กว่า 5 เดือนเต็มที่นักศึกษาราว 20 ชีวิต ลงพื้นที่สำรวจชุมชนทุกตรอกซอกซอย พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้คนหลากอาชีพ ทุกเพศทุกวัย เพื่อหาโจทย์ที่จะทำโครงการ

ด้วยความเป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชาวคลองเตยต่างสะท้อนปัญหาที่หลากหลาย และความท้าทายในชีวิตซึ่งผู้คนที่นี่มักพูดถึง คือ “ปัญหาหนี้สิน”

บีม ชาลิสา พงศ์พันธ์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม ถ่ายทอดประสบการณ์ในการลงพื้นที่เรียนรู้ว่า ตอนแรกพอได้ยินชื่อคลองเตย เราตัดสินเขาไปก่อนแล้วตามสิ่งที่เคยได้ยินมา แต่พอเราได้ไปสัมผัสชีวิตที่นี่ โดยมีพี่ๆ น้องๆ ในชุมชนพาเดินสำรวจทุกพื้นที่ มีมุมมองที่ กว้างขึ้น เห็นความน่ารักของชุมชน พบเจอผู้คนดีๆ เจอเยาวชนที่มีศักยภาพซึ่งเราไม่เคยรับรู้มาก่อน

“จากการพูดคุยกับผู้คน ปัญหาหนึ่งที่หลายคนในชุมชนกำลังเผชิญคือปัญหาการเงินและหนี้สิน อาจไม่ได้แปลว่าชุมชนยากจน แต่อาจหมายถึงความต้องการเสริมทักษะด้านการบริหารจัดการเงิน เราเลยจับประเด็นเรื่องความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) โดยเลือกทำงานกับกลุ่มเด็กๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เราเข้าถึงได้ เด็กๆ ที่เราทำกิจกรรมด้วยส่วนใหญ่ใกล้ถึงวัยที่พวกเขาต้องออกไปอยู่ในจุดที่ต้องทำงานและจัดการการใช้เงินของตนเอง เราจึงอยากปลูกฝังเรื่องการใช้เงินกับเขา เพื่อให้ทักษะติดตัวพวกเขาและเกิดประโยชน์ในวันข้างหน้า”

แล้วทำไมต้องเป็นบอร์ดเกม คำตอบที่ได้จากนักศึกษากลุ่มนี้คือพวกเขาเห็นว่าธรรมชาติของเด็กโดยทั่วไปนั้นชอบเล่นซึ่งนำไปสู่การอยากเรียนรู้ จึงคิดที่จะทำงานกับเด็กๆ ในชุมชนโดยการเอาเกมมาเชื่อมโยงการเรียนรู้กับความสนุกเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเสริมทักษะด้านการใช้เงินผ่านการเล่นเกม และเชื่อมโยงสู่การถอดบทเรียนให้น้องๆ เห็นว่าสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร

การที่นักศึกษาทั้งกลุ่มแทบไม่เคยเล่นบอร์ดเกมมาก่อน แต่อยากออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้ขึ้นมาใช้งานจริงๆ ถือเป็นความท้าทายที่ยากลำบากไม่น้อย เพื่อให้เข้าใจกลไกของการออกแบบเกม ทุกคนในกลุ่มต้องเล่นเกมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ต้องทำรีเสิร์ชในพื้นที่อย่างหนัก รวมไปถึงต้องทำความเข้าใจเรื่องความรู้ทางการเงินให้มากที่สุด ลองเล่นและปรับแก้มานับครั้งไม่ถ้วน พร้อมทั้งฝึกนำเล่นเกมและถอดบทเรียน เพื่อสร้างสรรค์เกมที่เหมาะกับเยาวชนในพื้นที่คลองเตยจริงๆ

บีมให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “บางครั้งโครงการของเราที่คิดว่าดีแล้ว แต่เมื่อเจอสถานการณ์จริงมีอีกมากที่ต้องปรับแก้ เพราะคือการทำงานจริง ไม่ใช่การทำงานบนหน้ากระดาษ การเรียนในคณะที่ให้ความสำคัญกับการเข้าใจความแตกต่างหลากหลายก็ช่วยได้มาก และด้วยความที่พวกเราชินกับการเรียนที่เป็นกระบวนการ ทำให้เราสามารถนำน้องๆ เรียนรู้ผ่านการเล่นเกมได้ไม่ยากนัก”

รอยยิ้มของน้องๆ ในชุมชนคลองเตย และความเข้าใจการบริหารจัดการการเงินในชีวิตประจำวันที่มากขึ้น เมื่อลองเล่นบอร์ดเกมที่มีต้นทุนจากชุมชนของพวกเขาเอง รวมไปถึงความสนใจจากเหล่าเกมเมอร์ผู้ทำงานด้านบอร์ดเกม ถือเป็นกำลังใจอย่างดีให้น้องๆ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาการเรียนรู้ และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มนี้

ความสำเร็จในวันนี้ดูเหมือนเป็นแค่ บอร์ดเกมหนึ่งกล่องกับการฝึกให้เยาวชนคลองเตยสามารถนำเกมไปเล่นและถอดบทเรียนกันเองต่อได้ แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กในคลองเตยหันมาสนใจการศึกษามากขึ้น

ด้วยเห็นแล้วว่าการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดแค่ในโรงเรียน แต่สามารถเรียนรู้ผ่านสิ่งรอบตัวอย่างการเล่นได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน