มิวเซียมสยาม ร่วมกับ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติฟิลิปปินส์ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ในองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SPAFA) ตลอดจนภาคีเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ จัดงานประชุมวิชาการด้านพิพิธ ภัณฑ์อาเซียน ASEAN Museum Forum 2018 ภายใต้แนวคิด “สื่อในพิพิธภัณฑ์” หรือ “Museum Media” เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ชั้น 5 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

งานดังกล่าวมีการพูดคุยในประเด็นการใช้สื่อประเภทต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ โดยนักพิพิธ ภัณฑ์จากนานาประเทศ อาทิ พัวไว เครนส์ หัวหน้าฝ่ายวัตถุสะสมชาวเมารี พิพิธภัณฑ์แห่งชาตินิวซีแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ที่นำเสนอการใช้สื่อพิพิธภัณฑ์เพื่อสร้างความน่าสนใจให้นิทรรศการ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก และฮันส์ดีเทอร์ ฮาน อดีตภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์ชาวยิว ประเทศเยอรมนี ที่แนะนำการใช้ สื่อพิพิธภัณฑ์ท่ามกลางข้อจำกัดและการเปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิตอล เป็นต้น

พร้อมโชว์ตัวอย่างสื่อพิพิธภัณฑ์โดยมิวเซียมสยาม อาทิ หุ่นจำลองนางกวัก และคำบรรยายอักษรเบรลสำหรับ ผู้พิการทางสายตา เกมกระดานประกอบนิทรรศการที่ช่วยเพิ่มความเข้าใจและให้ผู้เข้าชมมีปฏิสัมพันธ์กับนิทรรศการ ตลอดจนเทคโนโลยีสื่อเสมือน (AR) ผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับตัวนิทรรศการ สร้างความน่าสนใจ ดึงดูดผู้เข้าชมให้ร่วมสนุกไปกับนิทรรศการ

นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและการเข้ามาของเทคโนโลยี ทำให้พิพิธภัณฑ์กำลังเข้าสู่กระบวนการปรับตัวครั้งใหญ่ สิ่งสำคัญที่ต้องปรับตัวคือสื่อพิพิธภัณฑ์ หรือ “Museum Media” อันได้แก่สิ่งของต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ ปัจจุบันมิวเซียมสยามใช้งานสื่อพิพิธภัณฑ์ใน 2 กลุ่ม ได้แก่ สื่อดิจิตอล และสื่อวัสดุอุปกรณ์ โดยมีการใช้งานและหน้าที่ 4 ประเภท ได้แก่

สื่อนิทรรศการ : เป็นสื่อที่ใช้งานในนิทรรศการ สร้างความเข้าใจให้ผู้เข้าชม รวมถึงการนำเสนอในนิทรรศการ อาทิ วัตถุจัดแสดง ป้ายข้อมูล ภาพเล่าเรื่อง สื่อที่สร้างหรือจำลองขึ้น รวมถึงสื่อที่ผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อสร้างความน่าสนใจให้ผู้เข้าชม เช่น ภาพยนตร์ ภาพเคลื่อนไหว เทคโนโลยีสื่อเสมือนจริง สื่ออินเตอร์แอ๊กทีฟ แอนิเมชั่น กราฟิก คอมพิวเตอร์สแกน เกมมัลติมีเดีย

สื่อการเรียนรู้ : สื่อที่ใช้งานเพื่อขยายองค์ความรู้จากตัวนิทรรศการ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบกิจกรรมสร้างสรรค์ อาทิ ชุดการเรียนรู้ที่สอดแทรกเนื้อหาในนิทรรศการ เชื่อมโยงการศึกษาในวิชาต่างๆ การสาธิตการแสดง เกมกระดาน ตลอดจนระบบการเรียนรู้ออนไลน์

สื่อเพื่อสื่อสารงานพิพิธภัณฑ์สู่สาธารณะ : สื่อที่ใช้เพื่อเผยแพร่งานพิพิธภัณฑ์ เพื่อสร้างการรับรู้ไปสู่สาธารณชน อาทิ โปสเตอร์ แผ่นพับ ป้าย สูจิบัตรนิทรรศการ รวมถึงช่องทางการเผยแพร่อย่างแอพพลิเคชั่น เว็บไซต์ และช่องทางโซเชี่ยลมีเดีย

สื่อในงานพิพิธภัณฑ์ด้านอื่นๆ : สื่อพิพิธภัณฑ์ที่มีฟังก์ชันการใช้งานเพื่องานในพิพิธภัณฑ์ เช่น ระบบคลังวัตถุ อุปกรณ์ และระบบดูแลวัตถุจัดแสดงเชิงอนุรักษ์ การบริการเชิงธุรกิจการค้า กิจกรรม และของที่ระลึกที่สร้างรายได้ให้พิพิธภัณฑ์ ตลอดจนฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในรูปแบบออฟไลน์ และออนไลน์

“ปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชนระดับโลกในต่างประเทศ หยิบยกนำเอาพิพิธภัณฑ์มาใช้งานในฐานะสื่อการสื่อสารเชิงการตลาดและการท่องเที่ยว ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการที่เล่าเรื่องราวสะท้อน อัตลักษณ์องค์กร และสามารถสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ให้บริษัทได้จำนวนมาก อาทิ พิพิธภัณฑ์รถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู พิพิธภัณฑ์เวิลด์ออฟโคคาโคลา พิพิธภัณฑ์ฟงดาซิญง หลุยส์ วิตตอง เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพิพิธภัณฑ์ ในฐานะ “สื่อการสื่อสารแห่งอนาคต” ที่มากไปกว่าการส่งเสริมการเรียนรู้เท่านั้น” นายราเมศกล่าว

ด้าน ฮันส์ดีเทอร์ ฮาน อดีตภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์ชาวยิว ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า ความสนใจและความคาดหวังของ ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์เปลี่ยนแปลงไป จากอดีตที่ผู้คนมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์เพื่อชมของสะสมหรืองานศิลปะชิ้นเอก แต่ปัจจุบันในยุคที่เทคโนโลยีและโลกดิจิตอลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ผู้เข้าชมจำนวนมากคาดหวังให้พิพิธภัณฑ์สามารถมอบการเรียนรู้ควบคู่ไปกับความสนุกสนานในการเข้าชม

ดังนั้นทุกพิพิธภัณฑ์ต้องรู้จักปรับปรุงแนวทางการใช้งานสื่อพิพิธภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอ ควรเลือกใช้และประยุกต์สื่อพิพิธภัณฑ์หลากหลายรูปแบบให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย อาทิ หากกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชน ควรเลือกใช้สื่อพิพิธภัณฑ์ที่เน้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วม ผสมผสานการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และสร้างความสนุกสนาน หรือหากกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้ที่มีอายุ การใช้สื่อที่เน้นการใช้เทคโนโลยีจำนวนมากก็อาจจะไม่เหมาะกับพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว

“นอกจากนี้ไม่ควรจัดแสดงนิทรรศการเดิม โดยไม่ปรับปรุงเนื้อหาและแนวทางการนำเสนอเป็นเวลายาวนาน เนื่องจากจะทำให้ความ น่าสนใจของนิทรรศการลดน้อยลง ผู้เข้าชมลดน้อยลง และไม่เข้าถึงผู้เข้าชมกลุ่มใหม่ๆ จน ทำให้พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวตายลง” ฮันส์ดีเทอร์ ฮาน กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน