การชราของเซลล์เป็นกลไกที่ร่างกายเรียกใช้เพื่อทำลายเซลล์ ที่ไม่ดี การชราของเซลล์จึงมีหน้าที่ในการควบคุมสมดุลระหว่างการมีอวัยวะและเนื้อเยื่อที่สุขภาพดี เรียกได้ว่ามีการถ่วงดุลกันทุกวินาทีในร่างกายของเรา

ดร.ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย ภาควิชาเภสัช วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การชราของเซลล์เล็กๆ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเนื้อเยื่อ ก่อให้เกิดโรคของการเสื่อมของเนื้อเยื่อต่างๆ ที่นำมาสู่การชราและการเสื่อมของร่างกาย

ดร.ศิวนนท์กล่าวต่อว่า การชราของเซลล์เป็นกลไกเพื่อทำลายเซลล์ที่ไม่ดี แต่เซลล์มะเร็งมีกลไกการต่อต้านเซลล์ชราและสามารถเอาตัวรอดจากกลไกป้องกันของร่างกายอันนี้ได้

ดร.ศิวนนท์กล่าวอีกว่า ขณะที่ไซคลิน ดี 1 ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีในเซลล์ปกติ แต่มักพบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นในมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งลำไส้ มะเร็งเยื่อบุผิว มะเร็งท่อน้ำดี และอื่นๆ

“ไซคลิน ดี 1 จึงเกี่ยวข้องกับมะเร็งของโปรตีนนี้ค่อนข้างชัดเจน และอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็งร้ายได้ อย่างไรก็ดี หน้าที่ของโปรตีนนี้ในมะเร็งยังไม่ปรากฏชัด”

ฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงให้การสนับสนุน ดร.ศิวนนท์ น.ส.พัทธมน ลพานุวรรตน์ นักศึกษาปริญญาเอก และทีมวิจัยสหสาขา ในการทำวิจัยเรื่อง “บทบาทของไซคลิน ดี 1 และเครือข่ายโปรตีนก่อมะเร็งของไซคลิน ดี 1 ในการก่อมะเร็งและการรักษาแบบมุ่งเป้า” เพื่อศึกษาหน้าที่ของไซคลิน ดี 1 ในการควบคุมระดับความเครียดภายในเซลล์มะเร็งให้ไม่เกินระดับที่จะไปกระตุ้นกลไกเซลล์ชรา ทำให้มะเร็งหนีรอดจากกลไกเซลล์ชราได้ เป็นผลร้ายต่อผู้ป่วยอย่างยิ่ง

ดร.ศิวนนท์กล่าวต่อว่า งานวิจัยชิ้นนี้เกิดจากการสังเกตที่ละเอียดของทีมงานวิจัยพบในห้องแล็บ จากการทำงานอย่างหนักเกือบปีเต็ม โดยจุดเริ่มต้นของงานวิจัยเกิดขึ้นเมื่อเราเอาไซคลิน ดี 1 ออกจากเซลล์มะเร็ง มะเร็งจะเริ่มสะสมความเครียดและเปลี่ยนไปทันที มีสภาพที่แย่และไม่สามารถเอาตัวรอดได้ รูปร่างหน้าตาคล้ายเซลล์ที่เข้าสู่ภาวะชราเป็นอย่างยิ่ง

“จากการสังเกตนี้เรายืนยันได้ว่าเซลล์มะเร็งที่ไม่มีไซคลิน ดี 1 นี้เข้าสู่ภาวะเซลล์ชราจริง และเกิดอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน”

ดร.ศิวนนท์กล่าวต่อว่า เพื่อที่จะเปิดเผยให้เห็นถึงกลไกใหม่นี้ ทีมวิจัยจึงได้ทดลองในเซลล์มากกว่า 10 ชนิด และยืนยันมากกว่า 40 ครั้งในหลายๆ ภาวะ ซึ่งผลงานวิจัยได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกอย่าง Journal of Cell Sciences ด้วย

ดร.ศิวนนท์กล่าวด้วยว่า ความรู้ใหม่จากงานวิจัยนี้นับเป็นการเปิดเผยความลับเรื่องราวของสมดุลออกซิเจน และกลไกควบคุมที่เกี่ยวข้องในเซลล์มะเร็ง จึงเปิดโอกาสให้เราสามารถใช้เป็นจุดอ่อนในการรักษาโรคร้ายชนิดนี้ โดยการรบกวนสมดุลของออกซิเจนในเซลล์มะเร็ง ด้วยการใช้ไซคลิน ดี 1 เป็นเป้าหมายการรักษาของยาใหม่ๆ ได้ เป็นที่ทราบกันว่ามะเร็งเป็นเซลล์ที่ผิดปกติ และมีการสะสมความเครียดอยู่แล้ว การค้นพบจุดอ่อนและวิธีทำลายสมดุลอันเปราะบางของมะเร็งจะได้ผลอย่างดีโดยไม่รบกวนเซลล์ปกติ

“นอกจากนี้งานของเรายังเสนอจุดอ่อนในกลไกนี้อีกหลายจุดที่อาจใช้เป็นเป้าหมายของการรักษา โดยจะกระตุ้นให้มะเร็งเข้าสู่เซลล์ชราได้เช่นกัน” ดร.ศิวนนท์กล่าวสรุป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน