น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

ฉบับวานนี้ (10 ก.ย.) “ฤทธี” และ “หนูแอน+คุณยาย” ถามมาเรื่องโรคเกาต์ เมื่อวานตอบถึงสาเหตุไปแล้ว วันนี้มาดูอาการและการดูแลรักษา

อาการของโรคเกาต์ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้ออย่างรุนแรง จะเกิดขึ้นทันทีแบบฉับพลัน (เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 1 วัน) ถ้าเป็นการปวดครั้งแรกมักจะเป็นเพียงข้อเดียว ข้อที่พบว่าปวดกันมาก คือ นิ้วหัวแม่เท้า (ข้อเท้า ข้อเข่า อาจพบได้บ้าง) ข้อที่ปวดจะมีอาการบวมและเจ็บมากจนเดินไม่ไหว ผิวหนังบริเวณนั้นจะตึง แดง ร้อน และจะพบลักษณะจำเพาะ คือ เมื่ออาการเริ่มทุเลาผิวหนังในบริเวณที่ปวดจะลอกและคัน

ในการปวดข้อครั้งแรก ผู้ป่วยมักจะเป็นอยู่เพียงไม่ กี่วัน แม้ไม่ได้รับการรักษาก็จะค่อยๆ หายไปได้เอง บางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการไข้ หนาวสั่น ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มักจะเริ่มมีอาการปวดในตอนกลางคืน และมักจะเป็นหลังจากดื่มแอลกอฮอล์ หรือหลังกินอาหารมากผิดปกติ หรือเดินสะดุด และบางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการขณะที่มีภาวะเครียดทางจิตใจ เป็นโรคติดเชื้อ หรือได้รับการผ่าตัดด้วยสาเหตุอื่น

ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมโรคให้ดี ระยะแรกๆ อาการอาจกำเริบทุก 1-2 ปี โดยจะเป็นที่ข้อเดิม ต่อมาจะเป็นถี่ขึ้น เช่น ทุก 4-6 เดือน แล้วเป็นทุก 2-3 เดือน จนกระทั่งเป็นทุกเดือน หรือเดือนละหลายครั้ง และระยะการปวดจะนานวันมากขึ้น เช่น กลายเป็น 7-14 วัน จนปวดนานขึ้นเป็นหลายสัปดาห์หรือปวดตลอดเวลา ส่วนข้อที่ปวดก็จะเพิ่มจากข้อเดียวเป็น 2-3 ข้อ เช่น ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า ข้อเท้า นิ้วมือ นิ้วเท้า จนเป็นเกือบทุกข้อ

ระยะหลังๆ เมื่อข้ออักเสบหลายข้อขึ้น ผู้ป่วยมักจะสังเกตว่ามีปุ่มก้อนขึ้นที่บริเวณที่เคยอักเสบบ่อยๆ เช่น ข้อนิ้วเท้า ข้อนิ้วมือ ข้อศอก ข้อเข่า รวมทั้งที่หู เรียกว่าปุ่มโรคเกาต์ หรือตุ่มโทฟัส หรือโทไฟ (Tophus หรือ Tophi) ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของกรดยูริก ปุ่มก้อนนี้จะโตขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งแตกออกเป็นสารขาวๆ คล้ายชอล์กหรือยาสีฟันไหลออกมา กลายเป็นแผลเรื้อรัง หายช้า และในที่สุดข้อต่างๆ ก็จะค่อยๆ พิการจนใช้งานไม่ได้ ทั้งอาจเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ (พบได้ประมาณ 25%) ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะแทรกซ้อนตามมา

ผู้ป่วยโรคเกาต์มักจะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และภาวะหลอดเลือดแดงแข็งมากกว่าคนปกติ (สันนิษฐานว่าอาจมีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ของโรคเหล่านี้ร่วมกับโรคเกาต์) และถ้าหากผู้ป่วยไม่ได้ควบคุมโรคเหล่านี้ให้ดี ปล่อยให้เป็นแบบเรื้อรัง ในที่สุดก็อาจจะกลายเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบ และไตวายจน เสียชีวิต

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเกาต์ (วิธีป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บป่วยจากโรคเกาต์เบื้องต้น) เมื่อมีอาการปวดควรนอนพักผ่อน ควรดื่มน้ำให้มากๆ อย่างน้อยวันละ 3 ลิตร เพื่อป้องกันนิ่วในไต (การดื่มน้ำมากๆ จะช่วยเพิ่มการขับกรดยูริกออกทางไต และช่วยลดโอกาสการ ตกตะกอนจนเป็นนิ่วในไต) เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำ งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด โดยเฉพาะเบียร์ เพราะเมื่อร่างกายเผาผลาญแอลกอฮอล์จะทำให้มีการเพิ่มของสาร แล็กเทสในเลือด สารนี้จะไปยับยั้งการขับกรดยูริกออกจากไต

หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก ไข่ปลา หอย ปลาซาร์ดีน ปลาแฮริง ปลาไส้ตัน ปลาดุก กะปิ ซุปก้อน น้ำสกัดเนื้อ น้ำต้มกระดูก กระถิน ชะอม ดอกสะเดา ยอดแค ยอดผัก เห็ด สาหร่าย อาหารที่ใส่ยีสต์ น้ำเกรวี ส่วนอาหารที่มีกรดยูริกปานกลางซึ่งผู้ป่วยสามารถรับประทานได้พอประมาณ แต่อย่าซ้ำบ่อย

ได้แก่ เนื้อสัตว์ ปลา หมึก ปู ดอกกะหล่ำ ผักโขม ผักปวยเล้ง ใบขี้เหล็ก สะตอ หน่อไม้ ถั่ว เป็นต้น และอาหารที่มีกรดยูริกต่ำ ซึ่งผู้ป่วยสามารถรับประทานได้ไม่จำกัด ได้แก่ ผักที่ไม่ใช่ยอดอ่อน หัวกะหล่ำ ผลไม้ ธัญพืช ปลาน้ำจืด ข้าว ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต แป้ง ไข่ เต้าหู้ นมพร่องไขมัน โยเกิร์ต เนย ช็อกโกแลต ชา กาแฟ

โรคเกาต์แม้จะเป็นโรคเรื้อรัง แต่ก็ไม่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต (ถ้าไม่ปล่อยให้เป็นเรื้อรังจนเกิดไตวาย) และหากได้รับการรักษาอย่างจริงจังก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข ผู้ป่วยจึงควรเข้ารับการรักษาอย่าได้ขาด กินยาตามที่แพทย์สั่งไปตลอดชีวิต ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ และหมั่นตรวจเลือดอยู่เป็นระยะๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน