“มัณฑนา ชอุ่มผล”

หนังประโมทัย หรือ หนังบักตื้อ เป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวอีสาน หุ่นเชิดที่เล่นกับแสงและเงาเป็นเครื่องมือช่วยบอกสื่อดีๆ ให้คนในชุมชนและทุกสถานที่ที่ไปจัดแสดง เรื่องราวแสนสนุกแฝงด้วยคุณธรรมถ่ายทอดผ่านเด็กๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่

“วันนี้พาหนังตะลุงอีสานมา 3 คณะครับ มีคณะมีชัยหนังตะลุง จ.ร้อยเอ็ด เป็นคณะคนเฒ่าคนแก่พ่อครูแม่ครูที่สอนเด็กๆ อีกกลุ่มคือเยาวชนคณะเพชรอีสานจากบ้านดงบัง จ.มหาสารคาม และอีกคณะจากโรงเรียนบ้านเพียมาต อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ที่ใช้สื่อพื้นบ้านมาเล่าเรื่องราวการอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านตัวเองครับ” ปรีชา การุณ หรือ ครูเซียง ศิลปินอีสานผู้นำการแสดงหนัง บักตื้อมาบุกกรุงครั้งนี้กล่าว

การเข้าเมืองของคณะหนังตะลุงอีสานจาก จ.ร้อยเอ็ด จ.มหาสารคาม และจ.ศรีสะเกษ ในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายคือมาร่วมงานมหกรรมผลงานสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้าง สรรค์ เมื่อวันที่ 14-15 กันยายนที่ผ่านมา ในงานนี้นำเด็กๆ ที่สร้างสื่อดีๆ ทั่วประเทศไทยมารวมตัวกันเพื่อแสดงผลงาน เด็กๆ บางกลุ่มเล่นดนตรี หรือร้องเพลงแร็พ บางกลุ่มแสดงดนตรีพื้นบ้าน รวมถึงเด็กๆ คณะหนังตะลุงอีสานหรือหนังประโมทัย ที่ใช้สื่อพื้นบ้านมาเป็นเครื่องมือบอกเล่าเรื่องราวความดีงามในท้องถิ่นของตนเอง

“หนังประโมทัยเรื่องสังข์ศิลป์ชัย เป็นเรื่องที่ชาวบ้านดงบังแกะมาจากภาพจิตร กรรมฝาผนังในสิมหรือโบสถ์ในหมู่บ้านครับ เป็นเรื่องราวที่บอกเล่าชาดกเรื่องสินชัยที่กตัญญูรู้คุณพ่อแม่ ออกไปช่วยรบกับยักษ์เพื่อเอาตัวอาคือนาง สุมณฑากลับมาจากเมืองยักษ์กุมภัณฑ์ให้ได้ครับ ระหว่างทางสนุกตรงได้สู้รบกับยักษ์กับงูซวง จนในที่สุดก็ช่วยอากลับมาได้ครับ” น้องแบบเล่าถึงละครหุ่นที่ตัวเองมีส่วนร่วมทั้งเชิดและพากย์เสียง

ด้วยสำเนียงภาษาอีสาน สำหรับคนกรุงเทพฯ อาจจะฟังยาก แต่เมื่อเสียงแคนและเครื่องดนตรี ดังขึ้น เด็กๆ ที่มาดูการเชิดหนังตะลุงอีสานกลับสนุกสนานและมีอารมณ์ร่วมไปกับการแสดงที่แสนสนุก

“พวกหนูมาแสดงเกี่ยวกับพิธีบุญเฮือส่วงบวง สรวงเจ้าพ่อดงภูดินค่ะ เป็นพิธีเซ่นไหว้เจ้าป่าที่บ้านเราทำกันทุกปี เพราะว่าป่าให้อาหารและความอุดมสมบูรณ์กับทุกคนในหมู่บ้านของเราค่ะ” น้องมิ้น เยาวชนจากโรงเรียนบ้านเพียมาต อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เล่าที่มาการแสดงหนังบักตื้อของบ้านตัวเอง

การแสดงหนังตะลุง ร้องลำแบบโบราณ เป็นวิธีการสื่อสารเรื่องราว ทั้งความสนุกและข้อคิดคุณธรรมในแบบยุคเก่า แต่เล่าและสืบทอดด้วยคนรุ่นใหม่ๆ เด็กๆ ได้ช่วยกันรักษาวัฒนธรรม แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธสื่อแบบใหม่ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาในชีวิต

“ผมก็ชอบเข้าเฟซบุ๊กหรือยูทูบครับ บางทีก็ไปเล่นกับเพื่อนหรือดูคลิปการแสดงของกลุ่มอื่นๆ เพื่อเอามาปรับปรุงคณะตัวเองด้วยครับ บางทีก็ได้ประโยชน์จากการติวหนังสือหรือวิธีการเล่นเกมแบบใหม่ๆ ถึงจะสนุกแต่ก็ไม่ลืมรักษาหนัง บักตื้อของบ้านตัวเองครับ” น้องแท่ง เยาวชนรุ่นพี่คณะเพชรอีสาน จ.มหาสารคาม เล่าถึงประโยชน์ของสื่อยุคใหม่เปรียบเทียบกับของดั้งเดิม

ติดตามการแสดงหนังตะลุงอีสานกลางกรุงในรายการทุ่งแสงตะวัน เสาร์ที่ 29 กันยายนนี้ในตอน “เด็กสร้างสื่อ” เวลา 06.25 น. ทางช่อง 3 และช่อง 33 สื่อสร้างสรรค์ในแบบพื้นบ้านกลางกรุงเทพ มหานครจะเป็นอย่างไร ใครไม่เคยทราบว่าอีสาน ก็มีหนังตะลุงอย่าพลาดชม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน