อผศ. เตรียมจัดงาน วันที่ระลึกทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1

วันที่ 11 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อผศ.) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงกลาโหม ให้เป็นผู้รับผิดชอบจัดงานระลึกถึงทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น โดยจัดให้มีพิธีทางศาสนาพุทธ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณทหารอาสาผู้ล่วงลับ ที่ห้องชาตินักรบ อาคาร 2 ชั้น 2 องค์การสงเคราะห์ ทหารผ่านศึก โดย พล.อ.ศิริพงษ์ วงศ์ขันตี ผอ.อผศ. เป็นประธานในพิธี

สาหรับในช่วงบ่าย ได้จัดพิธีวางพวงมาลา ที่อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงคราม โลกครั้งที่ 1 โดยในปีนี้ได้เชิญผู้แทนจากส่วนราชการ หน่วยงาน สมาคม มูลนิธิ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศ ประจาประเทศไทย ตลอดจนทายาททหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ร่วมวางพวงมาลา

และในเวลา 15.00 น. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์วางพวงมาลาในบริเวณอนุสาวรีย์ฯ ทั้งนี้ภายในงาน ได้จัดให้มีการแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมพิธีได้รับทราบ และเกิดความตระหนัก รวมทั้งระลึกถึงวีรกรรมตลอดจนความเสียสละของทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1

สงครามโลกครั้งที่1 หรือ “มหาสงคราม” (Great War) เป็นสงครามใหญ่ที่มีศูนย์กลาง อยู่ในยุโรป เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1914 ถึง 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ชนวนของสงคราม เกิดขึ้นจากการลอบปลงพระชนม์ มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย – ฮังการี อาร์ชดยุกฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ ขณะเสด็จเยือนกรุงซาราเจโว เมืองหลวงของแคว้นบอสเนีย – เฮอร์เซโกวีนา

โดย กัฟรีโล ปรินซีป นักชาตินิยมชาวเซอร์เบีย ซึ่ง ออสเตรีย – ฮังการี เชื่อว่าเซอร์เบียอยู่เบื้องหลังในการกระทำดังกล่าว จึงยื่นคำขาดต่อราชอาณาจักรเซอร์เบีย เป็นข้อเรียกร้อง 10 ประการ ซึ่งมีเจตนาทำให้ยอมรับไม่ได้และจุดชนวนสงครามขึ้น เมื่อเซอร์เบียยอมตกลงในข้อเรียกร้องเพียง 8 ข้อ ออสเตรีย-ฮังการี จึงประกาศสงครามเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ.1914

โดยมีประเทศมหาอำนาจของโลกทุกประเทศเกี่ยวพันในสงครามครั้งนี้ คู่กรณีสงครามถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายสัมพันธมิตร ประกอบด้วย ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ รวม 25 ประเทศ และฝ่ายมหาอำนาจกลาง ประกอบด้วย ประเทศเยอรมนี ออสเตรีย – ฮังการี บัลแกเรีย และตุรกี พันธมิตรทั้งสองมีการขยายตัวเมื่อมีชาติเข้าร่วมสู่สงครามมากขึ้น ในท้ายที่สุดมีทหารกว่า 70 ล้านนาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารยุโรป 60 ล้านนาย ถูกระดมเข้าสู่สงครามครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์นี้

สำหรับประเทศสยามภายใต้การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งมีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ทรงเป็นองค์พระประมุขของชาติ ก็มิได้ทรงนิ่งนอนพระทัยกับสงคราม ที่เกิดขึ้น แม้พระองค์ทรงทราบดีว่าพลเมืองของประเทศสยามในขณะนั้นมีความนิยมชมชอบ และเห็นอกเห็นใจเยอรมันนี ที่ถูกประเทศใหญ่ๆ หลายประเทศรุมล้อมรอบด้าน แต่ด้วยพระปรีชาญาณของพระองค์ทำให้ทรงตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับเยอรมันนี และออสเตรีย – ฮังการี โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศสยาม และสันติภาพของโลกเป็นสำคัญ

โดยได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศสงคราม เมื่อเวลาประมาณ 24.00 น. ของวันที่ 21 กรกฎาคม2460 หลังจากการตัดสินพระทัยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว กระทรวงกลาโหมจึงได้ประกาศรับสมัครทหารอาสา เพื่อไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในขั้นต้นได้คัดเลือกทหารเพื่อไปร่วมรบ จำนวน 1,385 นาย

หลังจากนั้นได้มีการฝึกอบรม และทดสอบร่างกายจนเหลือกำลังพลเพื่อปฏิบัติการได้ จำนวน 1,284 นาย จึงได้ทำการจัดตั้งเป็นกองทหารอาสา โดยมี พันเอกพระยาเฉลิมอากาศ หรือ สุณี สุวรรณประทีป เป็นผู้บังคับการ ทหารที่ส่งไปมี 3 หน่วย ประกอบด้วย กองทหารบกรถยนต์ กองบินทหารบก และกองพยาบาล

สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ยืดเยื้อเป็นเวลายาวนานถึง 4 ปี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2461 กองทัพเยอรมันนีได้ติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตรขอเจรจาสงบศึก ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในสัญญาสงบศึกบนรถไฟ ที่เมืองคองเปียน ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2461 ดังนั้น ในวันที่11 พฤศจิกายน 2561 จึงเป็นวันครบรอบ 100 ปี แห่งการยุติสงครามโลกครั้งที่ 1

ทั้งนี้ หลังการลงนามในสัญญาสงบศึกได้มีการ เฉลิมฉลองชัยชนะเกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศสยาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6 ) ทรงกระทำพิธีปฐมกรรมในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2461 โดยจัดให้มีการชุมนุมทหารอาสาที่กลับมาสู่มาตุภูมิ ณ ท้องสนามหลวง บรรยากาศเป็นไปอย่างอบอุ่น และสมเกียรติ เมื่อวันที่ 21 กันยายน2462 กองทหารบกรถยนต์เดินทางถึงท่าราชวรดิฐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ทรงกล่าวต้อนรับกองทหารอาสา เสร็จแล้วทรงผูกเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีพระราชทานแก่ธงไชยเฉลิมพล และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ทหารอาสา

จากการตัดสินพระทัยในครั้งนั้นทำให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศสยามในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ทำให้ประเทศต่าง ๆ ในโลก โดยเฉพาะชาติสัมพันธมิตร ยุโรป และอเมริกา ได้รู้จักประเทศสยาม เนื่องจาก ทหารอาสาของประเทศสยาม ที่ไปร่วมรบได้สร้างชื่อเสียงในด้านความมีระเบียบวินัยที่ดี มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ตลอดจนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีสามารถสร้างความประทับใจให้แก่บรรดาทหารสัมพันธมิตร

จึงก่อให้เกิดความชื่นชมแก่ประเทศสยาม และทหารอาสาของประเทศสยามเป็นอย่างมาก รวมทั้งส่งผลให้ ชาติต่าง ๆในยุโรป จำนวน 13 ประเทศ ที่เคยทำสัญญาผูกมัดประเทศสยาม ยอมแก้ไขสัญญาที่ทำไว้เดิม โดยเฉพาะการยกเลิกอำนาจศาลกงสุลสำหรับชาวต่างชาติที่กระทำผิดในประเทศมาขึ้นศาลประเทศสยาม

และยังได้อิสรภาพในการกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากร ตลอดจนประเทศสยามได้มีโอกาสเข้าร่วมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่กรุงปารีส และได้รับเชิญให้เข้าร่วมก่อตั้งองค์การสันติบาตรชาติ ใน พ.ศ.2462 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้สิ้นสุดลง ประเทศสยามได้จัดสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อ ระลึกถึงเกียรติประวัติทหารอาสาของประเทศสยามที่เดินทางไปร่วมปฏิบัติการรบในทวีปยุโรป หรือที่เรียก กันสั้น ๆ ว่า “อนุสาวรีย์ทหารอาสา” สร้างขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

รวมทั้งเป็นที่บรรจุอัฐิทหารหาญที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติการรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 จำนวน 19 คน โดยมีพิธีบรรจุอัฐิ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2462 และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางพวงมาลาคารวะดวงวิญญาณของเหล่าทหารกล้าที่เสียสละเพื่อประเทศชาติเป็นครั้งแรกอีกด้วย

 


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน