ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ทางราชสำนักและพระราชพิธี มาถ่ายทอดข้อมูลความรู้ให้กับแฟนๆ สโมสรศิลปวัฒนธรรม อีกครั้งในงานเสวนา “ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม” ที่ห้องโถงมติชนอคาเดมี เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2562 โดยมี ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ดำเนินการเสวนา

อาจารย์ธงทองกล่าวว่า หนังสือ “ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม” เป็นพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เขียนขึ้นในปีเดียวกับที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ประสูติในธรรมเนียมไทยภาคกลางอยุธยา มียศเจ้าที่เป็นสกุลยศ คือได้มาตั้งแต่เกิดนั้น มีอยู่ 3 ชั้น คือ เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า และหม่อมเจ้า

โดยหลักแล้ว ยศเจ้าจะแบ่งเป็น 2 ยศใหญ่ คือ 1.สกุลยศ คือยศที่สืบทอดมาตั้งแต่เกิด และ 2.อิสริยยศ คือ ยศที่ได้รับการสถาปนาเพิ่มพูนในภายหลัง โดยฐานะที่เปลี่ยนไปในราชการต่างๆ หรือความดีความชอบที่ปรากฏในแผ่นดิน

ราชตระกูล

ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์

บางอิสริยยศจะชื่อพ้องกันกับสกุลยศ เช่นตั้งหม่อมเจ้าเป็นพระองค์เจ้า ซึ่งถือว่าเป็นอิสริยยศเพราะไม่ได้มาจากการเกิด อย่างรัชกาลที่ 5 พระมารดาเป็นหม่อมเจ้า พ่อเป็นพระเจ้าแผ่นดิน รัชกาลที่ 5 จึงเป็นเจ้าฟ้า

นอกจากนี้เจ้าฟ้าที่เป็นลูกพระราชาแผ่นดินยังแบ่งออกเป็น เจ้าฟ้าชั้นโท ชั้นเอก เช่น รัชกาลที่ 9 ก็ถือว่าเป็นชั้นใหญ่ จึงเป็นเจ้าฟ้าชั้นเอกมาตั้งแต่ต้น ส่วนเจ้าฟ้าชั้นโท คือประสูติจากภรรยาอันเป็นเจ้าที่ไม่ใช่ ลูกพระเจ้าแผ่นดินแต่เป็นหลาน เช่นหลานรัชกาลที่ 3 คือ พระองค์เจ้าลดาวัลย์ เมื่อมาเป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 บุตรจึงมีฐานะเป็นเจ้าฟ้าชั้นโท เรียกว่าสมเด็จชาย สมเด็จหญิง

เจ้าฟ้าชายชั้นโทที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก คือ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร นอกจากนี้ยังมีเจ้าฟ้าด้วยประการอื่นๆ อีก เช่น เจ้าฟ้าที่ประสูติจากเจ้านายประเทศราชอื่นก็ควรเป็นเจ้าฟ้าด้วย

อีกประเภทหนึ่งคือมาโดยสกุลยศ คือลูกเจ้าฟ้าที่แม่เป็นเจ้า ลูกจะเป็นพระองค์เจ้าโดย สกุลยศ ส่วนลูกที่เกิดจากแม่ที่เป็นสามัญชน ลูกจะเป็นเพียงหม่อมเจ้า ในขณะเดียวกันถ้ามีพระโอรสหรือพระธิดา ที่ประสูติจากหม่อมที่เป็นสามัญชนโดยสกุลยศแล้ว ต้องเป็นหม่อมเจ้าแต่ในช่วงนั้นเจ้านายน้อยลง ในกรณีนี้ จึงให้เป็นหม่อมเจ้าด้วย เพียงแต่คำนำหน้าจะไม่เหมือนกัน

ศ.พิเศษ ธงทองกล่าวว่า “อิสริยยศ” เป็นการเพิ่มพูนจากภายหลังจากการพระราชทาน ซึ่งยศนั้นเป็นต้นทางตามสกุลยศ เพียงแต่นำมาใช้เป็นการเพิ่มพูนขึ้นจากกรณีที่พบบ่อยครั้งคือมีความดีความชอบ หรือเนื่องจากเจ้านายมีน้อยจึงตั้งเป็นหม่อมเจ้า เช่น หม่อมเจ้าพร้อมพงษ์ เลื่อนจากการทำราชการแผ่นดิน ที่กรมศิลปากร สุดท้ายยกขึ้นเป็นพระองค์เจ้า คือ พระองค์เจ้าธานี นิวัตรปกรณ์

ส่วนกรณีพระองค์เจ้าเลื่อนเป็นเจ้าฟ้า เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ซึ่งจะเห็นว่ามี แต่น้อยราย และเมื่อยกแล้วจะไม่มีพระนามเดิมตามท้าย

สำหรับคำว่า “กรมสมเด็จพระ” เกิดในสมัยก่อนรัชกาลที่ 5 เป็นคำที่มีฐานะสูงกว่ากรมพระ จึงกลายเป็นกรมสมเด็จพระ เช่น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส) ถ้าเทียบแล้วจะใกล้เคียงกับกรมพระยา ภายหลังยกเลิก บางพระองค์เปลี่ยนมาเป็นกรมพระยา บางพระองค์ทรงเดิมไว้

โดยหลักแล้วเจ้าฟ้าผู้หญิงทรงกรมไม่ใช่ของแปลก แต่พระองค์เจ้าผู้หญิงทรงกรมเป็นเรื่องแปลก ต้องมีเหตุพิเศษ เช่นว่ามีความรักมากเป็นพิเศษ เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา

ปิดท้ายที่เรื่องนามสกุล ตามธรรมเนียมแล้ว หม่อมเจ้าต้องมีนามสกุล แต่พระองค์เจ้าไม่ใช้นามสกุล ซึ่งมีกฎหมายกำกับไว้ด้วยว่า พระองค์เจ้าไม่ต้องใช้นามสกุล ถ้าจะใช้ก็ใช้ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะชื่อไม่ซ้ำใครอยู่แล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน