ป่าช้าเหงา ชื่ออื่น หนานเฉาเหว่ย ป่าเฮ่วหมอง ใน ภาษาล้านนา และ ไทใหญ่ คำว่า “ป่าเฮ่ว” หมายถึงป่าช้า “ป่าเฮ่วหมอง” จึงหมายถึงป่าช้าหม่นหมอง เพราะไม่มีคนเสียชีวิต ไม่มีคนมาใช้บริการป่าช้า ถือเป็นสมุนไพรที่มีความสำคัญมาก

เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย และยังนำมารักษาโรคภัยทั้งที่เป็นพิษเฉียบพลัน และโรคเรื้อรังได้ มีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน นิยมปลูกเพื่อใช้ประโยชน์เป็นยา ใบสดมีรสขมจัด เมื่อเคี้ยวกินสดตอนแรกจะขมในปากมาก แต่พอกินไปได้สักพักจะรู้สึกว่ามีรสหวานในปากและลำคอ

เป็นไม้ยืนต้น สูง 6-8 เมตร ใบเดี่ยวออกเรียงสลับ รูปรี ปลายแหลม โคนป้านหรือเกือบมน ใบอ่อนและใบแก่มีรสขมจัด ดอกสีขาวออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ผลทรงกลม มีเมล็ด

สรรพคุณ ใบรสขมจัด ใช้ต้มกับน้ำแล้วดื่มช่วยลดเบาหวาน แก้อาการของโรคเกาต์ และลดความดันโลหิตสูง การรับประทานสมุนไพรป่าช้าเหงา อาจทำให้เกิดภาวะโซเดียมต่ำ จึงแนะนำให้รับประทานอาหารรสจัดขึ้นเมื่อรับประทานสมุนไพรชนิดนี้

ขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน