โรคถุงลมโป่งพอง ตรวจรักษาเร็วลดอาการได้

โรคถุงลมโป่งพอง – องค์การอนามัยโลกและองค์การโรคถุงลมโป่งพอง แห่งโลก (Global Initiative Obstructive Lung Disease: GOLD) ได้กำหนดให้วันพุธสัปดาห์ที่สามของเดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันโรคถุงลม โป่งพองโลก (World COPD Day) เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายของโรคถุงลมโป่งพองและสนับสนุนให้มี มาตรการการป้องกันและรักษาโรคถุงลมโป่งพองอย่างถูกต้องและเหมาะสมเพื่อให้ ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี

โรคถุงลมโป่งพอง

โดยปีนี้มุ่งเน้นธีม “Never too early, never too late” นั่นคือ ไม่มีคำว่าเร็วเกินไปสำหรับการมาตรวจวินิจฉัยโรค ยิ่งตรวจได้เร็วเท่าไรก็ลดอาการของโรคได้เร็วขึ้น แต่เมื่อเป็นโรคแล้วก็ไม่สายเกินไปที่จะดูแลรักษา

โรคถุงลมโป่งพอง

แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และโครงการอุ่นใจเมื่อใกล้แพทยสมาคมฯ นำโดยชมรมลมวิเศษได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้และให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง เนื่องในวันโรคถุงลมโป่งพองโลก

รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ กล่าวว่า โรคถุงลมโป่งพองนับเป็นปัญหาสาธารณสุขของประชากรโลก โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณปีละ 3 ล้านคนทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทยพบผู้ป่วยประมาณ 1.5 ล้านคน และมีการเสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 6,000 คนต่อปี หรือวันละ 16 คน

โรคถุงลมโป่งพอง

โรคถุงลมโป่งพองถือเป็นโรคร้ายแรงที่ ประเทศไทยควรมีมาตรการป้องกันและรักษา โดยเฉพาะเพื่อลดอุบัติการณ์เกิดโรค เนื่องจากโรคถุงลมโป่งพองส่งผลอย่างมากต่อสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษา การเสียโอกาสทางการทำงาน รวมไปถึงการมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงของผู้ป่วยและครอบครัวผู้ดูแล

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่ายแล้วถึงได้มาตรวจโรค ซึ่งเวลานั้นปอดถูกทำลายและเสื่อมสภาพไปแล้วและไม่สามารถฟื้นคืนสภาพเดิมได้ ดังนั้น ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่ ควรมาตรวจสมรรถภาพปอดแต่เนิ่นๆ หากมีการตรวจและรักษาโรคได้เร็ว ก็จะช่วยลดอาการของโรค

โรคถุงลมโป่งพอง

สำหรับโรคถุงลมปอดโป่งพองเกิดจากการสูด หายใจเอามลพิษในอากาศ ฝุ่นละออง หรือสารเคมีเป็นปริมาณมากและติดต่อกัน เช่น ควันบุหรี่ ควันพิษในอากาศ โดยสารพิษจากควันจะทำลายถุงลมและปอดให้เสื่อมสภาพ ผู้ป่วยจะมีอาการไอแบบมีเสมหะเป็นๆ หายๆ หอบเหนื่อยง่ายกว่าปกติและจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อาจหายใจมีเสียงหวีดในลำคอ และอาจรู้สึกเจ็บหน้าอกร่วมด้วย เมื่อมีอาการรุนแรงมากขึ้นจะเกิดภาวะความดันโลหิตสูงของหลอดเลือดที่ไหลเข้า สู่ปอด ซึ่งมีผลทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้

นายเมธี ไตรรัตน์ อายุ 79 ปี ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง เล่าว่า เป็นโรคถุงลมโป่งพองมาเป็นเวลา 12 ปี โดยเริ่มต้นมีอาการไอติดต่อกันเป็นเดือน เหนื่อยง่ายจนผิดสังเกต เมื่อมาตรวจที่โรงพยาบาล หมอให้เป่าทดสอบสมรรถภาพปอดจึงพบว่าเป็นโรคถุงลมโป่งพอง

สาเหตุหลักเป็นเพราะการสูบบุหรี่ตั้งแต่เด็ก พอรู้ว่าเป็นโรคก็เลิกบุหรี่ทันที ช่วงแรกมีอาการหงุดหงิดบ้างแต่ก็ผ่านมาได้ ตอนนี้ต้องพ่นยาต่อเนื่องเช้าเย็น รวมทั้งการบริหารร่างกายฟื้นฟูปอด ฝึกการหายใจ บริหารทรวงอก ตอนนี้เจอใครที่สูบบุหรี่ เราก็อยากจะแนะนำว่าให้เลิกสูบบุหรี่เถอะ

โรคถุงลมโป่งพอง

นางบุญเพ็ง ลาแก้ว อายุ 71 ปี ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง เล่าว่า ป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพองมา 10 ปีแล้ว แม้ไม่ได้เป็นคนสูบบุหรี่ แต่แถวบ้านมีฝุ่นและควันเยอะ มีการเผาทุกวัน ทำให้มีอาการไอ แน่นหน้าอก เมื่อพ่นยาก็หายไอ หมอแนะนำให้ใช้ยาตามเวลา ต้องอาบน้ำแต่หัวค่ำ ไม่ควรอาบกลางคืนเพราะทำให้ปอดชื้น พักผ่อนให้เยอะ มีออกกำลังกายบริหารการหายใจ หากแน่นหน้าอกก็จะมียาฉุกเฉิน และหลีกเลี่ยงที่มีควัน อย่างคนสูบบุหรี่ เพราะได้กลิ่นควันบุหรี่ก็จะไอทันที

หากสงสัยว่าเป็นโรคถุงลมโป่งพอง จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เพื่อความอุ่นใจของตนเองและครอบครัว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน