รอยยิ้มสดใสของ 13 หมูป่า อะคาเดมีในวันแถลงข่าวครั้งแรก เรียกรอยยิ้มจากผู้คนที่เฝ้าตามติดชีวิตหมูป่า หลากหลายเรื่องราวและความรู้สึกที่โค้ชเอกและเด็กๆ บอกเล่าทั้งช่วงชีวิตติดถ้ำและความมุ่งหวังหลังจากนี้ สะท้อนความนัยในจิตใจของโค้ชและเด็กๆ อย่างไร คุณหมอและนักจิตวิทยามีมุมมองและคำแนะนำในวันที่หมูป่าทุกคนต้องก้าวเดินต่อไป

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวว่าการใช้รูปแบบการสัมภาษณ์ไม่เป็นทางการเพื่อให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย น้องๆ ออกมาพูดคุยด้วยรอยยิ้มที่สดใส สุขภาพดีทั้งกายและใจ และยังถือโอกาสขอบคุณทุกหน่วยงานที่ช่วยเหลือ การที่น้องๆ ออกมาเตะฟุตบอลโชว์ทักษะทางกีฬาสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตประจำวันของเด็กๆ และจากนี้ก็ต้องการให้เด็กๆ กลับไปใช้ชีวิตตามปกติที่ควรจะเป็น การทำให้ชีวิตของ 13 หมูป่า อะคาเดมีปกติได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรม สุขภาพจิต กล่าวถึงการสัมภาษณ์ “13 หมูป่า อะคาเดมี” ผ่านรายการเดินหน้าประเทศไทยว่า จากที่ดูในรายการน้องทุกๆ คนมีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่น้องๆ จะได้รับการเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษจากทุกๆ คน สิ่งสำคัญคือหลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ของครอบครัว ของเพื่อนๆ ในทีมหมูป่า อะคาเดมี และเพื่อนที่โรงเรียน ต้องช่วยกันดูแลให้สามารถฟื้นฟูสุขภาพจิตใจต่อไปให้เข้มแข็ง ต้องระวังการรบกวนการฟื้นฟูของน้องๆ โดยเฉพาะการสัมภาษณ์ การถามคำถามเด็กซ้ำๆ การให้จากหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นการให้เฉพาะหน้า จะส่งผลต่อการพัฒนาตัวเองของน้องๆ ในอนาคต น้องยังต้องเรียนรู้การพัฒนาตัวเอง การขวนขวายเดินหน้าชีวิตไปด้วยตัวเอง สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการฟื้นฟูน้องๆ ทั้งสิ้น

“บรรยากาศการพูดคุยในรายการเป็นไปแบบสบายๆ มีคำถามเชิงบวกเสียส่วนใหญ่ จะเห็นคำถามเชิงลบบ้าง เช่นถามว่าทำไมเข้าไปในถ้ำ สิ่งนี้เป็นการตอกย้ำเด็กซ้ำๆ เพราะเมื่อถามน้องๆ ก็จะวนกลับไปสู่ความรู้สึกผิด น้องๆ มีการกล่าวขอโทษพ่อแม่ สัญญาว่าจะไม่ทำอีก เขารู้ว่าเป็นสิ่งที่ผิด ความรู้สึกผิดนี้จะค่อยๆ ดีขึ้นตามกาลเวลา ขอเพียงอย่านำมาถามซ้ำๆ

การที่โค้ชเอกบอกว่ารู้สึกผิดเกี่ยวกับกรณีจ่าแซมนั้น การที่ตนเป็นผู้รอดชีวิตล้วนต้องรู้สึกผิดอยู่แล้ว ความรู้สึกผิดไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เป็นสิ่งที่รู้สึกกันได้ ต้องค่อยๆ ก้าวข้ามไป อาจจะด้วยการทำความดี การทำเพื่อสังคม การทำเพื่อครอบครัวจ่าแซม เช่น การบวชให้ การส่งสิ่งดีๆ ถึงจ่าแซม ก็จะสามารถก้าวข้ามไปได้ ที่สำคัญเราต้องไม่ไปซ้ำเติมน้องๆ และโค้ช” นพ. ยงยุทธกล่าว

ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการที่น้องๆ ทีมหมูป่าพูดถึงความฝันหลังจากนี้ว่าอยากจะเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ อยากเป็นหน่วยซีลว่า ถือเป็นสัญลักษณ์ที่ดี เป็นสิ่งที่สื่อถึงความหวังของชีวิต “ที่น้องบอกว่าอยากเป็นซีลอาจเป็นเพราะเป็นผู้ช่วยชีวิตเขาออกมา เขาเห็นถึงความสามารถและความดีของพี่ๆ หน่วยซีล แต่ถึงเวลาจริงๆ แล้วจะสามารถเป็นได้ดั่งที่หวังหรือไม่อยู่ที่ตัวน้องๆ ต้องเข้มแข็งและผ่านช่วงนี้ไปให้ได้ก่อน”

นพ.ยงยุทธกล่าวด้วยว่า หลังจากนี้อาจจะมีคนมามอบสิ่งต่างๆ ให้ มีสื่อพยายามสัมภาษณ์ น้องๆ และครอบครัวต้องเข้มแข็งต่อข้อเสนอต่างๆ และสามารถแจ้ง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ถึงกรณีนี้ เพราะเบื้องต้นผู้ว่าราชการจังหวัดเคยพูดว่าสามารถใช้พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กได้

“ช่วงเดือนแรกเป็นช่วงที่ไม่ควรไปสอบถามอะไรน้องๆ แต่หลังจากนี้หากอยากจะถอดบทเรียนก็อาจจะไปสัมภาษณ์หลังเวลาผ่านไป 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนให้เด็กๆ เยาวชนทุกคนทุกครอบครัว พ่อแม่และ ผู้ปกครองในสังคม จากเรื่องนี้น้องอาจจะมีความรู้สึกผิดกับพ่อแม่ที่ไปไหนไม่บอกกล่าว เด็กๆ ก็ต้องรู้ว่าจะทำอะไร จะไปไหนต้องบอกพ่อแม่ มีเรื่องอะไรสามารถพูดคุยกับพ่อแม่ได้ โดยที่พ่อแม่ต้องเปิดใจ เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อลูกๆ บ้าง เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยกำลังอยากรู้อยากลอง ต้องเปิดใจคุยกัน ค่อยๆ บอก ค่อยๆ สอนเขาถึงสิ่งที่ดีและไม่ดี เด็กจึงจะกล้าเปิดใจกับพ่อแม่ นอกจากนี้ยังสามารถถอดบทเรียนได้อีกหลายเรื่อง” ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน