุกขั้นตอน (ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการดำเนินการ จึงอาจยังไม่ลงตัวสมบูรณ์แบบในขณะนี้)

องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม ตามพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับข้างต้น ย่อมมีข้อแตกต่างกันและมีการปรับเปลี่ยนกันไปตามยุคสมัย กล่าวสำหรับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 (แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ.2560) กรรมการมหาเถรสมาคม ประกอบด้วย 1.สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง 2.สมเด็จพระราชาคณะทุกรูป เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ปัจจุบันมีจำนวน 8 รูป 3.พระราชาคณะที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง มีจำนวนไม่เกิน 12 รูป รวมกรรมการมหาเถรสมาคม มีจำนวนทั้งสิ้น 21 รูป กองงานในสังกัดมหาเถรสมาคม 1.กองบาลีสนามหลวง 2.กองธรรมสนามหลวง 3.กองงานพระธรรมทูต และ 4.ศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร (ศ.ต.ภ.)

ประธานกรรมการมหาเถรสมาคมปัจจุบันคือ สมเด็จ พระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เริ่มวาระ พ.ศ.2560

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน