คุยกับราชาการ์ตูนตลกร้าย โจน คอร์เนลลา กับงานนิทรรศการครั้งที่ 2 ของเขาในเมืองไทย

คุยกับราชาการ์ตูนตลกร้าย – หลังกระแสตอบรับดีเกินคาดจากนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในประเทศไทยในปีที่แล้ว โจน คอร์เนลลา (Joan Cornella) ศิลปินนักวาดการ์ตูนแนวตลกร้าย-เสียดสีสังคม ได้กลับมาอีกครั้งเพื่อแสดงผลงานในนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 2 ของเขา ชื่อว่า Happy Endings

สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักศิลปินวัย 37 คนนี้ โจน คอร์เนลลาเป็นศิลปินประจำเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เขาเป็นที่รู้จักในฐานะผู้เนรมิตการ์ตูนสีสันสดใส ตัวละครใบหน้ายิ้มแย้ม แต่มีเนื้อหาเสียดสี จิกกัด สะท้อนความตลกร้ายของโลกความเป็นจริง โดยแตะทุกประเด็นทางสังคมที่เป็นที่ถกเถียงตั้งแต่การทำแท้ง การฆ่าตัวตาย ยาเสพติดและอื่น ๆ อีกมากมาย

ความพิเศษของนิทรรศการครั้งนี้คือ โจนได้นำงานชิ้นใหม่ล่าสุดของเขามาแสดงร่วมด้วยถึง 40 ชิ้น ซึ่งบางชิ้นนั้น โจนวาดขึ้นมาสำหรับแฟน ๆ ชาวไทยโดยเฉพาะ

ก่อนวันเปิดงานนิทรรศการ ผู้สื่อข่าวมีโอกาสได้พูดคุยกับโจนแบบตัวต่อตัวเกี่ยวกับงานและตัวตนที่แท้จริงของเขา (บทสัมภาษณ์ด้านล่างได้รับการแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย)

Courtesy Joan Cornella

หนึ่งในผลงานชุดล่าสุดของ Joan Cornella

 

กระแสตอบรับจากนิทรรศการเมื่อปีที่แล้วเป็นไงบ้าง?

งานปีที่แล้ว คนมาดูเยอะมาก มีคนต่อคิวเข้ามาในงานตลอดเวลา ผมไม่ได้คาดหวังมาก่อนว่าคนจะเยอะมากขนาดนั้น นอกจากนี้ยังมีแฟน ๆ เข้ามาชื่นชมมากมาย ผมพูดได้เลยว่าในทวีปเอเชีย กระแสตอบรับงานของผมนั้นดีมากจริง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศฝั่งตะวันตก คนดูในเอเชียมีความกระตือรือร้น ตื่นเต้นมากกว่า ฐานแฟน ๆ ของผมส่วนใหญ่อยู่ในฮ่องกง ผมมักจะบอกใคร ๆ แบบนี้ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม

คุยกับราชาการ์ตูนตลกร้าย

ตั้งแต่ปีที่แล้ว คุณเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับเมืองไทยบ้าง?

ปีที่แล้วผมอยู่กรุงเทพ 3 เดือน ตอนแรกผมกะจะมาอยู่แค่เดือนเดียว แต่หลังจากเปิดงานนิทรรศการไป ผมก็ตัดสินใจอยู่ต่อให้นานขึ้น ผมคิดว่า ถ้าให้เปรียบเทียบกรุงเทพกับเมืองหลวงของประเทศอื่นแล้ว ผมคิดว่ากรุงเทพนั้นมีความสบาย ๆ เป็นกันเองกว่าเยอะ ผมชอบกรุงเทพมาก

ส่วนปีนี้ ผมอยู่กรุงเทพมาได้เดือนนึงแล้ว (พูดภาษาไทยได้บ้างมั้ย?) “นิดหน่อย” พูดคำทักทายอย่าง “สวัสดีครับ” “สบายดีมั้ยครับ” ผมคิดว่าผมเป็นคนขี้เกียจแหละ แต่การที่ผมพูดภาษาอังกฤษได้ก็ทำให้สื่อสารกับคนส่วนใหญ่ได้แล้ว

เท่าที่ผมรับรู้มา ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความไม่มั่นคงอยู่ค่อนข้างมาก ถ้าเป็นในแง่ของการเมือง (อ่านข่าวเมืองไทยเยอะมั้ย?) ไม่ค่อยอ่านหรอก เพราะเพื่อนผมส่วนใหญ่อยู่แคว้นคาตาโลเนีย ข่าวที่ผมรับรู้ส่วนใหญ่ก็เลยมาจากทางนั้น แต่ก็นั่นแหละ ยิ่งผมอยู่ที่นี่นาน ผมก็ยิ่งรับรู้อะไร ๆ เกี่ยวกับเมืองไทยมากขึ้น ปีที่แล้วผมยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าประเทศไทยมีรัฐประหาร หรือมีผู้นำเผด็จการ ผมไม่รู้มาก่อนว่าสถานการณ์จะเปราะบางแบบนี้

ใคร ๆ คิดว่าประเทศไทยเป็นที่ ๆ คนมาเที่ยวชายหาด ทะเล มาเฮฮาปาร์ตี้ สนุกสนาน ตอนแรกผมก็คิดแบบนั้น แต่พออยู่ไปนาน ๆ ผมก็รับรู้ถึงเรื่องมุสลิมในชายแดนภาคใต้ รู้เรื่องชนเผ่าที่อยู่ภาคเหนือ ผมได้ยินมาว่าพวกเขาไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนไทย ผมคิดว่าการที่เราจะรู้จักสถานที่หนึ่ง ๆ ได้จริง ๆ มันต้องใช้เวลา ผมไม่อยากเป็นแค่นักท่องเที่ยว ผมอยากใช้เวลาอยู่ที่นี่ให้นานกว่านี้

ช่วยเล่าถึงนิทรรศการ ‘Happy Endings’ ที่จัดแสดงครั้งนี้ให้ฟังหน่อย

จริง ๆ แล้วผมตั้งชื่อ ‘Happy Endings’ ร่วมกับฟาร์มกรุ๊ป (ผู้จัดงาน) มันมาจากการที่ผมชอบวาดตัวการ์ตูนให้แสดงออกทางสีหน้าว่ามีความสุข ไม่ว่าจะด้วยรอยยิ้มคืออะไรก็ตาม ซึ่งแล้วแต่คนจะมองว่าพวกเขามีความสุขจริง ๆ หรือเปล่า

ระหว่างที่ผมอยู่ไทย ผมสร้างผลงานใหม่ขึ้นมาประมาณ 40 ชิ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกชิ้นจะเกี่ยวกับประเทศไทยโดยตรงทั้งหมดนะ ผมอยากให้คนดูเข้าใจงานของผมไม่ว่าเขาจะเป็นใคร มาจากไหน แต่ในอีกมุมนึง การสร้างงานให้คนดูที่อยู่เฉพาะในเมืองนั้น ๆ มีความรู้สึกหรืออารมณ์ร่วมจริง ๆ ก็เป็นอะไรที่สมเหตุสมผล (make sense) ผมอาจจะทำอะไรแบบนี้มากขึ้น ไม่ใช่แค่เพราะคนดูจะรู้สึกว่างานของผมมีส่วนคล้ายกับชีวิตจริงหรือประสบการณ์ของพวกเขาเท่านั้น แต่เพราะมันจะทำให้ผมเข้าใจประเทศนั้น ๆ ได้ลึกซึ้งขึ้นด้วย

ผมพยายามมองหาความเชื่อมโยงระหว่างงานของผมกับสิ่งที่ผมเห็นในชีวิตจริง ผมเอาวัตถุดิบมาจากสิ่งที่ผมเห็น แล้วค่อยหยิบมันมาใส่ในงานของผม ตอนผมไปประเทศจีน มีคนดูเข้ามาบอกผมว่า การ์ตูนของผมคล้ายสถานการณ์ต่าง ๆ ในประเทศของเขา สถานการณ์ที่เปลี่ยนให้คนในประเทศของเขากลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ผมมองว่าสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศจีนหรอก แต่มันเกิดขึ้นทั่วโลก ที่ประเทศไทยเองก็เช่นกัน พอเจออะไรกระทบกระทั่งมาก ๆ เข้า ผู้คนจะสูญเสียความเป็นมนุษย์ไปทีละนิด ๆ เราสนใจความเป็นไปของบ้านเมืองน้อยลงทุกวัน ชีวิตเราดำเนินไปเร็วขึ้นและเร็วขึ้น จนบางครั้งเราก็ลืมการใช้ชีวิตให้คุ้มค่า ลืมไปว่าเรากำลังทำสิ่งที่ถูก หรือสิ่งที่ผิด

การวาดการ์ตูนที่มีเนื้อหาหนัก ๆ แบบนี้ ต้องระวังหรือคำนึงถึงอะไรบ้างมั้ย?

มันก็แล้วแต่ช่วงนะ คนบางกลุ่ม เขาไม่เข้าใจเจตนาของงานผม พวกเขาไม่เข้าใจว่า ตลกร้าย เสียดสี ล้อเลียน คืออะไร แต่เขากลับแปลความหมายแบบตรงไปตรงมา ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมา บางคนกล่าวหาผมว่าผมเป็นคนเหยียดสีผิวบ้างล่ะ ผมเกลียดกระเทยบ้างล่ะ พวกเขาบอกไม่ให้ผมพูดถึงประเด็นพวกนี้ พวกเขาพยายามจะแบนงานผม เซ็นเซอร์งานผม

ผมคิดว่า ตอนนี้นะ แค่ตอนนี้เท่านั้น ผมไม่แคร์หรอกว่าพวกเขาจะพูดอะไร หรือคิดยังไงเกี่ยวกับผม แต่บางครั้ง ผมก็ได้รับการตอบรับที่มันกลายเป็นความกดดันอยู่เหมือนกัน มีวันนึง ผมโพสต์การ์ตูนเกี่ยวกับคนฆ่าตัวตาย แล้วมันก็ดันไปบังเอิญตรงกับวันที่คนดังคนนึงในอเมริกาฆ่าตัวตายพอดี หลังจากนั้นผมก็โดนจู่โจม บอกว่าผมไม่มีความเคารพต่อคนตายเลย หรือก่นด่าว่าผมน่าจะรออีกสักหน่อยแล้วค่อยโพสต์งานชิ้นนั้น เอาจริง ๆ คือตอนนั้นผมไม่รู้ข่าวอะไรเลยด้วยซ้ำ และผมก็คิดนะว่า ถ้าวันนั้นผมรู้ข่าวคนนี้ฆ่าตัวตายขึ้นมาล่ะ จะเป็นยังไง ผมก็มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของผมอยู่ดี

นิทรรศการ ‘Happy Endings’ แสดงตั้งแต่จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2561 ที่ตึกวูลฟ์แพ็ก (Woof Pack) ซอยศาลาแดง 1 บัตรเข้างานราคา 200 บาท สามารถจองผ่านเว็บไซต์ Ticketmelon

อ่านเรื่องนี้ในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ : Thailand’s Ironies Churn in Joan Cornella’s Bangkok Return

ชญานิศ อิทธิพงศ์เมธี

+++++++++++++

อ่านบทความอื่นที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน