ประเทศไทย มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่มีทางออกทะเลสองด้านเปรียบเสมือนประตูสู่สองมหาสมุทร ประกอบกับลักษณะชายฝั่งที่งดงามและทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยมีผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่มีมูลค่าสูงถึง 24 ล้านล้านบาทต่อปี

กองทัพเรือ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการรักษาความมั่นคงทางทะเลของประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้เร่งพัฒนาขีดความสามารถเพื่อปกปักรักษาผลประโยชน์ทางทะเลดังกล่าว รวมทั้งเพื่อพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชน โดยยึดหลักการพึ่งพาตนเอง ด้วยการวิจัยและพัฒนาการทางทหาร รวมทั้งมุ่งสู่การเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุสาหกรรมของประเทศด้วยนวัตกรรม ตามโมเดล “ไทยแลนด์ 4.0”

จากนโยบายของ พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ที่กำหนดให้สร้างผลงานวิจัยที่ตอบสนองความต้องการทางยุทธการ มีมาตรฐานระดับสากล และมุ่งสู่สายการผลิต เพื่อสนับสนุนอุสาหกรรมป้องกันประเทศ นั้น

สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางเรือ จึงได้มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษา อย่างต่อเนื่องจนเกิดผลงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งในด้านการทหาร และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานของทุกภาคส่วน จำนวนมาก
สำหรับในปีนี้

พล.ร.ต.ก่อเกียรติ ปั้นดี ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ (ผอ.สวพ.ทร.) ได้กำหนดจัดงาน “นาวีวิจัย 2018” ขึ้น ที่หอประชุมกองทัพเรือ ในวันที่ 17 ก.ค.61 ภายใต้แนวคิด “ก้าวต่อไป เพื่อเป็นหนึ่งในท้องทะเล” ซึ่งเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มาเป็นแนวทางในการดำเนินการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยเพื่อสนับสนุนเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของกองทัพเรือ คือ การเป็นหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลที่มีบทบาทนำในภูมิภาค อันจะช่วยในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และช่วยเหลือประชาชนตามที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น

โดยงานนาวีวิจัย 2018 ในปีนี้ จะได้จัดให้มีพิธีมอบรางวัลยกย่องเกียรติคุณนักวิจัยกองทัพเรือ จำนวน 7 รางวัล ได้แก่ ผลงานโครงการวิจัยและพัฒนา ระบบควบคุมและอำนวยการยิงปืนใหญ่ ขนาด 105มิลลิเมตร ของหน่วยนาวิกโยธิน ผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์ ผลงานสายรัดข้อมือช่วยชีวิต ไทยแลนด์ 4.0 ผลงานเครื่องช่วยฝึกจำลองสถานการณ์การใช้อาวุธในระยะประชิด สำหรับชุดปฏิบัติการพิเศษ ผลงานโปรแกรมรายงานตำบลที่อัตโนมัติบนแผนที่ 2 มิติ และ 3 มิติ แบบ Real time ผลงานสายอากาศฮอร์นอัลตราไวด์แบนด์แบบสันคู่สำหรับย่านเอสและซีแบนด์ สร้างด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ และผลงานทางด้านหลักการอีกจำนวน2ผลงาน

สำหรับการจัดการแสดงในปีนี้ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ ได้จัด วีดิทัศน์ประกอบเพลงก้าวหนึ่งในทะเล และการแสดงพิเศษของ ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์ (โป่ง หิน เหล็ก ไฟ) ก่อนเข้าสู่พิธีเปิดงานโดยประธานในพิธีจะเดินผ่านรั้วไร้สาย เพื่อเข้าสู่มิติของงานวิจัย โดยจะจัดให้มีการสาธิตการปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกัน ด้วยการบูรณาการผลงานวิจัยของกองทัพเรือ เช่น อากาศยานไร้คนขับขึ้นลงทางดิ่งแบบนารายณ์ 3.1 ระบบควบคุมบังคับบัญชาแบบพกพา หมวกทหารราบอัจฉริยะ ที่ศูนย์ควบคุมสถานการณ์จำลองในบริเวณงาน

นอกจากการแสดงต่างๆ ข้างต้น ใยงานนาวีวิจัย 2018 ยังจะได้จัดให้มีการแสดงผลงานวิจัยของกองทัพเรือ และจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น โครงการวิจัยฯ อากาศยานไร้นักบินแบบปีกหมุนขึ้น – ลงทางดิ่ง แบบ TAREMหมวกทหารราบติดกล้องและส่งสัญญาณภาพ โครงการวิจัยฯ ระบบควบคุมบังคับบัญชาแบบพกพา CCMLS โครงการวิจัยฯ สร้างเรือดำน้ำขนาดเล็กของ ทร./Midget Submarine โครงการวิจัยฯ หุ่นยนต์ภาคพื้นสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหาร และโครงการวิจัยที่สามารถนำไปสู่สายการผลิต

การจัดงานนาวีวิจัย 2018ภายใต้แนวคิด ก้าวต่อไป เพื่อเป็นหนึ่งในท้องทะเล ของสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือในครั้งนี้ นับว่าประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง โดยถือเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อยอดผลการวิจัยสู่ภาคอุสาหกรรม นำมาซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ตลอดจนเกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมืออย่างดีของทุกภาคส่วน

โดยเฉพาะจากกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหมสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ(องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา บริษัทเค.เอ็ม.แอล.เทคโนโลยี จำกัดบริษัท ท๊อป เอนจิเนียริ่ง จำกัดบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) และอื่น ๆ อีกหลายหน่วยงาน อันจะเป็นเครื่องยืนยันถึงความยั่งยืนของการวิจัยพัฒนาพึ่งพาตนเอง เพื่อร่วมนำพาประเทศชาติ สู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อไป

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน