โรคหลอดเลือดดำอุดตัน อันตรายร้ายแรงที่คนยังไม่รู้จัก

 

รายงานพิเศษ

โรคหลอดเลือดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 1 ใน 4 ของคนในยุคนี้

สำหรับคนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับโรค หลอดเลือดแดงอุดตันซึ่งทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และโรคอัมพาตอัมพฤกษ์มากกว่า โรคหลอดเลือดดำอุดตัน หรือ VTE-Venous thromboembolism ซึ่งเป็นโรคที่ป้องกันได้แต่ยังคงเป็นสาเหตุของการตายเฉียบพลันอันดับ 1 ทั่วโลก

ศ.นพ.พลภัทร โรจน์นครินทร์ สาขาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “โรคหลอดเลือดดำอุดตันประกอบด้วย โรคหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน (DVT-Deep Vein Thrombosis) และโรคหลอดเลือดที่ปอดอุดตัน (PE-Pul monary Embolism) โดยลิ่มเลือดที่ขา (DVT) อาจหลุดไปอุดตันที่ปอด (PE) ทำให้เสียชีวิตได้ จึงต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดดำอุดตันเข้ามารับ การรักษาเพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มผู้ป่วยมีทั้งชาย หญิงและเด็ก ทำให้สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดกิจกรรมให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน ภาวะของโรคในเด็กและการป้องกัน”

การศึกษากลุ่มเสี่ยงเป็นโรคพบว่า ร้อยละ 45-60 ของสาเหตุของโรคนี้เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวหลังการผ่าตัด โดยพบข้อมูลที่น่ากังวลว่า สาเหตุของการเสียชีวิตจากการพักฟื้นหลังผ่าตัดประกอบด้วย การติดเชื้อที่ปอด การติดเชื้อจากสายสวนหลอดเลือดและสาเหตุอัน ไม่พึงประสงค์จากยา

ทั้งนี้ การผ่าตัดบางประเภท เช่น การผ่าตัดข้อเข่าหรือสะโพกส่งผลให้ไขมันหรือโปรตีนปะปนกับกระแสเลือดและเกิดการอุดตันได้ อย่างไรก็ตามโรคหลอดเลือดดำอุดตันซึ่งเป็นสาเหตุหรือปัจจัยของการเสียชีวิตหลังการฟื้นตัวหลังผ่าตัดนั้น สามารถป้องกันได้

นอกจากนี้ผู้ป่วยมะเร็งยังมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดดำอุดตันจากการที่ก้อนมะเร็งโตกดเบียดหลอดเลือดดำ และเนื้อร้ายสามารถสร้างสารเคมีที่ทำให้เลือดเกิดการแข็งตัวง่ายจนนำไปสู่หลอดเลือดอุดตันอีกด้วย

ผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดดำอุดตันมากกว่าผู้ชายด้วยหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็น ฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) ที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ การได้รับฮอร์โมนเพศหญิงจากยาคุมกำเนิด การรับฮอร์โมนทดแทนหลังหมดประจำเดือน เพราะฮอร์โมนเหล่านี้ทำให้เลือดแข็งตัวง่าย

นอกจากนี้ยังมีคนในกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ที่ต้องนั่งหรือนอนทั้งวันโดยไม่ได้ลุกเดิน มีประวัติผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดดำอุดตัน ในครอบครัวผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรับเคมีบำบัด ผู้ที่เป็นโรคอ้วน การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร การสูบบุหรี่และดื่มสุรา

ศ.นพ.พลภัทรกล่าวด้วยว่า สำหรับการสังเกตอาการลิ่มเลือดอุดตันบริเวณขา ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดน่องหรือต้นขา มีอาการขา ข้อเท้าและเท้าบวมร้อนอย่างเห็นได้ชัด ส่วนอาการลิ่มเลือดอุดตันที่ปอดคือ ผู้ป่วยจะเหนื่อย หายใจเร็ว เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว มีอาการหน้ามืดเป็นลม

แม้ว่าโรคหลอดเลือดดำอุดตันสามารถทำให้เสียชีวิตได้ แต่ข่าวดีคือ หลายสาเหตุของการป่วยสามารถป้องกันได้ด้วยการขยับตัวเคลื่อนไหว ลุกเดิน อย่านั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน เมื่อท่านต้องผ่าตัดหรือนอนโรงพยาบาล ควรปรึกษาแพทย์ว่า ท่านมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันหรือไม่ และควรได้รับการป้องกันและรักษาอย่างไร

นอกจากนั้น ยังมีอุปกรณ์ที่ช่วยอื่นๆ เช่น การสวมถุงน่องเพื่อป้องกันหลอดเลือดดำอุดตัน การใช้เครื่องปั๊มลมเพื่อให้เลือดไหลเวียน การใช้ยา ซึ่งวิธีการเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความไม่สะดวกสบาย ส่วนการใช้ยาควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์

สำหรับผู้สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์รณรงค์วันหลอดเลือดอุดตันโลก www.worldthrombosisday.org

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน