“รายงานพิเศษ”

ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์ประจำหลักสูตรพัฒนาการมนุษย์ มหาบัณฑิต สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึง “การสร้างวินัยเชิงบวก” ว่า คือการสอนและฝึกฝนเด็กให้มีพฤติกรรมตามที่ คาดหวังโดยไม่ใช้ความรุนแรง โดยยึดหลักการ 2T คือ T1 = Teach คือ การสอน และ T2 = Train คือ การฝึกฝน

นอกจากการสอนและการฝึกฝนแล้ว การใช้การสร้างวินัยเชิงบวกให้ได้ผล ยังต้องเสริมอีก 3T คือ Target Behavior คือ การกำหนดพฤติกรรมเป้าหมาย Trust คือ ความเชื่อมั่นไว้ใจ และ Time คือ การให้เวลาในการฝึกฝนพฤติกรรมเป้าหมาย และการสานความผูกพัน

“101 การสร้างวินัยเชิงบวก” ซึ่งเป็นวิธีการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวกแบบ how to ที่พัฒนามาจากการบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านประสาทวิทยา จิตวิทยาเชิงบวก จิตวิทยาพัฒนาการ และการศึกษา เป็นเทคนิคการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรกับสมอง และสอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก

โดยจะเน้นการสอนและการฝึกฝนพฤติกรรมเป้าหมาย บนพื้นฐานความไว้ใจกันและกันระหว่างผู้เลี้ยงดูและเด็ก อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการให้ “เวลา” เด็กในการฝึกฝนพฤติกรรมเป้าหมาย และการให้เวลาในการสร้างและรักษาความไว้ใจซึ่งกันและกัน

“เมื่อไหร่ปลอบ เมื่อไหร่สอน” เป็นเทคนิคเริ่มต้นที่สำคัญของการใช้ 101 การสร้างวินัยเชิงบวก เมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กอยู่ในภาวะอารมณ์ที่ไม่ดี มักระบายอารมณ์ที่ไม่ดีนั้นออกมาเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม

ดังนั้นแม้พฤติกรรมนั้นจะไม่น่ารักมากเพียงใด จะก้าวร้าวมากแค่ไหน หรือทำให้เราโกรธมากเท่าไหร่ เราก็จะต้อง “ปลอบ” เพราะเป็นเวลาที่เด็กต้องการความช่วยเหลือทางอารมณ์จากเรามากที่สุด

และเมื่อไหร่ก็ตาม ที่เด็กอยู่ในภาวะอารมณ์ที่พร้อมจะฟัง และตัดสินใจ ด้วยเหตุผล เราถึงจะ “สอน” แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเรามักจะทำตรงข้ามกัน คือราจะสอนเด็กทันทีที่เห็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม

การปลอบตามหลักการ 101 การสร้างวินัยเชิงบวก มีเป้าหมายหลักคือ ให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและมีคนเข้าใจเพื่อให้อารมณ์ลดลงอยู่ในระดับที่เด็กสามารถควบคุมและจัดการอารมณ์ตัวเองได้ และการสอนตามหลักการของ 101 การสร้างวินัยเชิงบวก จะเริ่มจากการกำหนดพฤติกรรมเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อจะสอนและให้โอกาสเด็กฝึกฝนพฤติกรรมนั้นจนเกิดเป็นทักษะและนิสัย

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเห็นเด็กร้องไห้โวยวาย ให้เริ่มจากการปลอบ ด้วยการแสดงความเข้าใจว่าเขาโกรธ เขาถึงปาของ และเมื่อเห็นว่าเขาอยู่ในอารมณ์ที่พร้อมแล้ว ค่อยสอนด้วยการให้เด็กตัดสินใจว่า แทนการปาของ เขาจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เป็นต้น

การสร้างวินัยเชิงบวกนั้นสามารถเริ่มฝึกได้ตั้งแต่แรกเกิด เมื่อสมองทำงานซ้ำๆ สัมผัสซ้ำๆ ได้รับข้อมูลซ้ำๆ จะเกิดเป็น “ทักษะ” และเป็นบุคลิกภาพภายในตัวตน ซึ่งเป็นไปตามหลักของการพัฒนาสมอง เป้าหมายสูงสุดของการสร้างวินัยเชิงบวกก็คือ เด็กต้องสามารถควบคุมอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมของตนเอง และมีวินัยในตัวเองได้ ทั้งนี้ การสร้างวินัยเชิงบวกก็ยังมีข้อจำกัดอยู่เช่นกัน คือกว่าจะซึมซับเป็นนิสัยของเด็กได้นั้น ต้องใช้เวลาปลูกฝังเป็นเวลานาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน