หากเอ่ยคำว่า “นิวเคลียร์” หลายคนคงนึกไปถึงเรื่องราวหน้ากลัว อย่างระเบิดหรือ ไม่ก็อุบัติเหตุโรงไฟฟ้าซึ่งมักเป็นภาพลบทั้งสิ้น

แต่ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และการเสียสละของนักวิทยาศาสตร์ที่อุทิศตนทุ่มเทศึกษาค้นคว้าในเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ อย่างไม่หยุดพัก ทำให้รอบตัวของเราในทุกวันนี้มีเทคโนโลยีอันเป็นประโยชน์ ที่เกิดจากพลังงานนิวเคลียร์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายอยู่มากมาย

ในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโน โลยีแห่งชาติและงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม ของไทย ประจำปี 2561 ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค (ฮอลล์ 2-8) เมืองทองธานี ที่ผ่านมา สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. (TINT) องค์การในการกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนรมิต “NUCLEAR WONDERLAND” มหัศจรรย์เมืองนิวเคลียร์ เพื่อเผยแพร่เรื่องราวดีๆ ของพลังงานนิวเคลียร์

ภายในเมืองมหัศจรรย์นี้แบ่งออกเป็น 5 โซนความรู้ ได้แก่ โซนการเกษตร : อาณาจักรแห่งต้นไม้และพืชพันธุ์, โซนอุตสาหกรรม : อาณาจักรแห่งอุตสาหกรรมไฮเทค, โซนแห่งสุขภาพ : อาณาจักรแพทย์ที่ล้ำสมัย, โซนสิ่งแวดล้อม : ศูนย์กลางของสิ่งแวดล้อมโลก และ โซนแห่งอนาคต : โซนแห่งความรู้ของพลังงาน นิวเคลียร์ ร่วมด้วยกิจกรรมและความสนุก รวมไปถึงเรื่องราวความลับของพลังงานนิวเคลียร์ที่รอทุกคนค้นหา

สิ่งที่ใกล้ตัวของพวกเรามากที่สุดคงหนีไม่พ้น “อาหาร” แต่ไม่ต้องกลัวว่าหากใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์กับอาหารแล้วจะเกิดการปนเปื้อนของรังสี ปริมาณรังสีที่ เหมาะสมจะถูกใช้ในการฆ่าเชื้อโรคจุลินทรีย์ สาเหตุของเชื้อโรคมากมาย และยังใช้ในการทำหมันแมลงศัตรูพืชอย่างแมลงวัน ช่วยให้พืชเติบโตโดยไร้การรบกวนจากศัตรูทั้งหลาย

เทคโนโลยีนิวเคลียร์ยังสามารถปรับปรุงปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลด้านการเติบโตของพืช เช่น ยืดอายุการเก็บผลผลิต ปรับสภาพดิน กระตุ้นการเติบโต รวมไปถึงสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อราและแบคทีเรียบางชนิด ทำให้เรามีอาหารแสนอร่อยปราศจากเชื้อโรคไว้รับประทานกัน

ด้าน “สิ่งแวดล้อม” มีการใช้รังสีแกมมาฆ่าเชื้อโรคต่างๆ เช่น น้ำทิ้งจากชุมชนหรือโรงพยาบาลเพื่อป้องกันโรคระบาด และยังใช้รังสีอิเล็กตรอนในการกำจัดก๊าซอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการเผาถ่านหิน นักวิทยาศาสตร์ยังใช้เทคนิคทางนิวเคลียร์ วิเคราะห์สารพิษ ทั้งในดิน พืช อากาศ และน้ำ รวมถึงวัดปริมาณรังสีใน สิ่งแวดล้อม ควบคุมให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย

ภาค “อุตสาหกรรม” ในประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เทคโนโลยีนิวเคลียร์ เข้ามามีบทบาทอย่างมาก เช่น ในเรื่องการบริโภค โดยเฉพาะการเก็บรักษาและถนอมอาหาร ที่สามารถตรวจและควบคุมคุณภาพการผลิต รวมทั้งฉายรังสีเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อโรคปนเปื้อน และยังช่วยยืดอายุอาหารระหว่างส่งผลผลิตไปต่างประเทศ เทคโนโลยีปัจจุบันมีการใช้รังสีแกมมา อิเล็กตรอนพลังงาน และนิวตรอน ฉายไปที่อัญมณีทำให้มีสีสันสวยงามมากขึ้น

ใน “วงการแพทย์” ใช้รังสีมากมายหลายด้าน อาทิ ด้านการตรวจและวินิจฉัยโรค โดยการฉายรังสีเพื่อตรวจสอบความผิดปกติของอวัยวะภายใน ทั้งฟัน ปอด กระดูก ด้านการบำบัดรักษาโรค เป็นการรักษาโรคด้วยรังสีแบบระยะไกลด้วยเครื่องฉายรังสี (การฉายแสง) นอกจากนี้ยังมีด้านการปลอดเชื้อผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยการใช้รังสีอิเล็กตรอนพลังงานสูงเป็นตัวกลางในกระบวนการปลอดเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากมาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน