น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

ผมขอรายละเอียดเกี่ยวกับวนอุทยานถ้ำหลวง

จเร

ตอบ จเร

วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อยู่ใน เขตป่าสงวนแห่งชาติดอยนางนอน ตั้งอยู่ในตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีเนื้อที่ 5,000 ไร่ จัดตั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2529 โดยกรมป่าไม้ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาขนาดใหญ่หลายลูกติดต่อกัน มีความสูงโดยเฉลี่ย 779 เมตร และลาดชันมาทางทิศตะวันออก มีความยาวถ้ำ 10.3 กิโลเมตร เป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย

มีอาณาเขตติดต่อกับดอยจ้องและห้วยน้ำจ้องทางทิศเหนือ ติดต่อกับดอยผู้เฒ่าและห้วยน้ำค้าง ทางทิศใต้ติดต่อกับภูเขาลูกใหญ่ซึ่งทอดมาจากประเทศพม่าทางทิศตะวันตก ส่วนทางตะวันออกเป็นที่ราบพื้นที่เกษตรกรรมและตั้งถิ่นฐาน อยู่ห่างจากตัวจังหวัดเชียงราย และตัวอำเภอแม่สาย 60 กิโลเมตร และ 8 กิโลเมตร ตามลำดับ

เป็นป่าเบญจพรรณค่อนข้างสมบูรณ์ จุดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และเป็นที่มาของชื่อคือ “ถ้ำหลวง” ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม www. onep.go.th/ ระบุว่า ถ้ำหลวงเป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ ปากถ้ำเป็นห้องโถงกว้างมาก ภายในถ้ำจะพบกับความงามของเกล็ดหินสะท้อนแสง หินงอก หินย้อย ธารน้ำ และถ้ำลอด ทั้งนี้ ยังมีถ้ำเล็กๆ อีก 3 แห่งในบริเวณเดียวกัน

สภาพธรณีวิทยานอกถ้ำประกอบไปด้วยชั้นหินปูน หมวดหินราชบุรี (Ratburi Group) ที่เกิดอยู่ในยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous) ต่อยุคเพอร์เมียน (Permian) มีช่วงอายุระหว่าง 345-230 ล้านปี หินที่พบมีทั้งหินปูน (Limesmtone) และหินอ่อน (Marble) สีเทาถึงเทาดำ มีซากบรรพชีวิน (Fossil) สลับด้วยหินดินดาน (Shale) สีเทา

ส่วนสภาพธรณีวิทยาภายในถ้ำ ถ้ำหลวงจัดอยู่ในประเภทถ้ำกึ่งแห้ง เนื่องจากบางส่วนยังมีการเกิดของหินงอก หินย้อยอยู่ และบางส่วนแห้งแล้ว อยู่ในพื้นที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ลักษณะภูมิประเทศแบบหินปูน (Karst topography) มีลักษณะทางธรณีวิทยา ประกอบด้วยหินแข็งยุคคาร์บอนิเฟอรัส-เพอร์เมียน

หินที่พบในพื้นที่ประกอบด้วยหินปูนสีเทาอ่อน หินอ่อน หินยุคนี้อยู่ในช่วงอายุประมาณ 270-320 ล้านปี ปากทางเข้าถ้ำสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 433 เมตร แนวโถงถ้ำมีโถงหลักเพียงโถงเดียว แต่เส้นทางคดเคี้ยว บางช่วงเดินเข้าถึงได้ง่าย บางช่วงมีเพดานต่ำ โดยสำรวจจนสิ้นสุดห้องลับแล เนื่องจากทางที่จะไป โถงอื่นๆ นั้นลำบากมาก

แร่ทุติยภูมิที่พบเป็นแร่แคลไซต์ (calcite) ได้แก่ หินย้อย หินงอก เสาหิน ม่านเบคอน ผลึกแร่แปรงล้างขวด หลอดโซดา และตะกอนภายในถ้ำ ได้แก่ เศษหินถล่มจากหินน้ำไหล และหินปูน ตะกอนดินเหนียว หาดทราย พบหลักฐานที่แสดงถึงวิวัฒนาการของถ้ำจำนวนมาก เช่น รอยการไหลของน้ำเป็นริ้วคลื่นปัจจุบัน (Ripple Mark) ระดับพื้นถ้ำเก่า หินถล่มขนาดเล็ก และใหญ่จำนวนมาก รอยแตกแบบมีแรงดึง (Tension Crack)

นอกจากนี้ยังพบรอยระดับน้ำ หลุมยุบ และโพรงบริเวณเพดานถ้ำ (Anastomosis) และการแตกออกของผนังเนื่องจากถ้ำหลวงมีเพียงบริเวณโถงตรงปากถ้ำและโถงทางด้านขวามือเป็นถ้ำเกือบตาย คือหินย้อยและหินงอกอาจไม่มีการเกิดแล้ว แต่พื้นที่ถ้ำส่วนใหญ่ยังคงมีการไหลผ่านของน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝนที่ต้องมีการปิดถ้ำ

นอกจากนี้ในช่วงฤดูแล้งภายในถ้ำยังมีความชื้นสูง จะเห็นได้จากหยดน้ำที่เกาะอยู่ตามผนังถ้ำ และตามหินย้อยต่างๆ ก็มีหยดน้ำเกาะอยู่มากมาย ดังนั้น หากอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมตามลำพัง และไม่มีข้อห้าม เส้นทางเดินที่ไม่ชัดเจน หรือไม่มีเครื่องกีดขวางบางส่วนในพื้นที่ถ้ำที่ค่อนข้างเป็นตำแหน่ง ที่เปราะบาง การเกิดของหินงอก-หินย้อยต่างๆ อาจได้รับผล กระทบ สำหรับสถิติ นักท่องเที่ยวจะมาที่ถ้ำหลวงในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน

ยังมีข้อมูลจากวิกิพีเดียว่า ถ้ำหลวงตั้งอยู่ที่บ้านน้ำจำ ตำบล โป่งผา พันธุ์พืชหลักที่พบในบริเวณถ้ำได้แก่ เสี้ยว ผีเสื้อ แดงดง ค้างคาว และขี้เหล็กเทศ ส่วนขุนน้ำนางนอน ตั้งอยู่ที่บ้านจ้อง ตำบลโป่งผา อยู่ห่างจากถ้ำหลวง (และสำนักงาน) ประมาณ 2.5 กิโลเมตร มีลำธารที่ไหลออกมาจากรอยแยกของหินใต้ภูเขาหินปูน ซึ่งได้ทำฝายขนาดเล็กกั้นไว้จนกลายเป็นแอ่งน้ำขนาดพื้นที่ 3 ไร่ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แหล่งศึกษาธรรมชาติ และดูนก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน