เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์จิน อะคิยาม่า รองประธานมหาวิทยาลัยโตเกียว และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บ่มเพาะเด็กอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ IQ สูง สู่การเป็นนักวิจัยที่มีศักยภาพสูง” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษ ครั้งที่ 15 จัดโดย สวทช. และ สพฐ. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ศ.อะคิยาม่า กล่าวว่า ส่วนตัวไม่คิดว่าเด็กที่มีความสามารถพิเศษหมายถึงเด็กที่มีระดับไอคิวสูงหรือมีความรู้มาก และไม่เชื่อว่าจะสามารถค้นพบเด็กอัจฉริยะได้จากการทดสอบระดับสติปัญญา (IQ Test) หากแต่เด็กที่มีความสามารถพิเศษนั้น จะต้องสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมาก ต้องสงสัยใคร่รู้อย่างเต็มที่และเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่เด็กจะเติบโตกลายมาเป็นนักวิจัยที่ยิ่งใหญ่

“คะแนนสอบที่ดีนั้นไม่สำคัญสำหรับการเป็นนักวิจัย สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่พวกเขาสนใจในบางสิ่งและสามารถครุ่นคิดถึงสิ่งนั้นได้ต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานแรมเดือนแรมปี ดังนั้นเราจะไม่สามารถหาเด็กที่มีความสามารถพิเศษได้จากการทดสอบระดับไอคิว การสอนมีความสำคัญมากที่จะทำให้เด็กที่มีความสามารถพิเศษกลายเป็นนักวิจัยที่ยิ่งใหญ่ได้ ครูจึงมีบทบาทสำคัญมาก ควรสอนแต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานหลักและสนับสนุนให้เด็กใช้ความคิดอย่างลึกซึ้ง” ศ.อะคิยาม่ากล่าว

ด้าน ศาสตราจารย์จูน เมเคอร์ นักการศึกษาแห่งอริโซนา สหรัฐ อเมริกา ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “อัจฉริยะสร้างได้ด้วยทฤษฎี Prism รังสรรค์จินตนาการบวกกับการดูแลจิตใจและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดอัจฉริยะได้” และยังนำเสนอทฤษฎีผลึกแท่งเแก้ว (The Prism Theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีใหม่ที่ใช้แสดงถึงความสามารถพิเศษของเด็ก เพื่อสนับสนุนและบ่มเพาะความสามารถพิเศษที่แสดงออกมานั้นให้เติบโตไปพร้อมกัน

โดย ศ.เมเคอร์กล่าวว่าองค์ประกอบสำคัญของทฤษฎีผลึกแท่งเแก้ว คิดค้นโดย ศ.เมเคอร์ร่วมกับนักวิจัยอีก 3 คน คือแสงสีขาวที่มาตกกระทบกับผลึกแท่งแก้วแล้วให้ผลลัพธ์ของแสงออกมาเป็นหลากหลายสี แสงสีขาวนั้นเปรียบได้กับปัญหา ความสนใจ หรือความกระหายใคร่รู้ในการทำบางสิ่ง หรือเป็นได้ทั้งปัญหาที่ต้องการคำตอบ ต้องการทางแก้ไข เป็นได้ทั้งความหลงใหลความชอบในบางสิ่งที่มนุษย์ต้องการสร้างหรือต้องการเปลี่ยนแปลง

เมื่อแสงสีขาวมาตกกระทบกับผลึกแท่งแก้วซึ่งภายในนั้นเปรียบเสมือนองค์ประกอบของสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ หรือสภาพแวดล้อมที่บุคคลนั้นมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบข้าง อาทิ วิธีการสอน การตั้งคำถามของครู ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นแสงหลายเฉดสีที่สะท้อนออกมาในอีกหลายด้านของผลึกแท่งแก้ว แสงสี ที่สะท้อนออกมาเปรียบได้กับความสามารถทั่วไปและความสามารถเฉพาะของมนุษย์ในหลากหลายสาขา

“กระบวนการภายในผลึกแท่งแก้วคือการให้การศึกษากับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ให้โอกาสพวกเขาค้นหาและตามหาสิ่งที่ตัวเอง ชื่นชอบ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องออกแบบแนวทางสำหรับเด็กเหล่านั้นว่าควรเรียนอะไรและเรียนอย่างไร สิ่งสำคัญ 3 ประการที่จะพัฒนาเด็กให้มีความสามารถพิเศษ ได้แก่ ส่งเสริมความสามารถตามธรรมชาติ สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างโอกาสในการเรียนรู้ ทั้ง 3 สิ่งนี้ล้วนสร้างให้เกิดขึ้นได้ด้วยพ่อแม่และครู” ศ.เมเคอร์กล่าวและว่า หลายคนดูเหมือนจะเชื่อว่าผลของการทดสอบไอคิวนั้นจะเป็นมาตรวัดความอัจฉริยะของเด็กได้ แต่ตนไม่คิดเช่นนั้น การทดสอบไอคิวเป็นเพียงมาตรวัดความรู้และประสบการณ์ของเด็กเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน