น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

อยากรู้เรื่องสิงโตครับ ทุกอย่างเลย รวมถึงยุคที่เริ่มมี ด้วย นับเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์หรือไม่

เทียนทอง

ตอบ เทียนทอง

สิงโต (Lion) ชื่อวิทยาศาสตร์ Panthera leo จัดอยู่ในวงศ์ Felidae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับแมว มีขนาดลำตัวใหญ่ พื้นลำตัว สีน้ำตาล ไม่มีลาย ขนสั้นเกรียน สีน้ำตาลอ่อน บางตัวสีออกเทาเงิน บางตัวสีอมแดง หรือน้ำตาลแดง

ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีขนสร้อยคอยาว ใบหน้ากว้าง ปากค่อนข้างยาว จมูกสีดำสนิท ม่านตาสีเหลืองหรืออำพัน หูสั้นกลม หลังหูดำ ขาหน้าใหญ่และแข็งแรงกว่าขาหลัง อุ้งตีนกว้าง หางค่อนข้างยาว ปลายหางเป็นพู่สีดำ ชอบอยู่เป็นฝูงตามทุ่งโล่ง

การศึกษาพบว่ามีวิวัฒนาการในทวีปแอฟริการะหว่าง 1 ล้าน-800,000 ปีมาแล้ว ก่อนจะแพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคซีกโลกตอนเหนือ เริ่มจากการปรากฏตัวในทวีปยุโรปครั้งแรกเมื่อ 700,000 ปีก่อน โดยค้นพบซากสิงโตชนิดย่อย Panthera leo fossilis ที่อีแซร์เนีย (Isernia) อิตาลี

จากสิงโตชนิดนี้ก็กลายเป็นสิงโตถ้ำ หรือ Panthera leo spelaea ปรากฏตัวขึ้นเมื่อ 300,000 ปีมาแล้ว สิงโตพันธุ์นี้แพร่กระจายไปไกลอย่างน้อยก็ถึงกรุงปักกิ่ง เพราะพบซากดึกดำบรรพ์บริเวณเดียวกับที่พบซากมนุษย์ปักกิ่งในโจวโข่วเตี้ยน

ทั้งยังพบภาพวาดของสิงโตตามถ้ำต่างๆ และซากดึกดำบรรพ์ที่มีอายุ 200,000 ปี แสดงว่าสิงโตพันธุ์นี้เคยอาศัยร่วมสมัยกับมนุษย์ยุคใหม่มาก่อน นอกจากนี้ยังเคยพบกระดูกสิงโตคู่กับเครื่องมือของมนุษย์นีแอนเดอทาล

ระหว่างปลายสมัยไพลสโตซีน สิงโตแพร่กระจายสู่อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ วิวัฒนาการเป็นสิงโตอเมริกา (Panthera leo atrox) รูปร่างคล้ายสิงโตถ้ำยุโรป พบซากดึกดำบรรพ์ตามไซบีเรียตะวันออก อะแลสกา และที่อื่นๆ

สิงโตอเมริกาอาศัยร่วมกับมนุษย์ หมาป่าไดร์วูล์ฟ ม้า ไบซัน มาจนถึงราว 11,500 ปีก่อน ในยุคไพลสโตซีน เขตกระจายพันธุ์ของสิงโตแพร่ไปไกลเหนือสุดถึงอังกฤษ ตะวันออกสุดถึงปาเลสไตน์ อาหรับ และอินเดีย

และที่สุดสิงโตสูญหายไปจากตอนเหนือของทวีปยูเรเชียและทวีปอเมริกาในช่วงจุดจบของการเปลี่ยนสภาพโดยธารน้ำแข็งครั้งสุดท้ายเมื่อ 10,000 ปีมาแล้ว ซึ่งอาจเป็นเหตุการณ์การสูญพันธุ์ ครั้งที่ 2 ของ มหพรรณสัตว์ (megafauna) ในสมัยไพลสโตซีน

สิงโตเป็นสัตว์ที่สูงที่สุด (สูงจรดหัวไหล่) ในวงศ์แมว และมีน้ำหนักมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากเสือโคร่ง กะโหลกศีรษะก็คล้ายกับเสือโคร่ง แต่กระดูกหน้าผากยุบลงและแบนราบกับหลังเบ้าตาสั้นกว่าเล็กน้อย เป็นสมาชิกเพียงชนิดเดียวในวงศ์เสือและแมวที่แสดงความแตกต่างระหว่างเพศอย่างชัดเจน

แต่ละเพศมีบทบาทพิเศษต่างกันไปในฝูง กรณีสิงโตเพศเมีย เป็นนักล่า ไม่มีแผงคอหนาเป็นภาระเช่นในเพศผู้ ซึ่งดูเหมือนเป็นอุปสรรคต่อสิงโตเพศผู้ที่จะอำพรางตัวเข้าใกล้เหยื่อและสร้างความร้อนเป็นอย่างมากเมื่อต้องวิ่งไล่ติดตามเหยื่อ

สีของแผงคอในสิงโตเพศผู้อยู่ระหว่างสีเหลืองอ่อนถึงดำ ปกติจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสิงโตมีอายุมากขึ้น

แผงคอของสิงโตเพศผู้ที่โตเต็มวัยเป็นลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นของสปีชีส์นี้ ไม่พบในสัตว์ในวงศ์เดียวกันชนิดอื่น ส่งผลให้มันแลดูมีขนาดใหญ่ขึ้น ช่วยแสดงออกถึงการข่มขู่ได้ดีเยี่ยมเมื่อเผชิญหน้ากับสิงโตตัวอื่นและ ไฮยีนาลายจุด คู่แข่งสำคัญ

การมีหรือไม่มีแผงคอ รวมถึงสีและขนาด เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขทางพันธุกรรม การเจริญเติบโต สภาพอากาศ และการสร้างฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน

มีหลักทั่วไปว่าขนแผงคอสีเข้มกว่าและใหญ่กว่าคือสิงโตที่มีสุขภาพดีกว่า การเลือกคู่ของนางสิงห์ก็มักจะเลือกสิงโตเพศผู้ที่มีแผงคอหนาแน่นและมีสีเข้มที่สุด ทั้งแผงคอของสิงโตมีลักษณะต่างกันไปในแต่ละตัวด้วย

นักวิจัยก็ใช้ลักษณะของแผงคอในการจำแนกสิงโตแต่ละตัวจากระยะไกล และมีหลักฐานว่าสิงโตก็ใช้รูปร่างของแผงคอในการจำแนกสิงโตตัวผู้จากระยะไกลเช่นกัน

อีกลักษณะเด่นชัดมากที่ปรากฏในสิงโตเพศผู้และเพศเมียคือมีขนกระจุกที่ปลายหาง ในสิงโตบางตัวขนกระจุกจะปกปิดเงี่ยงกระดูก หรือปุ่มงอก ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ซึ่งเกิดจากส่วนสุดท้ายของกระดูกหางรวมตัวกัน สิงโตเป็นสัตว์ตระกูลแมวเพียงชนิดเดียวที่มีขนกระจุกที่ปลายหาง หน้าที่ของขนกระจุกและเงี่ยงกระดูกยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

พรุ่งนี้ (25 ก.ย.) พบกับจอมขี้เกียจตัวโต และเจ้าป่านักล่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน