ศาสตร์พระราชา เด็กไทยสุขพอเพียง

 

“ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”ถ่ายทอดผ่านผลงานการประกวดภาพวาด ภาพยนตร์สั้น และโมเดลศาสตร์พระราชา ใน “โครงการปลูกจิตสำนึก รู้คุณแผ่นดิน ปีที่ 7” จัดขึ้นโดยกรมกิจการพลเรือน ทหารบก ประจำปี 2561 เพื่อเข้าถึงความหมายของ “ศาสตร์และศิลป์แห่งการพึ่งพาตนเอง” เป็นการ “สุขอย่างพอเพียงและยั่งยืน” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้เป็นมรดกชาติและของปวงชนชาวไทย

การประกวดผลงานภาพวาด ภาพยนตร์สั้น และโมเดลศาสตร์พระราชา ตามโครงการปลูกจิตสำนึก ปีที่ 7 ภายใต้แนวคิด “ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ในปีนี้ มีผู้ร่วมส่งผลงานเข้าชิงชัยจากเยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปรวม 2,705 ชิ้นงาน แบ่งเป็น ผลงานการประกวดภาพวาด 2,473 ชิ้นงาน จัดประกวดรวม 5 ระดับ คือ ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย อุดมศึกษา และประชาชนทั่วไป

ผลงานการประกวดภาพยนตร์สั้น 90 วินาที รวม 159 ชิ้นงาน แบ่งเป็นระดับอุดมศึกษา และประชาชนทั่วไป และผลงานโมเดลศาสตร์พระราชาทั้งหมด 93 โครงงาน แบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษา อุดมศึกษา และประชาชนทั่วไป โดยนำมาจัดแสดงในงานนิทรรศการ “รู้คุณแผ่นดิน” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อไม่นานนี้

ด.ญ.อัยย์ลาณี แลงกาสแคนส์ นักวาดภาพรุ่นเยาว์ จากสถาบันเกษตร อาร์ต สตูดิโอ ผู้ชนะเลิศภาพวาดในระดับประถมศึกษา บอกเล่าถึงผลงานของตนเองว่า “หนูใช้เทคนิคสีไม้ สีน้ำ และจุดสีผสมกัน วาดภาพบ้าน ต้นไม้ ที่นา ปลา และธรรมชาติในชนบทที่เรียบง่าย มีการเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา และปลูกข้าวไว้กินเอง ตามเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 หนูดีใจที่ได้วาดภาพเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ค่ะ”

ภาพวาดชนะเลิศระดับประชาชนซึ่งบอกเล่ารายละเอียดวิถีชีวิตชนบทไทย ผ่านการใช้เทคนิคงานพิมพ์แกะไม้ (woodcut) ก่อนพิมพ์ลงผืนผ้าที่รองพื้นด้วยดินสอพองผสมซึ่งเป็นเทคนิคส่วนตัว เจ้าของ ผลงาน นายมานะชัย วงษ์ประชา ศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าถึงแรงบันดาลใจว่า

“ผมเห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงงานหนักในการพัฒนาและผลักดันโครงการมากมายไปสู่ประชาชนที่อยู่ห่างไกลเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะโครงการในพระราชดำริฯ ที่พระองค์ท่านทรงริเริ่มและทำเพื่อพัฒนาภาคอีสานมากมาย ในฐานะลูกอีสานคนหนึ่งจึงอยากสะท้อนภาพผู้คนในชนบทที่ดำรงชีวิตอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ตลอดจนความสุขที่เกิดจากการน้อมนำหลักการพึ่งพาตัวเองที่ทรงชี้ทางไว้มาเป็นแนวในการดำเนินชีวิต”

ด้านรางวัลชนะเลิศภาพยนตร์ 90 วินาที ในระดับอุดมศึกษา เป็นของทีมแก้วตาดวงใจ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพทรงเปียโนของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่อง “ซิมโฟนี ออน ดิวตี้” นายคุณาวุธ กุณานัย ตัวแทนทีมแก้วตาดวงใจ กล่าวว่า “ต้องการสื่อให้คนไทยทุกคนรู้จักและทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง เปรียบคนไทยหนึ่งคนเสมือนโน้ตดนตรีหนึ่งตัว ถ้าโน้ตแต่ละตัวต่างทำหน้าที่ให้ดีที่สุดด้วยการบรรเลงให้ถูกต้องตรงตามจังหวะ ก็จะสามารถสร้างสรรค์บทเพลงที่ไพเราะได้”

สำหรับ “โมเดลศาสตร์พระราชา” ซึ่งจัดประกวดขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นการประกวดรูปแบบใหม่ที่เน้นการนำหลักวิชาของพระองค์ท่านไปสู่ “การคิดค้นโครงงานที่ปฏิบัติได้จริง” และ “เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม” โครงงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษา เป็นผลงานสร้างสรรค์จากน้องๆ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม ในชื่อโครงงาน “วอล์คเกอร์ แชร์” หรือเก้าอี้พยุงเดินสำหรับผู้สูงอายุ

นายธนากร ทวีปัญญานุกูล อธิบายถึงโครงงาน “วอล์คเกอร์ แชร์” ว่า “แนวโน้มของประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาการเดินที่ค่อนข้างลำบาก ไม่คล่องตัว วอล์คเกอร์ แชร์ ที่ขายในท้องตลาดมีราคาสูง จึงร่วมกันกับเพื่อนๆ อีก 9 คน คิดโครงงานประดิษฐ์วอล์คเกอร์ แชร์ จากไม้ไผ่ ซึ่งเป็นวัสดุเบา หาได้ในท้องถิ่นและราคาไม่แพง เพื่อลดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้สูงอายุที่พอมีกำลังทรัพย์หาซื้อไว้ใช้ได้เอง รวมทั้งเป็นการ แบ่งเบางบประมาณรัฐในการจัดหาอุปกรณ์ดังกล่าวให้ผู้สูงอายุที่ขาดทุนทรัพย์หรือมีฐานะยากจน”

ติดตามผลงานที่ได้รับรางวัลและกิจกรรมความเคลื่อนไหวต่างๆ ในโครงการปลูกจิตสำนึก รู้คุณแผ่นดิน ที่ www.thailandwakeup.com หรือเฟซบุ๊ก thailandwakeup

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน