ความสำคัญของธงมีมาแต่โบราณ ในสมัยพระนารายณ์แห่งกรุงศรีอยุธยา มีเรือค้าขายของฝรั่งเศสพร้อมราชทูตเดินทางมาถึงป้อมวิไชยเยนทร์ ปากคลองบางกอกใหญ่ และตามธรรมเนียมเรือที่มาเยือนจะต้องชักธงประเทศของตนเองบนเรือเพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่า “มาถึงแล้ว” สยามก็จะยิงสลุตคำนับ ขณะเดียวกันสยามก็ต้องชักธงขึ้นด้วยเพื่อตอบกลับว่า “ยินดีต้อนรับ” แต่ตอนนั้นสยามไม่มีธงสัญลักษณ์ที่ใช้เป็นธงชาติมาก่อน จึงคว้าผ้าสีแดงที่หาได้ง่ายชักขึ้นแทน ฝรั่งเศสจึงยิงสลุตคำนับตอบ

เหตุการณ์ดังกล่าวจึงถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ “ประวัติศาสตร์ธงชาติไทย”

ธงสีแดงล้วน สู่ธงไตรรงค์ ริ้วขาว แดง น้ำเงิน หรือธงชาติไทยในปัจจุบัน มีความเป็นมายาวนาน ประเทศไทยฉลองครบ 100 ปีธงไตรรงค์ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 และในปีที่ 101 นี้ คณะอนุกรรมการดำเนินโครงการจัดกิจกรรมธงไตรรงค์ ธำรงไทย ร่วมกับมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ และวชิราวุธวิทยาลัย จัดนิทรรศการ “ธงไตรรงค์ ธำรงไทย” ณ อาคารนวมภูมินทร์ วชิราวุธวิทยาลัย เวลา 09.00-15.00 น. ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2561 (ยกเว้น วันพุธ วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ) เพื่อรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานธงไตรรงค์เป็นธงประจำชาติไทย รวมถึงการให้ความรู้ ความสำคัญของธงชาติแก่เยาวชนและบุคคลทั่วไป

นิทรรศการเริ่มจากการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางด้าน ความเชื่อของคนโบราณ ระหว่างสีและวิถีชีวิต เช่น การใส่สีเสื้อผ้าเพื่อให้เกิดความโชคดี มีคนอุปถัมภ์ค้ำชู และความเจริญรุ่งเรือง ยึดโยงไปถึงสีของธงที่แสดงความเป็นชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ พัฒนาการของธงชาติไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ข้อปฏิบัติต่างๆ ต่อธงชาติไทย วิธีการใช้ การชัก และการประดับธงในโอกาสต่างๆ

พัฒนาการของธงชาติไทยถือเป็นโซนสำคัญของนิทรรศการนี้ อย่างที่บอกแล้วว่าผ้าพื้นสีแดงล้วนถูกนำมาใช้เป็นธงครั้งแรก ธงสีแดงใช้อย่างแพร่หลายทั้งเรือหลวงและเรือค้าขายของราษฎร ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 จึงนำรูปจักรสีขาวมาประดับกลางธงผ้าพื้นแดง เพื่อแสดงความแตกต่างระหว่างเรือของพระมหากษัตริย์กับเรือของราษฎร

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปช้างภายในวงจักรของเรือหลวง อันมีความหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินอันมีช้างเผือก เนื่องจากได้ช้างเผือกเอกมา 3 ช้าง ส่วนเรือพ่อค้ายังคงใช้ธงแดงตามเดิม

ต่อมาประเทศไทยทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตกมากขึ้น พ.ศ.2398 ทำสนธิสัญญา เบาริ่งกับอังกฤษ พระ บาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่าสยามจำเป็นต้องมีธงชาติตามธรรมเนียมชาติ ตะวันตก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงพื้นสีแดงมีรูปช้างเผือกเปล่าอยู่ตรงกลางเป็นธงชาติสยาม ใช้ทั้ง เรือหลวงและเรือราษฎรโดยยกรูปจักรออก เนื่องจากจักรเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระองค์พระมหากษัตริย์ และธงพื้นสีแดงที่เอกชนสยามใช้ทั่วไปซ้ำกับประเทศอื่นในการติดต่อระหว่างประเทศ

ธงช้างเผือกเปล่าใช้เป็นธงชาติสยามสืบ มาจนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนรูปแบบธงชาติเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแถบยาวสีแดง 3 แถบ สลับกับแถบสีขาว 2 แถบ เหมือนกับธงชาติไทยในปัจจุบัน แต่มีเพียงสีแดงสีเดียว ธงนี้เรียกว่าธงแดงขาว 5 ริ้ว หรือธงค้าขาย แต่สำหรับหน่วยงานราชการของรัฐบาลสยามยังคงใช้ธงช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ แต่ใช้รูปช้างเผือกแบบทรงเครื่องยืนแท่น

จนกระทั่งพ.ศ.2460 รัชกาลที่ 6 เพิ่ม “สีน้ำเงินขาบ” (สีน้ำเงินเข้มเจือม่วง) สีประจำวันพระราชสมภพวันเสาร์อีกสีหนึ่ง เพื่อความสง่างามและให้เป็นทำนองเดียวกับธงชาติของประเทศฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ธงชาติแบบใหม่นี้อวดโฉมต่อสายตาชาวโลกครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งซึ่งไทยเข้าร่วมเป็นฝ่ายพันธมิตร และใช้มาจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงธงไชยเฉลิมพลที่เพิ่มรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นในวงกลมสีแดง ขณะเดียวกันก็มีการออก พระราชบัญญัติและกฎหมายเพื่อรองรับธงชาติในแต่ละยุคสมัย เพื่อให้ประชาชนใช้ธงชาติได้ถูกต้องเหมาะสม

ความรู้อีกอย่างที่เชื่อว่าน้อยคนนักจะทราบ คือการทำลายธงชาติเก่าที่ชำรุดและเสื่อมสภาพ วิธีการคือให้ตัดผืนธงชาติให้ริ้วสีแยกออกจากกัน เพื่อให้สิ้นสภาพหรือสัญลักษณ์อันเป็นผืนธงชาติ หรือวิธีการ พับธงชาติที่ถูกต้องจะต้องพับให้เป็นรูปสามเหลี่ยม โดยให้เห็นแถบสีทั้งสามของธงชาติ

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเชิญชวนให้เยาวชนและประชาชนเข้ามาชมนิทรรศการธงไตรรงค์ธำรงไทย เพราะนอกจากจะได้รับความรู้เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับธงชาติไทยแล้ว ที่สำคัญคือเกิดความภาคภูมิใจในความเป็น ชาติไทย สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้า รัชกาลที่ 6 ที่พระราชทานธงไตรรงค์ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันกษัตริย์ รวมไปถึงความผูกพันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ ชาติ และประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน