น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

วันสารทจีนคือวันอะไร ที่มาอย่างไร

ดีจ้า

ตอบ ดีจ้า

คำตอบนำมาจากหนังสือ “เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้” สำนักพิมพ์มติชน โดย ถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมจีน เขียนไว้ในตอน “สารทจีน : เทศกาลแห่งความเกื้อกูลและกตัญญู” สรุปความดังนี้

สารทจีนเป็นเทศกาลสำคัญทั้งของลัทธิขงจื๊อ พุทธศาสนา ศาสนาเต๋า และชาวบ้าน เทศกาลนี้มีชื่อเป็นทางการว่า “จงหยวนเจี๋ย” แต้จิ๋วว่า ตงง้วงโจย แต่ชื่อทั่วไปนิยมเรียกว่า ชิกงวยปั่ว (แต้จิ๋ว) แปลว่า (เทศกาล) กลางเดือนเจ็ด นอกจากนี้ยังมีที่นิยมเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “กุ่ยเจี๋ย” แปลว่า เทศกาลผี

จงหยวนที่เป็นชื่อของเทศกาล ได้มาจากชื่อเทพจงหยวน เทพประจำเทศกาลนี้ของศาสนาเต๋า ส่วนชื่อเทศกาลที่แปลว่ากลางเดือนเจ็ดก็มีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องตั้งแต่ต้นจนถึงสิ้นเดือนเจ็ด คือ วัน 1 ค่ำ เป็นวันเปิดยมโลกให้ผีทั้งหลายออกมารับการเซ่นสังเวย, วัน 15 ค่ำ เป็นวันไหว้ใหญ่ทั้งผีบรรพชนและผีไม่มีญาติ และวันสิ้นเดือนเจ็ด (30 ค่ำ หรือแรม 15 ค่ำ) เป็นวันปิดประตูยมโลก ผีที่ยังไม่ได้ไปผุดไปเกิดต้องกลับเข้ายมโลก ทั้งนี้วันต้นเดือน สิ้นเดือน มีพิธีไหว้ด้วย และมีพิธีทิ้งกระจาดอุทิศส่วนกุศลให้ เปตชนครั้งใหญ่ในช่วงครึ่งหลังของเดือนเจ็ด

กิจกรรมทั้งหมดล้วนแต่เกี่ยวกับผี คนจีนจึงถือว่าเดือนเจ็ดเป็นเดือนผี และเทศกาลกลางเดือนเจ็ดคือเทศกาลผี แต่ที่คนไทยเรียกสารทจีนเพราะวันนี้ใกล้กับวันสารทไทย อีกทั้งอยู่ในช่วงต้นฤดูสารท หรือชิวเทียน ของจีนอีกด้วย

ตามความเชื่อจีนโบราณ เดือนเจ็ดเป็นทั้งเดือนดีและเดือนร้าย เพราะข้าวเริ่มเก็บเกี่ยวได้ นำผลแรกได้ (ข้าวใหม่) ไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษก่อน แต่เทพประจำเดือนเจ็ดเป็นเทพแห่งความตาย จึงต้องเซ่นสรวงต่างหากออกไป ทั้งยังมีความเชื่ออีกว่ามี ผีร้ายร่อนเร่ เรียกว่า ลี่ ไม่มีญาติเซ่นไหว้ พอถึงฤดูสารทซึ่งผู้คนนำผลแรกได้เซ่นไหว้บรรพบุรุษ ผีพวกนี้จะคอยมาแย่งกินของไหว้หรือไม่ก็ทำร้ายผู้คนด้วยความหิวโหย ฉะนั้นพอถึงฤดูสารทจึงต้องเซ่นไหว้บรรพชนและผีไม่มีญาติแยกกัน

ต่อมาอิทธิพลของพุทธศาสนาทำให้การเซ่นไหว้เดือนเจ็ดมีพัฒนาการไป สมัยราชวงศ์จิ้นมีผู้แปล “อุลลัมพนสูตร” (อ่านว่า อุน-ลัม-พะ-นะ-สูด) ของนิกายโยคาจาร เรื่องในพระสูตรนี้มีอิทธิพลต่อเทศกาลไหว้บรรพบุรุษในเดือนเจ็ดมาก โดยความตอนหนึ่งในพระสูตรกล่าวว่า พระโมคคัลลาน์เห็นมารดาเกิดเป็นเปรตอดอยากหิวโหย จึงใช้ฤทธิ์นำบาตรข้าวไปส่งให้ เปรตมารดาเปิบข้าว แต่ยังไม่ทันจะเข้าปากก็กลายเป็นถ่านไปสิ้น พระเถระเจ้าจึงนำความกราบทูลพระพุทธเจ้า

งิ้วเรื่องหนึ่งมีเนื้อเรื่องที่แต่งตามเค้าเรื่องในอุลลัมพนสูตร ว่า พระโมคคัลลาน์ เดิมชื่อ ฟู่หลอปู่ ท่านและบิดามีศรัทธาในศาสนา เคารพนักบวช แต่มารดาเป็นคนบาปหยาบช้า เกลียดชังนักบวชมาก ครั้งหนึ่งก่อนออกไปค้าขายต่างเมืองได้ขอร้องมารดาให้มีศรัทธาเคารพภิกษุ ภิกษุณี นางรับปากแต่กลับร้ายต่อนักบวช ทั้งหลายเหมือนเดิม พอบุตรชายกลับมาถามว่าได้ทำตามที่รับปากไว้หรือไม่ นางสาบานว่าถ้าไม่ได้ทำขอให้ตกอเวจีนรก พญายมจึงส่งยมทูตมาเอาตัวลงนรกทันที

ส่วนบุตรชายเมื่อออกบวชมีนามว่าโมคคัลลาน์ รู้ว่ามารดาอยู่ในนรก จึงตามลงไป พอได้พบกันก็ส่งอาหารให้ นางรับไปยังไม่ทันได้กินก็ถูกเหล่าเปรตแย่งไปสิ้น ต่อมาท่านจัด อุลลัมพนสังฆทาน (ภัตตาหารหลากรส ผลไม้นานาชนิด น้ำปานะ ธูปเทียนแลเครื่องไทยทาน ใส่พานภาชนะเป็นสังฆทานถวายแด่พระสงฆ์จากทุกสารทิศเมื่อออกพรรษา) ตามที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำ มารดาจึงพ้นจากนรก โดยพระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้กระทำในวัน 15 ค่ำกลางเดือนเจ็ด

ตั้งแต่ราชวงศ์ถังเป็นต้นมา ชื่อ “จงหยวนเจี๋ย” (เทศกาลบูชาเทพจงหยวน) เป็นชื่อทางการของ เทศกาลกลางเดือนเจ็ด หรือ สารทจีน ตลอดมาจนปัจจุบัน

ฉบับพรุ่งนี้ (21 ส.ค.) อ่านกันต่อถึงประเพณีในจงหยวนเจี๋ย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน