น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

อยากทราบว่าโรคเกาต์มีสาเหตุจากอะไร รักษายังไงครับ

ฤทธี

โรคเกาต์ อาการ สาเหตุ การแก้ไข (อีก 2 ข้อของหนูแอนฯ พบคำตอบฉบับ 12 ก.ย.)

หนูแอน+คุณยาย

ตอบ ฤทธี-หนูแอนฯ

โรคเกาต์ (Gout) หรือ โรคปวดข้อเรื้อรัง เป็นภาวะความเจ็บป่วยที่มักสังเกตได้จากอาการไขข้ออักเสบกำเริบเฉียบพลันซ้ำๆ มีอาการแดง ตึง แสบร้อน บวมที่ข้อต่อ โดยข้อต่อกระดูกฝ่าเท้าและนิ้วเท้าที่โคนนิ้วหัวแม่เท้ามักได้รับผลกระทบบ่อยที่สุด (ประมาณ 50% ของผู้ป่วย) ขณะที่ข้อต่ออื่นๆ เช่น ส้นเท้า หัวเข่า ข้อมือ นิ้วมือ ก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน

เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายมีกรดยูริกในเลือดสูงอยู่เป็นเวลานานจนเกิดการตกผลึกของยูเรตตามเนื้อเยื่อต่างๆ เช่น ข้อ (ทำให้เกิดข้ออักเสบ) ไต (ทำให้เกิดนิ่วในไตและไตวาย) ส่วนสาเหตุที่ทำให้กรดยูริกในเลือดสูงก็เนื่องมาจากร่างกายสร้างกรดยูริกมากกว่าปริมาณที่ขับออก (นอกจากกรดยูริกในเลือดสูงจะเป็นผลมาจากการที่ร่างกายขาดยีนในการสลายกรดยูริกแล้ว ยังพบว่าอาจเป็นผลมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยเฉพาะอาหารที่มี สารพิวรีนสูง และจากขบวนการสลายสารพิวรีนในร่างกายโดยการสลายโปรตีนและได้สารพิวรีนออกมา ซึ่งกรดยูริกในร่างกายส่วนใหญ่จะเกิดจากกระบวนการนี้)

หรือเกิดจากการที่ร่างกายสร้างกรดยูริกเป็นปกติ แต่ปริมาณที่ขับออกจากร่างกายมีน้อยกว่า (กรดยูริกที่สร้างขึ้นจะขับออกจากร่างกายได้ 2 ทางหลัก คือ ขับออกทางระบบทางเดินอาหาร ซึ่งจะขับออกได้ประมาณ 1 ใน 3 และส่วนที่เหลือจะขับออกทางไตได้ประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณกรดยูริกที่ร่างกายสร้างได้ในแต่ละวัน ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณ 90% จะมีความผิดปกติในการขับกรดยูริกออกทางไต)

กรดยูริก (Uric acid) เป็นสารชนิดหนึ่งที่เป็นผลมาจากการเผาผลาญสารพิวรีน (Purine) ซึ่งเป็นสารที่พบได้มากในสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ เนื้อแดง อาหารทะเล ยีสต์ พืชผักหน่ออ่อนหรือยอดอ่อน และเป็นผลมาจากการสลายตัวของเซลล์ในร่างกาย จึงเป็นสิ่งที่พบได้เป็นปกติในเลือดของคนเรา และจะถูกขับออกทางไต แต่ถ้าหากร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากเกินไปหรือไตขับกรดยูริกได้น้อยลง ก็จะทำให้ร่างกายมีกรดยูริกคั่งอยู่มากผิดปกติ ซึ่งจะตกผลึกสะสมอยู่ตามข้อ ผิวหนัง ไต และอวัยวะอื่นๆ ทำให้เกิดอาการไม่สบายต่างๆ

โรคเกาต์ หมายถึง ภาวะที่มีการเกาะของยูริกที่ข้อจนทำให้เกิดอาการอักเสบ ปวดบวม แดง ร้อน ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์อาจมีกรดยูริกในเลือดสูงหรือปกติก็ได้ และผู้ที่มีกรดยูริกในเลือดสูงก็ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคนี้เสมอไป

ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ข้ออักเสบเป็นซ้ำใหม่ คือความผิดปกติทางพันธุกรรมจากการขาดเอนไซม์บางตัวหรือเอนไซม์บางตัวทำงานมากเกินไป ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักพบว่ามีพ่อแม่ญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย, เกิดจากโรคบางชนิดที่ส่งผลให้มีกรดยูริกในเลือดสูง เช่น มะเร็ง มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคเลือด โรคทาลัสซีเมีย โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงการใช้ยารักษามะเร็งหรือฉายรังสี, เกิดจากไตขับกรดยูริกได้น้อยลง เช่น เป็นโรคไต ภาวะไตวาย ตะกั่วเป็นพิษ, เกิดจากโรคต่อมไร้ท่อบางชนิด เช่น ไฮโปไทรอยด์ (ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน, ภาวะขาดไทรอยด์) เพราะส่งผลให้มีกรดยูริกในเลือดสูง, เกิดจากเพศ เนื่องจากพบโรคนี้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ โดยเฉพาะเบียร์ เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ลดการขับกรดยูริกออกทางไตหรือทางปัสสาวะ หลังการดื่มจึงทำให้ไตขับกรดยูริกได้น้อยลง กรดยูริกจึงคั่งอยู่ในเลือดสูงกว่าปกติ, การรับประทานอาหารที่ให้กรดยูริก (สารพิวรีน) สูงอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ หรือการรับประทานอาหารที่หมักด้วยยีสต์ เพราะเป็นสาเหตุทำให้มีกรดยูริกในเลือดสูง, ความอ้วนหรือภาวะน้ำหนักตัวเกิน โดยอาจสัมพันธ์กับภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินที่ส่งผลให้เกิดโรคอ้วน, เกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่ข้อกระดูก การกระทบกระแทกที่ข้อ

อากาศเย็น หรืออากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงเช้า หรือช่วงก่อนฝนตก, การติดเชื้อของร่างกาย, ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด อาจกระตุ้นให้อาการกำเริบได้ เพราะยาบางชนิดมีผลทำให้ไตขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะได้น้อยลง เช่น แอสไพริน ไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ ไซโคลสปอริน เลโวโดปา เป็นต้น

ฉบับพรุ่งนี้ (11 ก.ย.) พบกับอาการของโรคเกาต์และการรักษา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน