น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

หย่อมความกดอากาศคืออะไร เป็นยังไง

เกี๊ยวซ่า

ตอบ เกี๊ยวซ่า

แม้ว่าอากาศจะเป็นแก๊ส แต่อากาศก็มีน้ำหนักเช่นเดียวกับของแข็งและของเหลว เรียกน้ำหนักของอากาศที่กดทับกันลงมาเหนือบริเวณนั้นๆ ด้วยอิทธิพลของแรงโน้มถ่วง ว่า “ความกดอากาศ” (Air pressure) ความกดอากาศจะมีความแตกต่างกับแรงที่เกิดจากน้ำหนักกดทับของของแข็งและของเหลวตรงที่ ความกดอากาศมีแรงดันออกทุกทิศทุกทาง เช่นเดียวกับแรงดันของอากาศในลูกโป่ง

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความกดอากาศ ยิ่งสูงขึ้นไป อากาศยิ่งบาง อุณหภูมิยิ่งต่ำ ความกดอากาศยิ่งลดน้อยตามไปด้วย เพราะฉะนั้นความกดอากาศบนยอดเขาจึงน้อยกว่าความกดอากาศที่เชิงเขา อากาศร้อนมีความหนาแน่นน้อยกว่าอากาศเย็น จึงมีความกดอากาศน้อยกว่า เรียกว่า “ความกดอากาศต่ำ” (Low pressure) ในแผนที่อุตุนิยมวิทยาจะใช้อักษร “L” สีแดง เป็นสัญลักษณ์ ขณะที่อากาศเย็นมีความหนาแน่นมากกว่าอากาศร้อน จึงมีความกดอากาศมากกว่า เรียกว่า “ความกดอากาศสูง” (High pressure) ในแผนที่อุตุนิยมวิทยาจะใช้อักษร “H” สีน้ำเงิน เป็นสัญลักษณ์

บริเวณความกดอากาศต่ำ หรือ หย่อมความกดอากาศต่ำ หมายถึง บริเวณที่มีปริมาณอากาศอยู่น้อย ซึ่งจะทำให้น้ำหนักของอากาศน้อยลงตามไปด้วย ทำให้อากาศเบาและลอยตัวสูงขึ้น เรียกว่า กระแสอากาศเคลื่อนขึ้น เมื่อเกิดกระแสอากาศเคลื่อนขึ้นจะเกิดการแทนที่ของอากาศ ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้รู้สึกเย็น คือ เกิดลมขึ้น

ลักษณะการพัดหมุนเวียนของลมในบริเวณศูนย์กลางความกดอากาศต่ำบริเวณส่วนต่างๆ ของโลกจะต่างกัน เช่น ในซีกโลกเหนือจะมีทิศทางการพัดทวนเข็มนาฬิกา ซีกโลกใต้จะพัดตามเข็มนาฬิกา ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากการหมุนรอบตัวเองของโลกที่มีทิศทางหมุนทวนเข็มนาฬิกา เรียกบริเวณความกดอากาศต่ำในแผนที่อากาศว่า ไซโคลน (Cyclone) หรือ ดีเปรสชัน (Depression) หมายถึงบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำ รอบๆ บริเวณความกดอากาศต่ำมีความกดอากาศสูงอยู่ ความกดอากาศสูงจะเคลื่อนเข้ามาแทนที่ศูนย์กลางความกดอากาศต่ำ อากาศที่ศูนย์กลางความกดอากาศต่ำจะลอยขึ้นเบื้องบน อุณหภูมิจะลดต่ำลง ไอน้ำจะเกิดการกลั่นตัวกลายเป็นเมฆฝน หรือหิมะ ตกลงมา โดยทั่วไปสภาพอากาศไม่ดี มีฝนตก และมีพายุ

อธิบายอีกอย่างได้ว่า บริเวณความกดอากาศต่ำ คือบริเวณที่มีค่าความกดอากาศต่ำจากการเปรียบเทียบกับบริเวณโดยรอบ เกิดจากการที่มวลของอากาศได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ มวลอากาศจะยกตัวสูงขึ้นทำให้ความกดอากาศบริเวณนั้นมีค่าลดลง เมื่อมวลอากาศที่ลอยตัวขึ้นเนื่องจากความร้อนเย็นตัวลง ด้านบนทำให้เกิดเป็นเมฆขึ้น โดยทั่วไปท้องฟ้าบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำจะมีเมฆปกคลุม ผลคือทำให้อุณหภูมิของพื้นที่นั้นลดลงจากการสะท้อนแสงและคลื่นที่มาจากดวงอาทิตย์ในช่วงเวลากลางวัน

ส่วน บริเวณความกดอากาศสูง หรือ ความกดอากาศสูง หมายถึง บริเวณที่มีค่าความกดอากาศสูงกว่าบริเวณโดยรอบ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แอนติไซโคลน (Anti Cyclone) เกิดจากศูนย์กลางความกดอากาศสูง อากาศจะเคลื่อนตัวออกมายังบริเวณโดยรอบ โดยในซีกโลกเหนือจะมีทิศทางพัดตามเข็มนาฬิกา ในซีกโลกใต้จะมีทิศทางพัดทวนเข็มนาฬิกา เมื่ออากาศเคลื่อนที่ออกมาจากจุดศูนย์กลาง อากาศข้างบนก็จะเคลื่อนตัวจมลงแทนที่ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ไม่เกิดการกลั่นตัวของไอน้ำแต่อย่างใด สภาพอากาศโดยทั่วไปจึงปลอดโปร่ง ท้องฟ้าแจ่มใส

อุปกรณ์วัดความกดอากาศ เรียกว่า “บาโรมีเตอร์” (Baro meter) หากบรรจุปรอทใส่หลอดแก้วปลายเปิด แล้วคว่ำลง ปรอทจะไม่ไหลออกจากหลอดจนหมด แต่จะหยุดอยู่ที่ระดับสูงประมาณ 760 มิลลิเมตร เนื่องจากอากาศภายนอกกดดันพื้นที่หน้าตัดของอ่างปรอทไว้ ความกดอากาศมีหน่วยวัดเป็น “มิลลิเมตรปรอท” “นิ้วปรอท” และ “มิลลิบาร์” โดยความกดอากาศที่พื้นผิวโลกที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง มีค่าเท่ากับ 760 มิลลิเมตรปรอท (29.92 นิ้วปรอท) หรือ 1,013.25 มิลลิบาร์

ในปัจจุบันนักอุตุนิยมวิทยาใช้คำว่า เฮกโตพาสคาล (Hecto Pascal เขียนย่อว่า hPa) แทนคำว่า มิลลิบาร์ แต่แท้จริงแล้วทั้งสองคือหน่วยเดียวกัน โดย 1 เฮกโตปาสคาล=1 มิลลิบาร์=แรงกด 100 นิวตัน/พื้นที่ 1 ตารางเมตร ส่วนแรง 1 นิวตัน คือ แรงที่ใช้ในการเคลื่อนมวล 1 กิโลกรัม ให้เกิดความเร่ง 1 (เมตร/วินาที)/วินาที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน