ภาพของท้องทะเลสีคราม ฟ้าสดใส ทิวเขาเขียวขจี ถูกถ่ายทอดเป็นผลงานศิลปะภาพวาดและภาพถ่าย โดยกลุ่มศิลปินที่ลงพื้นที่เพื่อคลุกคลีกับวิถีชีวิตชาวทวายที่ยังคงยึดถือแนวทางการปฏิบัติตัวแบบดั่งเดิมท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ผลงานทั้งหมดถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการภายใต้ชื่อ “หลงรักทวาย”

วิชชุกร ตั้งไพบูลย์ หนึ่งในศิลปิน Performance Artist ที่ร่วมนำแสดงผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ เล่าว่า ต้องการให้คนทั่วไปเห็นพื้นที่ที่ยังสมบูรณ์ ยังคงความเป็นวิถีชีวิตดั่งเดิม ที่เลือกเมืองทวายมานำเสนอเพราะมันมีผลกับประเทศเราโดยตรง เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับทวายก็ส่งผลต่อประเทศไทยด้วย เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่จะส่งผลต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมจนกลายเป็นผลกระทบแบบลูกโซ่ ธรรมชาติที่สวยงามก็จะหายไป อีกอย่างหนึ่งความสัมพันธ์ของคนเมืองทวายและคนไทยมีมาช้านาน ทำให้กลุ่มศิลปินตระหนักรู้เพราะถึงที่สุดแล้วมันเป็นสิ่งที่ต้องรับรู้

“ผมจำได้ว่าตอนเด็กๆ เคยไปทวายและได้เห็นความงามของทะเล ความงามของป่าและทิวเขา ความเป็นคนสบายๆ เรียบง่าย เห็นความแบ่งปันที่ไม่หวังอะไรกลับมาในอนาคต มันเป็นภาพจำที่ผมไม่เคยลืมและเมื่อผมมีโอกาสได้กลับไปทวายอีกรอบเมื่อไม่นานนี้ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตยังคงสภาพเดิมไวไม่เปลี่ยนแปลง ทะเลสีคราม ฟ้าสดใส วิถีชีวิตยังดำเนินปกติเหมือนเดิม นี่แหละคือทวาย”

วิชชุกร เล่าต่อว่า การนำเสนอแง่มุมของเมืองทวายผ่านศิลปะ เพราะเกิดขึ้นด้วยปัจจัยที่หลากหลาย ศิลปะเป็นการแสดงออกที่นุ่มนวลแต่แฝงไปด้วยพลังที่จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบางอย่าง อีกนัยหนึ่งคือความเป็นมนุษย์ร่วมโลก ทำให้เกิดการแบ่งปันความรู้สึกซึ่งกันและกัน แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาด ภาพถ่าย ที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของความเป็นธรรมชาติ ในฐานะเพื่อน ในฐานะมนุษย์ที่ไม่หวังผลประโยชน์ทางเชิงโครงสร้างอื่นใด นอกเสียจากคงความเป็นธรรมชาติเช่นนี้ไว้ เพราะศิลปะเข้าถึงจิตใจของผู้คนได้ง่ายที่สุด

นอกจากภาพวาดและภาพถ่ายที่นำมาจัดแสดง ส่วนหนึ่งของงานยังมีการเสวนาในหัวข้อ “หลงรักทวาย-มนต์เสน่ห์หลากหลายมิติ” เพื่อให้ผู้ร่วมงานเข้าใจความเป็นทวายมากยิ่งขึ้น

เริ่มจาก อ.ซอ ทูระ จากสมาคมวิจัยทวาย บรรยายในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์โบราณคดีและอัตลักษณ์ของชาวทวาย” ว่า ทวาย ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศพม่า มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานกว่า 4,000 ปี โดย ทวาย ถือว่าเป็นเมืองท่าและเมืองค้าขายที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประชาการอาศัยอยู่ประมาณ 5 แสนราย สำหรับทวาย แบ่งประชากรออกได้เป็น ชาวทวาย มีอาศัยอยู่ในพื้นที่ 75% รองลงมาเป็นชาวกะเหรี่ยง และ ชาวมอญ ตามลำดับ ซึ่งชาวทวายส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ ส่วนชาวกะเหรี่ยงนั้น นับถือศาสนาคริสต์ แต่ถึงแม้จะต่างชาติพันธุ์ และต่างศาสนา แต่ทั้ง 3 ชาติพันธุ์ก็อาศัยอยู่ในทวายด้วยความสงบสุข ไม่เคยมีเรื่องกระทบกระทั่งจนสร้างความขัดแย้งในพื้นที่

อ.ซอ อธิบายต่อว่า ชาวทวาย ส่วนใหญ่ยึดอาชีพประมง เกษตรกรรม ทำสวน ทำนา ซึ่งอาชีพประมงของชาวทวายนั้น โดดเด่นในเรื่องการจับปลาทู ที่สามารถทำเงินจากการส่งออกได้ปีละหลายพันล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตามชาวทวายมีความกังวลเรื่องการพัฒนาในพื้นที่ว่าจะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อนาคตข้างหน้าของลูกหลานจะเป็นอย่างไร หากสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจเปลี่ยนไป การพัฒนาในอนาคตข้างหน้าจะคุ้มค่าหรือไม่

ความสัมพันธ์ของทวายกับไทย เรื่องนี้ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ จากมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ อธิบายว่า ไทยกับทวาย มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน และหากพูดเฉพาะต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีชุมชนทวายตั้งอยู่ด้านหลังเจดีย์ภูเขาทอง ชื่อว่า “ตรอกทวาย” แต่ตอนนี้ไม่เหลือคนเชื้อสายทวายอยู่แล้ว พื้นที่ที่สองอยู่ ณ บริเวณวัดมหรรณพาราม ที่ยังหลงเหลือชื่อคือ “ถนนตะนาว” และพื้นที่วัดดอนยานนาวาที่นำกลุ่มชาวทวายเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 1 หลายร้อยคน โดย มังจังจ่า ตั้งชุมชนทวายขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเมื่อก่อนมีชื่อว่า “อำเภอบ้านทวาย”

วลัยลักษณ์ กล่าวต่อว่า ในปี 2511 มีการเผาวัดของชาวทวาย นอกจากนั้นใกล้เคียงยังมีวัดปรก ซึ่งเดิมเป็นที่อยู่ของชาวพม่า แต่เมื่อพม่าหายไปชาวมอญสายหลวงพ่ออุตตมะจึงเข้ามาอยู่แทน . ปัจจุบันคนกรุงเทพฯ ที่มีเชื้อสายทวายได้ถูกกลืนหายไปเช่นเดียวกับชาติพันธุ์อื่นๆ แต่วัฒนธรรมที่ยังหลงเหลือคือวัฒนธรรมการกิน ได้แก่ ยำทวาย และแกงทวาย ที่เป็นของหายากจนกลายเป็นอาหารชาววังไปในปัจจุบัน

ในระยะหลังช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ชาวทวายในชุมชนเริ่มหายไป ยิ่งพอมีการตัดทางด่วนผ่านบริเวณดังกล่าว ยิ่งทำให้ชาวทวายอพยพออกไปเเทบไม่มีเหลือ โดนเจือจางด้วยวัฒนธรรมสยาม เปลี่ยนชื่อสกุลเป็นไทยหมด จนตามหายากเเล้วในสมัยนี้

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าชมได้ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร ภายในงานนอกจากภาพวาดและภาพถ่ายที่นำมาจัดแสดง ยังมีสินค้าพื้นเมือง อาทิ ผ้าทอ อาหารทะเลแห้ง มาจำหน่ายในราคาย่อมเยาว์ รวมไปถึงการแสดงดนตรี การแสดงศิลปะแสดงสด โดยกลุ่มศิลปินในโครงการศิลปะชุมชน อนึ่งนิทรรศการ “หลงรักทวาย” จะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 5 ก.พ.ที่จะถึงนี้

 

ข่าวสดเฉพาะกิจ รายงาน

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน