“รายงานพิเศษ”

ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา หัวหน้าคณะนักวิจัย Operation BIM กลุ่ม ผู้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลสุขภาพ ผู้ป่วยมะเร็ง และปัญหาสุขภาพจากโรคต่างๆ กล่าวว่า วิธีปฏิบัติตัวเบื้องต้นหากมีคนใกล้ชิดป่วย หรือสร้างกำลังใจให้ตัวเองเวลาเป็นผู้ป่วยเอง เพราะกำลังใจเป็นสิ่งแรกที่สำคัญในการร่วมเผชิญปัญหา และช่วยลดความวิตกกังวลทั้งตัวผู้ป่วย และญาติของผู้ป่วย

1.ยอมรับแล้วก้าวต่อไป สำหรับผู้ป่วยมันคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ยิ่งยอมรับเร็วเท่าไหร่ ก็จะจัดการปัญหาอย่างไรได้รวดเร็วขึ้นเท่านั้น ส่วนเพื่อนหรือญาติ จำเป็นต้อง เข้มแข็ง ยอมรับ และเข้าใจสถานการณ์ก่อน จึงจะไปสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วยยอมรับได้อย่างมีพลัง สารพัดคำปลอบโยนจากคน ที่เข้าใจใกล้ชิด คือยาบรรเทาขนานแรก ที่จะใช้ได้

2.ลดความกังวล-เติมกำลังใจ ผู้ป่วย ต้องกล้าพูดคุยกับครอบครัว เพื่อนฝูง คนใกล้ชิด เพื่อระบายความกังวลใจ และหาทางออกร่วมกันหลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียวแน่นอน ส่วนเพื่อนหรือญาติ ที่ให้ผู้ป่วยได้ระบายความทุกข์ ต้องหลีกเลี่ยงการพูดถึงความเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติด้านร่างกาย รูปลักษณ์ และเรื่องแง่ลบของโรคมะเร็ง แล้วเติมความสุข ให้กำลังใจ เพื่อผู้ป่วยจะก้าวผ่านความทุกข์ท้อ กังวลใจ ไปได้

3.เข้าถึงรายละเอียดในการจัดการ ผู้ป่วยต้องมีส่วนร่วมคิด ร่วมหาทางรักษา จนตัวเองเข้าใจและพอใจ รวมถึงการปฏิบัติตนที่ถูกต้องระหว่างการรับการรักษา เพื่อลดความผิดพลาด หรือทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง ขณะที่เพื่อนหรือญาติ ต้องร่วมคิด ตัดสินใจ ตลอดจนการปฏิบัติตัวและอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ ซึ่งเป็นอีกอุปสรรคสำคัญในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็ง

4.ศึกษาเพิ่มเติมเสริมการรักษา ผู้ป่วยควรรู้จักธรรมชาติของโรค เพื่อที่จะเข้าใจและตั้งรับถึงการเปลี่ยนแปลงในแต่ละอาการ ซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงพัฒนาสภาพจิตใจ คิดแต่สิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุข และมีความมั่นใจเต็มเปี่ยม ส่วนเพื่อนหรือญาติ ควรศึกษาหาข้อมูลในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มเติม เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างดีต่อเนื่อง

5.ออกกำลังกายและมีกิจกรรมไม่ขาด ผู้ป่วยควรออกกำลังกายไม่หักโหม ช่วยให้ร่างกายสดชื่น นอนหลับสนิท กระตุ้นการอยากอาหาร การไหลเวียนเลือด และลดโอกาสท้องผูก หากไม่ไหวขอให้พยายามเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ ไม่นอนติดเตียงหรือนั่งติดเก้าอี้

ส่วนเพื่อนหรือญาติ สนับสนุนกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ทรุด คือ พาออกกำลังกาย ขยับตัวสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเดินสั้นๆ ในสวน การหยิบจับสิ่งของด้วยตัวเอง การทำงานบ้านอย่างง่ายๆ นอกจากนั้นการนั่งเป็นเพื่อนคุย ศิลปะและดนตรีอย่างง่ายๆ ที่ทำร่วมกันได้ ด้วยความสนุกก็ช่วยได้

6.ลาขาดจากสิ่งบั่นทอนสุขภาพ ผู้ป่วย ต้องงดหรือเลิกสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัดเพราะจะติดเชื้อได้ง่าย รวมถึงดูแลรักษา และควบคุมโรคอื่นๆ ควบคู่ร่วมไปกับการรักษาโรคมะเร็ง ไม่ให้โรคต่างๆ หรืออาการแทรกซ้อนขยายผล ซ้ำเติมความป่วยไข้ที่มีอยู่ เพื่อนหรือญาติ ก็คอยผลักดันให้ผู้ป่วย ลด ละ เลิก ให้กำลังใจ และคอยควบคุมพฤติกรรมของผู้ป่วยอย่างถนอมน้ำใจ ให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจเพื่อประสิทธิผลที่ดีในการรักษา

7.ปรับพฤติกรรมการกิน เติมความสดชื่น ผู้ป่วยเมื่อกินอาหารได้น้อย ให้พยายามกินในจำนวนมื้อที่บ่อยขึ้น และต้องงดอาหารหวาน เพราะทำให้มะเร็งขยายตัวเร็ว และงดอาหารเค็ม เพราะมีผลต่อการทำงานของไต หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารทอด ผัด หรือมีกลิ่นรุนแรง เพราะมักกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และควรงดอาหารที่จะกระตุ้นเซลล์มะเร็งได้ เช่น น้ำตาล หรือเนื้อแดง เพื่อนหรือญาติ ช่วยปรับเปลี่ยนสถานที่กินอาหารของผู้ป่วย ลดความจำเจ

8.ตั้งเป้าหมายตกรางวัลให้ชีวิต ทั้งผู้ป่วย และคนใกล้ชิดเอง ต้องมีหัวใจเดียวกันว่า การมีชีวิตอยู่ต่อนั้นมีความหมายมาก ทั้งต่อตัวเรา คนรอบข้าง ยังมีสิ่งที่เราชอบ กิจกรรมที่เราอยากทำ สถานที่ที่ยังไม่ได้ไป หรืออะไรที่เรารัก

“ตั้งธงเป็นกำลังใจเลยว่า เราจะตายไม่ได้ เราจะหายดี แล้วเราจะได้ทำ จะได้ลอง จะได้ไปคว้าเอารางวัลที่เรารอคอย” ศ.ดร. พิเชษฐ์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน