‘สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์’
ชวนบริจาค ขอโอกาส-ที่ยืนให้ผู้ป่วยจิต

สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เป็นสถาบันวิชาการด้านนิติ-สุขภาพจิตแห่งเดียวในประเทศไทย ให้บริการมา 48 ปี เดิมชื่อโรงพยาบาลนิติจิตเวช เปิดครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2514 ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประทานนามให้ใหม่เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2545 ว่า “สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์”

นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผอ.สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวถึง ผู้ป่วยจิตเวชว่าผู้ป่วยที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจมีจำนวนน้อย เป็นผู้ที่ขาดโอกาสเพราะถูกสังคมปฏิเสธ เพราะสังคมไม่เข้าใจ ถูกตีตราว่าเป็นคนไม่ดี

“ความจริงแล้วปัญหาสุขภาพจิต และโรคทางจิตเวชสามารถรักษาได้ จากการติดตามดูแลผู้ป่วยหลังจากที่บำบัดรักษา ฟื้นฟู และกลับไปอยู่ในชุมชนพบว่าผู้ป่วยหายและกลับไปใช้ชีวิต

สร้างคุณค่าให้ตนเองและชุมชนได้มากมาย ครอบครัว ชุมชน มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการหายและการดำรงชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น การได้รับการรักษาต่อเนื่อง และการสนับสนุน และดูแลที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาก็ลดปัญหาได้ เพียงขอพื้นที่ให้พวกเขามีโอกาสกลับไปยืนอยู่โดยไม่โดดเดี่ยว” นพ.ศรุตพันธุ์กล่าว

นพ.ศรุตพันธุ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนเพิ่มขึ้นมาก ปี 2561 มีผู้ป่วยในวันละเกือบ 200 คน มีเตียงผู้ป่วยเพียง 185 เตียง แต่มีผู้ป่วยที่ต้องรับไว้รักษาล้นตึกต้องอยู่อย่างแออัด ผู้ป่วยนอก 6.5 หมื่นกว่าคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 17.4 เฉลี่ยวันละเกือบ 300 คน

แต่โครงสร้างและอาคารผู้ป่วยเก่า และชำรุดทรุดโทรมมาก อาคารผู้ป่วยนอกเป็นอาคารที่สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 มีการต่อเติมซ่อมแซม แต่มีข้อจำกัดเรื่องโครงสร้างจึงซ่อมได้ไม่มาก และขาดงบประมาณในการปรับสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาได้ตาม เป้าหมายที่กำหนดไว้

ทั้งนี้โครงสร้างอาคารผู้ป่วยนอกหลัง เดิมรองรับผู้ป่วยได้เพียงวันละ 70-80 คนต่อวัน แต่ปัจจุบันผู้ป่วยจาก 7 เขต ปริมณฑล กรุงเทพฯ และ 8 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี เพิ่มขึ้นเป็นวันละเกือบ 300 คน สถานที่จึงคับแคบมาก

“ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตและ จิตเวชต้องการพื้นที่เป็นสัดส่วนเฉพาะที่ออกแบบเพื่อการเยียวยาจิตใจ บำบัดรักษาทางจิต ฟื้นฟูจิตใจ การให้การปรึกษาทั้งรายกลุ่มและบุคคล จึงมีความจำเป็นต้องหางบประมาณเพื่อปรับปรุงอาคารหลังเก่า

สร้างอาคารผู้ป่วยนอกหลังใหม่ จัดซื้ออุปกรณ์ เทคโนโลยีด้านสุขภาพจิต และจัดหาวัสดุ ครุภัณฑ์ที่จำเป็นที่เอื้อต่อการบำบัดรักษาด้านจิตใจ ปรับสิ่งแวดล้อมที่ผ่อนคลาย และการบริการผู้ป่วยจิตเวช ให้มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป” นพ.ศรุตพันธุ์กล่าว

ผอ.สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์กล่าวอีก ว่า 6 ปีที่ผ่านมาสามารถเรียกเก็บค่าบริการได้เพียงบางส่วน เนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชฐานะยากจน ไม่มีรายได้และเป็นผู้ป่วยเร่ร่อน ทำให้สถาบัน ไม่สามารถเรียกเก็บได้ปีละ 10-32 ล้านบาท จึงขอเรียนเชิญชวนท่านที่มีจิตใจเมตตา และมีความปรารถนาที่จะสร้างกุศลครั้งยิ่งใหญ่ ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ที่ด้อยโอกาสในสังคมให้มีพื้นที่รับบริการที่ ดี เท่ากับให้ที่ยืนอย่างเท่าเทียมในสังคม

ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคได้โดยโอน เงินผ่านธนาคารกรุงไทย เลขที่บัญชี 479-0-12282-4 ชื่อบัญชี “เงินบริจาคของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์” และการเข้าไปกดแชร์ได้ที่ facebook เติมสบายพลัส เพียงกดแชร์ 1 ครั้ง เท่ากับท่านได้บริจาค 1 บาท เพื่อคืนคุณค่าให้ผู้ป่วยจิตมีชีวิตที่ดีขึ้น

….

1 แชร์ เท่ากับ 1 บาท ค่ะ
ร่วมบริจาคได้ที่ ธนาคารกรุงไทย
#เลขที่บัญชี 479-0-12282-4
ชื่อบัญชี : เงินบริจาคของสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์
“ยังมีผู้ป่วยจิตเวชอีกมาก ที่รอโอกาสกลับสู่สังคม”


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน